ร่างตราสารว่าด้วยการขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (Instrument of Extension of the Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: IOE of APG MOU)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 06 March 2024 21:28
- Hits: 7053
ร่างตราสารว่าด้วยการขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (Instrument of Extension of the Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: IOE of APG MOU)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างตราสารว่าด้วยการขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (Instrument of Extension of the Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: IOE of APG MOU) (ร่างตราสารฯ) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างตราสารฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้ พน. นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในตราสารฯ
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในตราสารฯ ข้างต้น
[ร่างตราสารฯ เป็นการขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน (Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: APG MOU) (บันทึกความเข้าใจ APG) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 มีนาคม 2567 โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมลงนามในร่างตราสารฯ ให้แล้วเสร็จครบทุกประเทศก่อนวันครบกำหนดดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมลงนามแล้วทั้งสิ้น 8 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (บรูไน) ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (ฟิลิปปินส์) สาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) โดยประเทศมาเลเซียได้ส่งมอบ Full Powers เรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการรอลงนาม]
สาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (7 สิงหาคม 2550) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ APG ระหว่าง พน. และ พน. ของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550 ณ สิงคโปร์ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2552 - 19 มีนาคม 2567 (15 ปี) โดยมีรายละเอียดของบันทึกความเข้าใจ APG ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
วัตถุประสงค์ |
เป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับกลุ่มประเทศสมาชิกในการประสานความร่วมมือเพื่อวางนโยบายร่วมกันในการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าและการซื้อขายไฟฟ้า และนำไปสูโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียนที่เป็นรูปธรรม เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป |
การดำเนินการทั่วไป |
- ร่วมมือกันทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีในการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าและการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน และทำให้โครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม - ผลักดันให้เกิดความร่วมมือและการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียนที่มีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ - ริเริ่มให้มีการศึกษาทบทวนกฎหมายและโครงสร้างของการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าและการซื้อ/ขายไฟฟ้าของประเทศสมาชิกเพื่อให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายของแต่ละประเทศ - จัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตามความเหมาะสม |
การดำเนินการ ระหว่างประเทศ |
- ประเทศสมาชิกจะทำการศึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ด้านเทคนิค การเงิน โครงสร้างภาษีและพิกัดอัตราศุลกากร โครงสร้างทางกฎหมายและระเบียบ การจัดการเพื่อให้บุคคลที่สาม1 สามารถใช้โครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าได้ |
การยุติข้อขัดแย้ง |
โดยการปรึกษาหารืออย่างฉันมิตรหรือหาแนวทางยุติปัญหากันเอง |
การแก้ไข |
ประเทศสมาชิกสามารถเสนอแก้ไขได้โดยจะมีผลเมื่อทุกประเทศเห็นชอบแล้ว |
การเก็บความลับของข้อมูล |
เอกสารและข้อมูลต่างๆ จะถือเป็นความลับในช่วงเวลาที่บันทึกความเข้าใจมีผลบังคับใช้ และช่วงที่สิ้นสุดระยะเวลาการใช้บังคับ ยกเว้นจะตกลงกันเป็นอย่างอื่น |
การบังคับใช้ |
- มีผลใช้บังคับเป็นเวลา 15 ปี หลังจากประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันรับรองทุกประเทศแล้ว (19 มีนาคม 2552 - 19 มีนาคม 2567) - สามารถแก้ไขขยายระยะเวลาการบังคับใช้ได้ โดยความเห็นชอบของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ |
2. พน. แจ้งว่า ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) ซึ่งเป็นความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจ APG จำนวนทั้งสิ้น 18 โครงการ2 โดยมีกำลังส่งไฟฟ้ารวมประมาณ 7,700 เมกะวัตต์ และยังมีการดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันซึ่งเป็นข้อตกลงเชิงธุรกิจระหว่างการไฟฟ้าของประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนภารกิจของ APG ด้านการพัฒนาการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียนโดยไม่ได้มีผลบังคับภายใต้บันทึกความเข้าใจ APG และประเทศสมาชิกสามารถพิจารณาการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมโครงการในระยะถัดไปได้ตามความเหมาะสม เช่น (1) โครงการบูรณาการสายส่งไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย และมาเลเซีย ซึ่งหยุดดำเนินการไปเมื่อเดือนธันวาคม 2564 (ดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผนแล้ว) (2) โครงการบูรณาการสายส่งไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ดำเนินการระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2565 - 22 มิถุนายน 2567
3. อย่างไรก็ดีโดยที่ร่างบันทึกความเข้าใจ APG จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 19 มีนาคม 2567 ประกอบกับที่ผ่านมาผู้นำอาเซียนได้เคยกล่าวถ้อยแถลงเรื่อง “อาเซียน เอ.ซี.ที: รับมือความท้าทายร่วมกัน” ซึ่งได้มีการรับรองเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา โดยได้ยืนยันคำมั่นและความพยายามของอาเซียนในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และส่งเสริมการบูรณาการระดับภูมิภาค ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียน จึงได้พิจารณาการขยายระยะเวลาของบันทึกความเข้าใจ APG ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดยจัดทำเป็นร่างตราสารฯ เพื่อขยายระยะเวลาดังกล่าว
4. ร่างตราสารฯ มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจ APG ฉบับเดิมออกไปเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อสนับสนุนความพยายามของหัวหน้าคณะผู้บริหารกิจการไฟฟ้าอาเซียนและคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียนในการพัฒนาระบบไฟฟ้าของภูมิภาค ให้สามารถยกระดับการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และการส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน โดยเปิดโอกาสให้มีการแบ่งปันทรัพยากรของภูมิภาคด้วยการส่งพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมลงนามในร่างตราสารฯ ให้เสร็จสิ้นครบทุกประเทศก่อนที่ผลบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจ APG จะสิ้นสุดลง
5. พน. แจ้งว่า การจัดทำร่างตราสารฯ จะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทน พน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมหารือเพื่อผลักดันข้อริเริ่มที่จะช่วยเสริมสร้างการเชื่อมโยงโครงข่ายและซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด อาทิ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ให้เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและการดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย รวมทั้งผลักดันข้อริเริ่มเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และการรวมแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทของไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ การร่วมลงนามในตราสารดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้การดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนเป็นไปด้วยความราบรื่น ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนวาระความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนอาเซียนทั้งในเชิงศักยภาพในการพัฒนาและเชิงภูมิรัฐศาสตร์
_________________________________
1บุคคลที่สาม หมายถึง ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการไฟฟ้ารายอื่นที่ประสงค์เป็นผู้ใช้บริการ หรือผู้เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อการใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าภายใต้ข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม
2ในส่วนของประเทศไทยมีการดำเนินโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน จำนวน 4 โครงการ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการระหว่าง (1) ไทย - มาเลเซีย (2) ไทย - ลาว (3) ไทย - เมียนมา (4) ไทย - กัมพูชา โดยประเทศไทยได้รับประโยชน์หลายประการ เช่น (1) ความมั่นคงทางพลังงาน ในการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้งานในพื้นที่ไฟฟ้าขาดแคลนแต่มีความต้องการในพื้นที่ค่อนข้างสูง (2) ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีการซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน (3) ส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการไช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 3 มีนาคม 2567
3205