เอกสารผลลัพธ์สำหรับการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 และร่างแถลงการณ์ระดับสูง (High-Level Statement)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 February 2024 22:41
- Hits: 6852
เอกสารผลลัพธ์สำหรับการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 และร่างแถลงการณ์ระดับสูง (High-Level Statement)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการต่อร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อม แห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 (ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ) และร่างแถลงการณ์ระดับสูง High-Level Statement on Plastic Pollution, including in the Marine Environment (ร่างแถลงการณ์ระดับสูงเกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติก โดยกลุ่มเอเชียแปซิฟิก สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ร่างแถลงการณ์ระดับสูงฯ)
2. อนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ และร่างแถลงการณ์ระดับสูงฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยขอให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณาโดยไม่ต้องนำกลับไปเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
(จะมีการรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ และร่างแถลงการณ์ระดับสูงฯ ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา)
สาระสำคัญ
การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ภายใต้หัวข้อหลัก “การดำเนินการพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และยั่งยืน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ” เพื่อเตรียมความพร้อม และระดมความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และผู้แทน ทส. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ซึ่งในการประชุมจะมีการรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ และร่างแถลงการณ์ระดับสูงฯ ดังนี้
1. ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ มีเป้าหมายเพื่อรับมือกับความท้าทายปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั่วโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษ และการตัดไม้ทำลายป่า อย่างมีประสิทธิผล ครอบคลุม และยั่งยืน ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1) ภัยคุกคาม สภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพและมลพิษ เช่น (1) รับทราบถึงภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม (2) ตระหนักว่าการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จำเป็นต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิทั่วโลกให้ได้ถึงร้อยละ 43 ภายในปี ค.ศ. 2030และลดลงร้อยละ 60 ภายในปี ค.ศ. 2035 และมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050* 2) การดำเนินการบนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน เช่น มุ่งมั่นที่จะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปกป้องชุมชนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ภัยแล้ง ฝนตกหนัก ไฟป่า และน้ำท่วม
2. ร่างแถลงการณ์ระดับสูงฯ ซึ่งเสนอโดยสาธารณรัฐสิงคโปร์มีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและการมีส่วนร่วมที่แข็งแกร่งของภูมิภาคในการสนับสนุนและส่งเสริมความพยายามระดับโลกในเรื่องมลพิษจากพลาสติก ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1) สนับสนุนแนวทางที่ครอบคลุมเพื่อจัดการกับมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล 2) ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงและการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของพลาสติก 3) พยายามเสริมภูมิปัญญาดั้งเดิม ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง และระบบภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแก้ปัญหาของมลภาวะจากพลาสติก 4) มุ่งมั่นที่จะดำเนินการ และระบุแนวทางแก้ไขเพื่อยุติมลพิษจากพลาสติกที่สอดคล้องกับสถานการณ์เฉพาะของประเทศนั้นๆ
______________________________
*ในส่วนของประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึงร้อยละ 30 - 40 ภายในปี พ.ศ. 2573
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 27 กุมภาพันธ์ 2567
2948