WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 [เรื่อง สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)]

Gov 28

รายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 [เรื่อง สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)]

          คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการและความเห็นในภาพรวมของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เรื่อง สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

          เรื่องเดิม

          คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 พฤศจิกายน 2566) รับทราบรายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 [เรื่อง สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)] ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) เสนอ และให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของ ผผ. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วให้ สธ. สรุปผลการพิจารณา /ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

          สาระสำคัญ

          สธ. รายงานว่า ได้รวบรวมและสรุปผลการพิจารณาฯ ในภาพรวมแล้ว สรุปได้ ดังนี้

 

ข้อเสนอแนะของ ผผ. [ตามมติคณะรัฐมนตรี 

(28 พฤศจิกายน 2566)]

 

ผลการดำเนินการ/ความเห็นเพิ่มเติม

1. ให้รัฐบาลผลักดันเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ เพื่อผลักดันเชิงนโยบายให้หน่วยงานดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรต่อไป

 

ผลการดำเนินการ

สธ. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนานโยบายและแผนการดำเนินงานด้านการป้องกันความพิการแต่กำเนิดในระดับชาติ โดยมีการดำเนินการ ดังนี้

- จัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (.. 2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง คือ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและสร้างการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ซึ่งมีการดำเนินงานเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดผ่าน 2 โครงการสำคัญ คือ โครงการป้องกันภาวะโลหิตจางในหญิงวัยเจริญพันธุ์และลดความพิการแต่กำเนิด (โครงการสาวไทยแก้มแดง)1 และโครงการวิวาห์สร้างชาติ2 ซึ่งทั้ง 2 โครงการให้ความสำคัญกับการป้องกันและควบคุมภาวะโลหิตจางและป้องกันความพิการแต่กำเนิดของทารก โดยการส่งเสริมโภชนศึกษาและการเสริมวิตามินธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม และกรดโฟลิก 2.8 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ให้แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ตามชุดสิทธิประโยชน์

- ศูนย์ปฏิบัติการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดแห่งชาติได้มีการให้บริการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดครอบคลุมทั่วประเทศและรายงานผลการตรวจคัดกรองเพื่อให้ได้รับการรักษาทันเวลา

- พัฒนาเรื่องการดำเนินงานการจดทะเบียนพิการแต่กำเนิดระดับประเทศ

2. ให้รัฐบาลจัดให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน เพื่อดำเนินการตามระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดในระดับชาติและระดับจังหวัดอันจะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ผลการดำเนินการ

สธ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนงานระดับประเทศในการดูแลรักษาและป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิด โดยมีอธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน อนุกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีรองอธิบดีกรมอนามัยและรองอธิบดีกรมการแพทย์เป็นเลขานุการ ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันพิจารณาจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์และแผนงานระดับประเทศในการดูแลรักษาและป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิด นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างจัดทำคำสั่ง สธ. เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและ กรดโฟลิก เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก (MCH Board) 3 ต่อไป

3. ให้รัฐบาลผลักดันให้มีการจัดทำกฎหมายสิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร

 

ผลการดำเนินการ

- คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้พัฒนาคุณภาพบริการสาธารณสุขภายใต้รายการหรือกิจกรรมบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีรายการบริการเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและลดความพิการแต่กำเนิดภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น หญิงตั้งครรภ์ได้รับยาเสริมธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม กรดโฟลิก (วิตามิน B9) 0.4 มิลลิกรัม ไอโอดีน 150 ไมโครกรัมต่อวัน รับประทานทุกวันตลอดการตั้งครรภ์หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 25-45 ปี ได้รับธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัมและกรดโฟลิก (วิตามิน B9) 2.8 มิลลิกรัม ต่อสัปดาห์ สปสช. ได้ปรับการจ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการที่ให้บริการยาดังกล่าวเป็นการจ่ายตามรายการบริการ (Fee Schedule) กรณีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับบริการพื้นฐาน4 เช่น บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก 80 บาทต่อครั้ง (แบบเหมาจ่ายคนละ 1 ครั้งต่อปี) โดยประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข หน่วยบริการสาธารณสุข ทั้งในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยบริการร่วม เช่น ร้านขายยา คลินิกพยาบาล

4. ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้ สธ. ในด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระยะยาว รวมถึงการจัดทำนโยบายเร่งด่วนเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพประชากรสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไป

 

ผลการดำเนินการ 

- สธ. สนับสนุนการจัดสรรงบประมาณและหาแหล่งเงินทุนเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) สำหรับพัฒนานโยบายและแผนการดำเนินงานการป้องกันความพิการแต่กำเนิดในระดับประเทศ

- สสส. จัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ

5. ให้หน่วยงานของรัฐบูรณาการความร่วมมือในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้หญิงวัยเจริญพันธุ์และมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตรทราบถึงประโยชน์ของการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) โดยประชาสัมพันธ์สร้างความรอบรู้ผ่านช่องทางต่างๆ ที่หลากหลายและช่องทางอื่นตามบริบทของพื้นที่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

 

       (1) สธ. ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้และรณรงค์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์และการเข้าถึงโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ตลอดจนรับรู้สิทธิและประโยชน์ของตนเองเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

 

ผลการดำเนินการ

- สธ. ได้รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรอบรู้และความตระหนักแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์และมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตรผ่านช่องทาง ต่างๆ ในเรื่องของประโยชน์และการเข้าถึงชุดสิทธิประโยชน์ของตนเองที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของการได้รับบริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) 

- สธ. ขยายผลโครงการสาวไทยแก้มแดงในสถานประกอบการ โดยกรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสู่ระดับพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ได้เป็นจำนวนมากโดยในปีงบประมาณ .. 2566มีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ 115 แห่ง ครอบคลุมหญิงวัยเจริญพันธุ์ 35,973 คน

       (2) ศธ. ร่วมกับ สธ. จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้สุขศึกษารอบด้านในทุกระดับชั้นอย่างเหมาะสมกับอายุและมีความต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงประโยชน์ของโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมและมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ เช่น สภานักเรียน สภาเด็กและเยาวชน

 

ผลการดำเนินการ

ศธ. จัดทำกรอบหลักสูตรและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาการเรียนรู้ด้านสุขศึกษาแก่เยาวชนทุกระดับและเหมาะสมตามวัยโดยมุ่งเน้นให้เด็กเยาวชนหญิงมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)

       (3) กรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มท. ให้หน่วยงานในสังกัดหรือกำกับ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในชุมชนผ่านหอกระจายข่าวอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

 

ผลการดำเนินการ

มท. (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) กำกับ ดูแลการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ในการป้องกันความพิการแต่กำเนิดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

       (4) พม. ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ประโยชน์ของโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) รวมถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ให้กับประชาชน วัยรุ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัว และชุมชนได้รับทราบ

 

ผลการดำเนินการ

พม. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิแก่เด็กและเยาวชน จัดบริการสวัสดิการ และประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ในการป้องกันความพิการแต่กำเนิดภายใต้ภารกิจการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวคุ้มครองพิทักษ์สิทธิสตรี

       (5) รง. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับหญิงวัยเจริญพันธุ์ เกี่ยวกับประโยชน์ของโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) และอนามัยเจริญพันธุ์ การเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ผ่านช่องทางต่างๆ ในสถานประกอบการ

 

ความเห็นเพิ่มเติม

รง.พร้อมสนับสนุนการบูรณาการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวผ่านช่องทางต่างๆ ในสถานประกอบการ ทั้งนี้ รง. มีภารกิจในการกำกับ ดูแล และส่งเสริมให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาพการจ้างงาน สภาพการทำงาน สวัสดิการแรงงาน โดยได้ปรับปรุงชุดบริการสุขภาพในสถานประกอบการภายใต้สิทธิประกันสังคมให้มีรายการบริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์เช่นเดียวกับการบริหารงานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช.

       (6) สปสช. ชี้แจงทำความเข้าใจหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานแก่หน่วยงานด้านสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ให้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกัน

 

ผลการดำเนินการ

สปสช. ได้ดำเนินการจัดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข รายการบริการเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและลดความพิการแต่กำเนิด ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หน่วยบริการสาธารณสุข ทั้งในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยบริการร่วม เช่น ร้านขายยา คลินิกพยาบาล

       (7) สสส. บูรณาการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการผลิตสื่อและสื่อสารสู่ประชาชนในช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

 

ผลการดำเนินการ

สสส. ได้ผลักดัน สนับสนุน ขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพภายใต้แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว และแผนสนับสนุนการสร้างเสริมระบบบริการสุขภาพ

       (8) องค์การเภสัชกรรมควรผลิตโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ในราคาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

 

ผลการดำเนินการ

- องค์การเภสัชกรรมได้วิจัย พัฒนา และผลิตวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ในประเทศที่วางแผนจะมีบุตรและมารดาในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตร จำนวน 5 รายการ5

- สธ. สำรวจคุณภาพยาเม็ดโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาด 5 มิลลิกรัม โดยการตรวจวิเคราะห์ตามข้อกำหนดมาตรฐานของตำรับยาสากล เพื่อให้ได้ยาที่มีมาตรฐานสากลและมีความปลอดภัย

ความเห็นเพิ่มเติม

องค์การเภสัชกรรมเห็นว่า หากมีการผลักดันรายการยาดังกล่าวเข้าชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาในกลุ่มเป้าหมาย

6. ให้ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพเข้าสู่ระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (HDC)

 

ผลการดำเนินการ

สธ. พัฒนาระบบเฝ้าระวังความพิการแต่กำเนิดระดับประเทศจากแหล่งข้อมูลความพิการแต่กำเนิดที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ และพัฒนา Template ตัวชี้วัดเฝ้าระวังสถานการณ์ภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์หญิงวัยเจริญพันธุ์ เด็กปฐมวัย รวมถึงตัวชี้วัดติดตามการได้รับยาน้ำและยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กในเด็กวัยเรียน เพื่อใช้ในการกำกับติดตามสถานการณ์ในระบบคลังข้อมูลสุขภาพ

ความเห็นเพิ่มเติม

สธ. เห็นว่า

- การบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องสิทธิของมารดาในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ยังขาดการเชื่อมโยงบูรณาการระหว่างหน่วยงาน

- ควรเร่งรัดสื่อสารประชาสัมพันธ์แนวทางการปฏิบัติงานตามข้อเสนอของ ผผ. ทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตลอดจนภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งกำหนดกลไกเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาอุปสรรคและการกำกับ ติดตามประเมินผลที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

7. ให้มีการอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ อสม. เป็นผู้นำความรู้ในเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดแก่ประชาชนในชุมชน

 

ผลการดำเนินการ

สธ. ได้ผลิตสื่อสำหรับ อสม. เพื่อใช้ในการสื่อสารและติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมงานอนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งพัฒนาทักษะและให้คำปรึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์และความสำคัญของการได้รับวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) แก่ อสม.

8. ให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญในเรื่องของการป้องกันความพิการแต่กำเนิดโดยให้มีการเต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในระดับจังหวัด เพื่อสร้างกลไกการบริหารจัดการตามนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

 

ผลการดำเนินการ

สธ. อยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มท. เพื่อพิจารณาหารือในเรื่องดังกล่าว

ให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีจังหวัดนำร่องเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิด

 

ผลการดำเนินการ

สธ. อยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มท. เพื่อพิจารณาหารือในเรื่องดังกล่าว

___________

1 โครงการสาวไทยแก้มแดง เป็นโครงการรณรงค์เพื่อลดปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในหญิงวัยเจริญพันธุ์สู่การเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิด

2โครงการวิวาห์สร้างชาติ เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้คู่รักทุกคู่มีการเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและมีบุตร รวมถึงส่งเสริมให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ใช้ชีวิตคู่และวางแผนที่จะมีบุตรได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก สัปดาห์ละ 1 เม็ด ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิด

3คณะกรรมการพัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก มีหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์อนามัยแม่และเด็กและจัดทำแผนงาน โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาอนามัยแม่และเด็ก มีการกำหนดการประชุมคณะกรรมการฯ ทุก 3 เดือน

4เป็นการจ่ายชดเชยสำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ต้องการเร่งรัดการเข้าถึงบริการเฉพาะของประชาชนทุกสิทธิ

5วิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) จำนวน 5 รายการได้แก่ (1) Ferrofolic (Iron 60 mg/Folic acid 2.8 mg (2) Folic F GPO (Folic acid 0.4 mg) (3) Triferdine (lodine 0.15 mg Folic acid 0.4 mg/Iron 60.81 mg (4) lolic (Iodine 0.15 mg/Folic acid 0.4 mg และ (5) Folic acid tablet (Folic acid 5 mg)

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 27 กุมภาพันธ์ 2567

 

 

2955

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

CKPower 720x100

TOA 720x100

Banner GPF720x100 PX

EXIM One 720x90 C J

QIC 720x100

kbank 720x100 66

วิริยะ 720x100

MTL 720x100

AXA 720 x100

gen 720x100

hino2021

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!