WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการ จัดการกากกัมมันต

Gov 36

ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการ จัดการกากกัมมันตรังสี พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้ 

          1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

          2. ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

          สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

          1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. ....

              1.1 กำหนดระดับของเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีมี 4 ระดับ ได้แก่ (1) เหตุฉุกเฉินสาธารณะ (2) เหตุฉุกเฉินในพื้นที่ตั้งสถานประกอบการ (3) เหตุฉุกเฉินในพื้นที่ปฏิบัติงานทางนิวเคลียร์และรังสี (4) เหตุแจ้งเตือน

              1.2 กำหนดให้การดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ แบ่งออกเป็น 4 จำพวก โดยใช้เกณฑ์ของการดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการตอบสนองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีเป็นเกณฑ์ในการจัดจำพวกดังกล่าว เช่น

                    จำพวกที่ 1 อาทิ การดำเนินการสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาดกำลังเกินกว่า 100 เมกะวัตต์ (ความร้อน) การดำเนินการสถานที่จัดเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่เพิ่งนำออกจาก แกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งมีค่ากัมมันตภาพจากซีเซียม 137 เกินกว่า 0.1 เอกซะเบ็กเคอเรล

                    จําพวกที่ 2 อาทิ การดำเนินการสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาดกำลังเกินกว่า 2 เมกะวัตต์ (ความร้อน) แต่ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ (ความร้อน) การดำเนินการ สถานที่จัดเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่เพิ่งนำออกจากแกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งจำเป็นต้องระบายความร้อนตลอดเวลา

                    จำพวกที่ 3 อาทิ การดำเนินการสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาดกำลัง ไม่เกิน 2 เมกะวัตต์ (ความร้อน) การดำเนินการสถานประกอบการที่อาจก่อให้เกิดอัตรา ปริมาณรังสีต่อร่างกายโดยตรงเกินกว่า 100 มิลลิเกรย์ต่อชั่วโมง ที่ระยะ 1 เมตร หากเสียวัสดุกำบังไป 

                    จำพวกที่ 4 อาทิ การดำเนินการการครอบครองหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสีที่ อาจก่อให้เกิดอัตราปริมาณรังสีต่อร่างกายโดยตรงเกินกว่า 1 มิลลิเกรย์ต่อชั่วโมง ที่ระยะ 1 เมตร หากเสียวัสดุ กำบังไป

              1.3 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแผนป้องกันและมีข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเพื่อการรักษาความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของผู้ปฏิบัติงาน เช่น การกำหนดขีดจำกัดปริมาณรังสีของผู้ปฏิบัติงาน การจัดให้มีบุคคลหรือหน่วยงานในการตอบสนอง การจัดให้มีการอบรมและติดประกาศถึงขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และ รังสี การจัดให้มีการฝึกซ้อมแผน เป็นต้น 

              1.4 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ดำเนินการจำพวกที่ 1 ถึงจำพวกที่ 4 มีหน้าที่ในการจัดทำและดำเนินการ

                    1.4.1 จำพวกที่ 1 มีหน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีทุกระดับ กำหนดเขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการรองรับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (เขตเตรียมการป้องกันล่วงหน้า เขตป้องกันเร่งด่วน เขตป้องกันระยะยาว และเขตป้องกันการบริโภคและโภคภัณฑ์)1 และกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพิ่มเติมในแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้แก่ มาตรการป้องกันล่วงหน้าและป้องกันเร่งด่วน

                    1.4.2 จำพวกที่ 2 มีหน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีทุกระดับ กำหนดเขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการรองรับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (เขตป้องกันเร่งด่วน เขตป้องกันระยะยาว และเขตป้องกันการบริโภคและโภคภัณฑ์) และกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพิ่มเติมในแผนป้องกันอันตรายจากรังสีกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

                    1.4.3 จำพวกที่ 3 มีหน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ให้ครอบคลุมระดับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ตามข้อ 1.1 (3) และ (4) และกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพิ่มเติมในแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในส่วนของมาตรการเร่งด่วน

                    1.4.4 จำพวกที่ 4 หน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ให้ครอบคลุมระดับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ตามข้อ 1.1 (4) 

          2. ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการ จัดการกากกัมมันตรังสี พ.ศ. .... 

              2.1 กำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในเรื่องดังนี้ เช่น (1) การรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคาร (2) แบบและวิธีการเกี่ยวกับการติดตั้งระบบประปา ก๊าซ ไฟฟ้า เครื่องกล ความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอย่างอื่น และการป้องกันอันตรายเมื่อมีเหตุชุลมุนวุ่นวาย (3) แบบและจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วม

              2.2 กำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยโรงงานสำหรับโรงงานจำพวกที่ 32 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในเรื่องดังนี้ (1) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะอาคารของโรงงานหรือลักษณะภายในของโรงงาน (2) กำหนดลักษณะ ประเภทหรือชนิดของเครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งที่ต้องนำมาใช้ในการประกอบกิจการโรงงาน (3) กำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติ กรรมวิธีการผลิตและการจัดให้มีอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใด เพื่อป้องกันหรือระงับหรือบรรเทาอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนที่อาจเกิดแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน

              2.3 กำหนดให้การออกแบบและการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ให้คำนึงถึงหลักการความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ซึ่งประกอบด้วยหลักการควบคุม อันตรกิริยานิวเคลียร์และรังสี การระบายความร้อนที่เกิดขึ้นจากอันตรกิริยานิวเคลียร์ และการกักเก็บวัสดุกัมมันตรังสีและการกำบังรังสี

              2.4 กำหนดให้อาคารและโครงสร้างนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ให้รวมถึงข้อกำหนดทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับฐานราก และโครงสร้างในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์

              2.5 กำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ดังนี้ (1) ระบบป้องกันเพลิงไหม้เป็นข้อกำหนดที่ใช้สำหรับอาคารที่ใช้จัดเก็บหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว (2) ระบบระบายอากาศ ระบบกรองอากาศ และระบบน้ำทิ้งเพื่อป้องกันมิให้รังสีออกสู่ภายนอกสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ทั้งทางการระบายอากาศและระบบน้ำทิ้งเกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการปล่อยทิ้งกากกัมมันตรังสี โดยกำหนดให้มีการควบคุมช่องทางเข้าออกของอากาศและการกรองวัสดุกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนในอากาศและการบำบัดน้ำทิ้งก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (3) คอนเทนเมนต์ (containment)3 และคอนไฟน์เมนต์ (confinement)4 เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบกักเก็บรังสี สำหรับสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ประเภทสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ทางนิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงาน โดยควบคุมการกักเก็บกัมมันตรังสีภายในขอบเขตแรงดันน้ำหล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และมีข้อกำหนดสำหรับถังหรือบ่อปฏิกรณ์ของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ประเภทที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการวิจัยด้วย

_____________________

1 (1) เขตเตรียมการป้องกันล่วงหน้า (precautionary action zone หรือ PAZ) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถบริหารจัดการเพื่อรองรับการป้องกันอันตรายจากผลกระทบทางรังสีนอกเหนือจากเขตป้องกันเร่งด่วน 

   (2) เขตป้องกันเร่งด่วน (urgent protective action planning zone หรือ UPZ) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถดำเนินการตามมาตรการป้องกันอันตรายทางรังสีได้ทันที

   (3) เขตป้องกันระยะยาว (extended planning distance หรือ EPD) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบทางรังสีนอกเหนือจากเขตเตรียมการป้องกันล่วงหน้าและเขตป้องกันเร่งด่วน

   (4) เขตป้องกันการบริโภคและโภคภัณฑ์ (ingestion and commodities planning distance หรือ ICPD) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีการเตรียมการตอบสนองเพื่อปกป้องห่วงโซ่อาหารน้ำดื่ม และเครื่องอุปโภคจากการปนเปื้อนด้วยวัสดุกัมมันตรังสีอย่างมีนัยสำคัญและเพื่อป้องกันประชาชนจากการบริโภคอาหารและน้ำดื่มและจากการใช้เครื่องอุปโภคที่อาจมีการปนเปื้อนด้วยวัสดุกัมมันตรังสี

2 โรงงานที่มีแรงม้าของเครื่องจักรมากกว่า 500 แรงม้า และ/หรือมีจำนวนมากกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ เป็นโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อน จึงจะตั้งโรงงานได้

3 containment หมายความว่า อาคารหรือสิ่งก่อสร้างกักอากาศ (air-tight) ล้อมรอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อกักเก็บวัสดุกัมมันตรังสีที่อาจออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยมากมักเป็นรูปโดมและทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก

4 confinement หมายความว่า อาคารหรือสิ่งก่อสร้างล้อมรอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อจำกัดวัสดุกัมมันตรังสีที่ออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยผ่านกระบวนการหรือช่องทางที่กำหนดไว้

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 27 กุมภาพันธ์ 2567

 

 

2957

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kbank 720x100 66

QIC 720x100

วิริยะ 720x100AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

iconmotor

gen 720x100

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!