รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับเรื่อง ขอให้สั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 06 March 2024 21:38
- Hits: 6757
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับเรื่อง ขอให้สั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับเรื่อง ขอให้สั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ว่า เอกชนที่มีเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินได้เข้าปิดกั้นล้อมรั้วพื้นที่สาธารณะและก่อสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ท ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนชาวเลได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่แต่เดิมได้ ซึ่ง กสม. ได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วพบว่า แม้ว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันดำเนินการในรูปแบบคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยงเพื่อตรวจสอบที่ดินภายในเกาะหลีเป๊ะทั้งหมดแล้ว แต่การแก้ไขยังไม่แล้วเสร็จอย่างยั่งยืน ตลอดจนยังคงมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินในชุมชนทับซ้อนกับที่ดินของเอกชนและ/หรือที่ดินของรัฐในพื้นที่ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาสั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาข้อพิพาทการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ต่อคณะรัฐมนตรี
2. ที่ผ่านมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ว่า เมื่อได้รับข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว ให้รายงานรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิจารณาสั่งการให้มีหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของ กสม. ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้รายงานสรุปผลการพิจารณาในภาพรวมต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ ทส. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ ทส. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้ สลค. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า ได้รวบรวมผลการพิจารณาของ กษ. มท. ยธ. วธ. สปน. กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมที่ดิน จังหวัดสตูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อข้อเสนอแนะของ กสม. ดังกล่าวตามข้อ 2 แล้ว ซึ่งมีผลการพิจารณาสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
1. ตรวจสอบพื้นที่ลำรางสาธารณะซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่แล้ว ให้แล้วเสร็จเพื่อสามารถเปิดทางน้ำได้ |
● สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล) เป็นประธานกรรมการเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ให้ได้รับการแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ และได้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ● คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ ได้มีมติให้ตรวจสอบทางสาธารณะและลำรางสาธารณะ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ ปัญหาน้ำเสียเน่าขัง โดยอำเภอเมืองสตูลได้สำรวจพื้นที่ลำรางสาธารณประโยชน์แล้ว พบว่า มีลำรางที่น้ำไหลออกสู่ทะเลหลักๆ อยู่ 3 ลำราง คือ 1) ด้านหลังโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเอกชนจากการตรวจสอบไม่พบว่ามีเอกสารใดๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่ามีลำรางอยู่ และภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2522 ไม่ปรากฏภาพลำรางบนเอกสารสิทธิแปลงดังกล่าว 2) บริเวณชุมชนอุเส็น ปัจจุบันไม่มีสภาพของลำรางตั้งอยู่ 3) ด้านหาดบันดาหยา (หาดพัทยา) ด้านข้างอาคีรารีสอร์ท ลำรางด้านนี้ไม่ได้ถูกปิดกั้น น้ำสามารถไหลออกสู่ทะเลได้ตามปกติ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 424/2556 เพื่อทำการรังวัดพื้นที่สาธารณะให้ถูกต้องต่อไป |
|
2. ตรวจสอบพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ภายในชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ได้แก่ ทางสัญจรสาธารณะ สุสานบรรพบุรุษ และจุดจอดเรือหน้าหาดเพื่อการประมง |
● ปัญหาการปิดกั้นทางสาธารณะ เป็นกรณีข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ จำนวน 3 คณะ ดังนี้ 1. คณะอนุกรรมการตรวจสอบสิทธิในที่ดินกระบวนการครอบครองหรือออกเอกสารสิทธิในที่ดิน โดยมีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมปัญหาตรวจสอบสิทธิในที่ดิน กระบวนการครอบครองหรือออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ข้อมูล และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล 2. คณะอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายกรณีข้อพิพาทในที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดแผนการดำเนินการ อำนวยการ ตรวจสอบ สืบสวน จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้อพิพาทในที่ดินพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ 3. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยมีหน้าที่และอำนาจในการศึกษา รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ พิธีกรรมตามวิถีชีวิตได้โดยชอบและสอดคล้องกับสถานการณ์ ● จังหวัดสตูลรายงานว่า พื้นที่สัญจรสาธารณะเกิดข้อพิพาทระหว่างชาวเล เกาะหลีเป๊ะ และเจ้าของที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) และที่สาธารณะสุสานบรรพบุรุษ มีการทับซ้อนกับเอกสารสิทธิของเอกชน โดยทั้ง 2 กรณี กรมที่ดินได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวน สำหรับปัญหาจุดจอดเรือหน้าหาดเพื่อการประมงเห็นควรให้มีการตรวจสอบการถือครองและสิทธิการครอบครองในพื้นที่บริเวณดังกล่าว กำหนดเขตชายฝั่งและกำหนดพื้นที่ถอยร่น และดำเนินการจัดทำผังเมือง เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ทัพเรือภาคที่ 3 ได้มีการจัดระเบียบการจอดเรือหน้าหาดและวางทุ่นเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์ปะการัง โดยกำหนดอาณาเขตตามขนาดของพื้นที่ปะการังและคำนึงถึงความสะดวกของชาวประมง |
|
3. จัดให้มีผังเมืองเกาะหลีเป๊ะเพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นโดยสภาพหรือจากการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินหรือพื้นที่ทางจิตวิญญาณชาวเล |
● คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีการจัดการด้านผังเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการวางผังเมืองและกำหนดเขตวัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวเล แต่อย่างไรก็ตามต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ดินทำกิน และพื้นที่สาธารณประโยชน์ให้แล้วเสร็จก่อน ● จังหวัดสตูลได้มีการประกาศใช้ผังเมืองจังหวัดสตูลซึ่งครอบคลุมพื้นที่บนเกาะหลีเป๊ะ และอยู่ระหว่างการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนเกาะสาหร่าย - เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยอยู่ในขั้นตอนการประชุมเพื่อพิจารณาผังเมืองรวม |
|
4. พิจารณาขอบเขตพื้นที่ วิธีการและช่วงระยะเวลาในการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชาวเล เกาะหลีเป๊ะ โดยจัดทำข้อตกลงและกำหนดกติการ่วมกันในการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ยั่งยืน |
ได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาของชาวเล รวมไปถึงปัญหาการทำประมง เนื่องจากพื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งการใช้พื้นที่ตามวิถีชีวิตของชาวเลต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายประมงและกฎหมายอุทยานแห่งชาติ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายกรณีพิพาทในที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รับเรื่องร้องทุกข์จากชาวเลและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติตะรุเตาได้สำรวจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเภทและชนิดของทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ และลดการพึ่งพิงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สรุปว่า มีหมู่บ้านที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล จำนวน 22 หมู่บ้าน และในเบื้องต้นทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ มีจำนวน 8 ชนิด ได้แก่ ปลา หอย ปู กุ้ง กั้ง หมึก แมงดาทะเลและแมงกะพรุน ลักษณะการเก็บหาเป็นการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ประมง เช่น เบ็ดตกปลา อวนปลาทู อวนปลาทราย อวนกุ้ง ลอบปู โดยจะเก็บเกี่ยวตามช่วงฤดูกาลคือ ช่วงมรสุม (พฤษภาคม - ตุลาคม) และช่วงแล้ง (พฤศจิกายน - เมษายน) |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 3 มีนาคม 2567
3209