ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 February 2024 23:38
- Hits: 7846
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว
2. รับทราบแผนในการจัดทำฎหมายลำดับรอง กรอบเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 เพื่อกำหนดหลักประกันในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแก่บุคคลที่ ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้สามารถนำทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานของตนเองและครอบครัว และกำหนดให้บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องอาจยื่นคำร้องต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและลดขั้นตอนการดำเนินการและภาระค่าใช้จ่ายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน ปปง. ในการรวบรวมหลักฐานและการดำเนินคดีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวม 2 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน พ.ศ. .... และกฎกระทรวงการยื่นคำร้องขอดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ พ.ศ. ....
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีหน้าที่ดำเนินการให้บุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (บุคคลที่ถูกกำหนด) หรือผู้เป็นเจ้าหนี้ในค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานของคู่สมรส บิดา มารดา และบุตรซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบุคคลที่ถูกกำหนดด้วย เพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
2. กำหนดห้ามบุคคลช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคลที่ถูกกำหนด โดยการจัดหา รวบรวม หรือดำเนินการทางการเงินหรือทรัพย์สิน หรือดำเนินการด้วยประการใดๆ แก่บุคคลที่ถูกกำหนด เพื่อตัดช่องทางการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนบุคคลที่ถูกกำหนดในการนำเงินหรือทรัพย์สินไปใช้ในการกระทำความผิด
3. กำหนดให้สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอ ได้รับยกเว้นไม่ต้องกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกัน มิให้มีการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เช่น มาตรการในการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (เนื่องจากร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดบทลงโทษกรณีที่มีการฝ่าฝืน ไม่กำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติฯ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการตีความ จึงระบุให้ชัดเจนในกรณีสำนักงานที่ดิน เนื่องจากไม่ใช่หน่วยงานที่มีความเสี่ยงโดยตรงในการติดต่อกับผู้ใช้บริการที่จะเข้าข่ายเป็นการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย)
4. กำหนดให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคคลที่ถูกกำหนดสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการมาชำระหนี้ให้แก่บุคคลที่ถูกกำหนดซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลที่ถูกกำหนด จะไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้
5. กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีอำนาจหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐาน เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดหรือเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด หรือการยึด อายัดหรือริบทรัพย์สิน รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่สอบถามหรือเรียกผู้มีหน้าที่รายงานซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพส่งเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารต่างๆ มาใช้ในการกำหนด และเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด โดยอาจร้องขอข้อมูลที่อยู่ในความครอบครอง หรือควบคุมดูแลของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐก็ได้
6. กำหนดเพิ่มเติมความผิดในฐานต่างๆ เช่น ฝ่าฝืนไม่กำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติ หรือมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อป้องกันการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ฝ่าฝืนให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนทางการเงินแก่บุคคลที่ถูกกำหนด ฝ่าฝืนไม่มาให้ถ้อยคำ ไม่ส่งคำชี้แจง หรือไม่ส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐาน และแก้ไขเพิ่มเติมความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้มีอัตราโทษที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดให้ความผิดบางประการที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 27 กุมภาพันธ์ 2567
2958