รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 February 2024 23:04
- Hits: 7204
รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) เสนอดังนี้
1. รับทราบสรุปรายงานผลการดำเนินงานของ กปช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
2. มอบหมายหน่วยงานภาครัฐรับข้อเสนอของประชาชนไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. มอบหมายกระทรวงมหาดไทย (มท.) เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดให้ความสำคัญกับงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนในพื้นที่และสั่งการให้หน่วยงานในระดับจังหวัดสนับสนุนและประสานการดำเนินงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนางานประชาสัมพันธ์ในภาพรวมของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ
สาระสำคัญของเรื่อง
กปช. รายงานว่า ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ โดยใช้กลไกคณะอนุกรรมการภายใต้ กปช. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ ผลการดำเนินงานของ กปช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สรุปได้ ดังนี้
1. การสร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจเรื่องสื่อสารที่สำคัญของประเทศและเกิดพฤติกรรมที่เหมาะสม เสริมสร้างค่านิยมที่ดีในสังคม โดยคณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ กำกับ ติดตาม และประเมินผล
1.1 การประเมินผลการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนต่อเรื่องสื่อสารที่สำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 7 เรื่อง สรุปได้ ดังนี้
เรื่อง |
ผลการรับรู้/ข้อเสนอของประชาชน |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
||
(1) การพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green Economy: BCG Economy) |
ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 78.36 โดยให้ความสนใจแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งหน่วยงานภาครัฐควรสื่อสารโดยมุ่งเน้นให้เห็นถึงวิธีการที่เป็นรูปธรรม เช่น ลดการใช้ทรัพยากร ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ การใช้โซล่าเซลล์ผลิตพลังงานเพื่อใช้ในครัวเรือนคาร์บอนเครดิตและเศรษฐกิจหมุนเวียน และควรเน้นการสื่อสารแบบสองทางผ่านสื่อบุคคล เพื่อให้ความรู้และรายละเอียดและเมื่อประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น จึงสื่อสารทางเดียวด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย |
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
||
(2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 |
ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 86.93 โดยคาดหวังกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก เช่น โครงการกระตุ้นการใช้จ่ายและการได้รับสิทธิอย่างทั่วถึง มุ่งเน้นการสื่อสารฟื้นฟูตลาดแรงงานโดยเฉพาะเด็กจบใหม่ เพื่อพัฒนาความสามารถให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ |
- กระทรวงการคลัง - กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) - กระทรวงพาณิชย์ - กระทรวงแรงงาน (รง.) |
||
(3) การบริหารจัดการระบบสาธารณสุขและสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ |
ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 90.41 โดยควรเน้นย้ำให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบการสื่อสารที่น่าสนใจ เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้ในทุกช่วงวัย เช่น การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่เข้าใจง่าย และควรเน้นให้ความรู้เรื่องพืชสมุนไพรทางการแพทย์โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขาดความรู้ความเข้าใจและอาจนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ |
- กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) |
||
(4) สังคมสูงวัยกับวิถีชีวิตในอนาคต |
ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 92.50 โดยส่วนใหญ่ต้องการข้อมูลข่าวสารเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยในทุกมิติ เช่น การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ การให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพ และควรพัฒนาแอปพลิเคชันทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ข้อมูลและบริการครบทุกวงจร เช่น สุขภาพ การเงินและการออมสวัสดิการภาครัฐ ผลิตภัณฑ์และความบันเทิง |
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - มท. - กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) - สธ. |
||
(5) การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล |
ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 98.75 โดยเสนอว่าควรผลิตสื่อและนำเสนออย่างมีความรับผิดชอบเพื่อให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทัน เช่น สนับสนุนมาตรการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ จัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจต่อยอดจากเกมสู่สายอาชีพ (E-sports) ผลักดันกฎหมายกำกับดูแลไซเบอร์ช่องทางการร้องเรียนแนวทางการคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวจากฐานข้อมูลภาครัฐ |
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) - กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) - สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) [สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.)] |
||
(6) ส่งเสริมค่านิยมที่ดีของไทย |
ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 97.75 โดยเสนอว่าควรมุ่งเน้นการสื่อสารสร้างค่านิยมไทยร่วมสมัยให้ประชาชนตระหนักว่าการประพฤติตนตามคุณธรรมและค่านิยมพื้นฐานเป็นเรื่องที่ควรทำไม่ควรเป็นการบังคับ เช่น ความรับผิดชอบต่อสังคม การเคารพกฎหมาย การเคารพสิทธิของผู้อื่นและการยอมรับความแตกต่างตลอดจนธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ เช่น ละครเสริมสร้างคุณธรรม การใช้สื่อบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม |
- วธ. - ศธ. - นร. (สปน. และ กปส.) |
||
(7) ธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ |
ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 89.50 โดยเสนอว่าควรเพิ่มความถี่ในการสื่อสารช่องทางการร้องเรียนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐควรขี้แจงนโยบายและข้อเท็จจริงภายใต้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการปราบปรามการทุจริตที่ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการบริหารงานภาครัฐอย่างมีธรรมาภิบาล |
- มท. - กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) - นร. (สปน. และ กปส.) - สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ - สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ - สำนักงานตำรวจแห่งชาติ |
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายฯ ได้กำหนดเรื่องสื่อสารสำคัญที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ (1) การส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (2) การบริหารจัดการระบบสาธารณสุขเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย (3) การสร้างการรับรู้ความเข้าใจและปลูกฝังพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (4) การพัฒนาสังคมและส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยกับยุคปัจจุบัน (5) การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล และ (6) ธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐและจะได้ประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
1.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการสื่อสารแผนปฏิบัติการด้านการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) และจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการตามแนวทางการพัฒนาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้ชื่องาน “PR Plan for all สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ รวมพลังขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งประเทศ” เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 เพื่อสื่อสารให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และเข้าใจแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 311 คน
2. การสร้างการรับรู้ภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศไทยต่อประชาคมโลกโดยคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติด้านต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวม 23 หน่วยงาน ได้ผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องที่สำคัญด้านต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 4 เรื่อง สรุปได้ ดังนี้
เรื่อง |
ผลการดำเนินงาน |
|
(1) BCG Economy เศรษฐกิจยุคใหม่... เพื่ออนาคตไทย |
เน้นประชาสัมพันธ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy การเกษตรอัจฉริยะ ตลอดจนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ 5 อุตสาหกรรม S-curves หลัก1 และผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น สกู๊ปข่าว สปอตวิทยุ ข่าวแจก ดิจิทัลโพสต์ การจัดกิจกรรมต่างๆ |
|
(2) Tech and Innovation and Cooperation นวัตกรรมไทย ไฮ-เทคโนโลยีและความร่วมมือระหว่างประเทศ |
เน้นประชาสัมพันธ์ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ธุรกิจ Start-up เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) และได้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น สกู๊ปข่าวคลิปวิดีโอ ดิจิทัลโพสต์ รายการวิทยุ การสัมภาษณ์ |
|
(3) Health Care ความก้าวหน้าทางการแพทย์ระดับโลก |
เน้นประชาสัมพันธ์การจัดอันดับโลกด้านสาธารณสุข การให้บริการสาธารณสุขการแพทย์ทางไกล และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งการมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และได้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ข่าว อินโฟกราฟิก คลิปวิดีโอ รายการวิทยุ สปอตวิทยุ ป้ายแบนเนอร์ |
|
(4) Thai Soft Power ความเป็นไทยสู่สากล |
เน้นการประชาสัมพันธ์ความเป็นไทย เช่น อาหารไทย ศิลปะการแสดง งานฝีมือและหัตถกรรม ประเพณีเทศกาล มวยไทย วัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F (Food, Film, Fashion, Fighting, Festival) เทศกาลประเพณีไทย ตามนโยบายของรัฐบาล และได้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น สกู๊ปข่าว คลิปวิดีโอ แผ่นพับ รายการโทรทัศน์ |
นอกจากนี้ ได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ ประจำปี พ.ศ. 2567 ในหัวข้อ “สื่อสารประเด็นชัด มัดใจไทยและเทศ” เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 เพื่อกำหนดประเด็นเรื่องสื่อสารสำคัญด้านต่างประเทศ ดังนี้ (1) Economic Growth การเจริญเติบโต โอกาส และความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ (2) Health Care ความก้าวหน้าทางการแพทย์ระดับโลก (3) Environmental Management การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และ (4) Social Development and Cultural Promotion การส่งเสริมการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ ได้มีมติเห็นชอบประเด็นเรื่องสื่อสารดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566
3. การส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อและข่าวปลอม (Fake News) สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องผ่านช่องทางที่น่าเชื่อถือ มีผลการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
3.1 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชน ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิงรุกควบคู่กับการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร โดยจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานและผลตอบรับของประชาชนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ผลิตสื่อสร้างสรรค์ “รายการเปลี่ยนโฉมประเทศไทย” เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาประเทศนวัตกรรมที่สำคัญต่างๆ ออกอากาศทาง NBT 2 HD และเพจข่าวจริงประเทศไทย การจัดการข่าวปลอมหรือ (Fake News) ผ่านรูปแบบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พร้อมระบบชี้แจงประเด็นสำคัญที่ทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและนำไปขยายผลส่งต่อให้ประชาชนทราบผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและเพจข่าวจริงประเทศไทย ได้เผยแพร่การแก้ไขข่าวปลอมไปแล้วกว่า 5,000 เรื่อง
3.2 คณะอนุกรรมการพัฒนาคลังข้อมูลข่าวสารอัจฉริยะ ได้จัดทำ (ร่าง) โครงการพัฒนาคลังข้อมูลข่าวสารอัจฉริยะ2 เพื่อช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลข่าววิกฤตและภาวะปกติ แก้ไขปัญหาการเกิดข่าวปลอมได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการป้องกันและเตรียมรับมือกับปัญหาข่าวปลอมในอนาคตที่จะรุนแรงขึ้น โดยที่ประชาชนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนรายละเอียดของโครงการฯ เพื่อให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
4. การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัล โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยกำหนดหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะเดิม (Up-Skill) และเพิ่มทักษะใหม่ (Re-Skill) ด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารมวลชนของภาครัฐในยุคดิจิทัล ได้แก่ หลักสูตร “รู้เท่าทันสื่อ” และ “การสื่อสารในภาวะวิกฤต” เพื่ออบรมบุคลากรภาครัฐผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชน รวมถึงพัฒนาหลักสูตร “นักประชาสัมพันธ์และสื่อสารของภาครัฐ (PR Change Agent Project)” เพื่ออบรมบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศทั้ง 20 กระทรวง ให้มีทักษะและความรู้ในการปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมในปี 2566 โดยเน้นรายวิชาการสื่อสารในยุคดิจิทัลเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจนำกรอบหลักสูตร “การสื่อสารยุคดิจิทัล” ไปใช้ในการจัดฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 6,934 คน รวมถึงการกำหนดตำแหน่งและสร้างกรอบหลักสูตรเพื่อพัฒนา “ผู้บริหารจัดการข่าวสารของภาครัฐระดับสูง (Chief Information Management Officer: CIMO) ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของหน่วยงานโดยจะนำเสนอ กปช. พิจารณาต่อไป
5. ผลการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาภายใต้นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติในระดับจังหวัด โดยคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติระดับจังหวัด 76 จังหวัด เช่น ประชาสัมพันธ์มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล “ฟื้นฟูประเทศด้วยการท่องเที่ยว” กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจภาคบริการทั้งด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับประชาชนผ่านเรื่องสื่อสารที่สำคัญระดับประเทศตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ด้วยการเผยแพร่ผ่านสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ของหน่วยงานในพื้นที่ การประเมินความพึงพอใจงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐในพื้นที่
_________________________
1 ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (2) การแปรรูปอาหาร (3) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (4) การแพทย์ครบวงจร และ (5) การท่องเที่ยว
2 ระบบคลังข้อมูลข่าวสารอัจฉริยะมี 5 ส่วน ได้แก่ (1) ระบบฐานข้อมูลข่าวสารภาครัฐ (2) ระบบจัดเก็บและคัดกรองสื่อออนไลน์ (3) ระบบตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวสารภายในประเทศ (4) ระบบแสดงผลตรวจสอบข่าวสาร และ (5) ระบบแจ้งเตือนความน่าเชื่อถือของข่าวสารสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 27 กุมภาพันธ์ 2567
2951