การเสนอร่างแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570 และร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 February 2024 22:36
- Hits: 6935
การเสนอร่างแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570 และร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอดังนี้
1. ร่างแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า1ของประเทศไทย (Decent Work Country Program: DWCP) (ร่างแผนงาน DWCP) วาระปี 2566-2570 และร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570 (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) โดยหากจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ขอให้ รง. ดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบในภายหลัง
2. ให้ปลัดกระทรวงแรงงานหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในฐานะรัฐบาลไทย ร่วมกับผู้แทนองค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)
(มีกำหนดจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ พร้อมทั้งเปิดตัวแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร)
สาระสำคัญของเรื่อง
รง. รายงานว่า
1. ร่างแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 เป็นแผนงาน DWCP ฉบับที่ 2 ของไทย (ฉบับแรก คือ วาระปี 2562-2564 และขยายระยะเวลาไปจนถึงปี 2565) โดยแผนงาน DWCP เป็นกรอบความร่วมมือที่ ILO จัดทำร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศสมาชิกผ่านการวางกลยุทธ์แนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจน สอดรับกับบริบทและวาระเร่งด่วนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับมิติและพันธสัญญาในการพัฒนาระดับชาติและระดับนานาชาติของไทย รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) และกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ทั้งนี้ การจัดทำและขับเคลื่อนแผนงาน DWCP จะต้องดำเนินการในลักษณะไตรภาคีผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคีขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย
2. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 คณะกรรมการไตรภาคีขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบโครงร่างแผนงาน DWCP เพื่อให้ ILO ขอรับความเห็นต่อร่างแผนงานฯ ฉบับสมบูรณ์จากกลไกรับรองคุณภาพของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ร่างแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 ได้ผ่านความเห็นชอบจากกลไกรับรองคุณภาพของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศฯ เรียบร้อยแล้ว โดยร่างแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 มีประเด็นความสำคัญ 3 ประการ2 ดังนี้
2.1 ความสำคัญที่ 1 อนาคต (Future) พัฒนาตลาดแรงงานไทยให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ พัฒนาทักษะและอาชีพสำหรับแรงงานในอนาคต โดยระบุทักษะที่จำเป็นในอนาคต เพิ่มการจับคู่ในตลาดแรงงาน และเพิ่มการลงทุนในทุนมนุษย์ ปรับปรุงการเข้าถึงดิจิทัลและทักษะดิจิทัลเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในเศรษฐกิจฐานศิจิทัลและตลาดแรงงาน ส่งเสริมงานสีเขียวเพื่องานที่มีคุณค่าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของไทยด้วยการให้สัตยาบันพิธีสารระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาหลัก ปรับปรุงกฎหมายแรงงานไทย และการเพิ่มการตระหนักรู้ สร้างงานที่มีคุณค่าที่ครอบคลุมทุกช่วงอายุ โดยยกระดับการแนะแนวอาชีพ บริการจัดหางานภาครัฐ สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาทักษะดิจิทัล สำหรับเยาวชน สตรี คนพิการและผู้สูงอายุ
2.2 ความสำคัญที่ 2 เข้าถึง (Reach) รับรองการคุ้มครองทางสังคม และงานที่มีคุณค่าที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการคุ้มครองทางสังคมเพื่อมอบสิทธิคุ้มครองที่ครอบคลุมและเพียงพอ โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบประกันสังคม สร้างความมั่นคงทางสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบและกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมให้องค์กรนายจ้างและลูกจ้างครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานและวิสาหกิจที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่ทั่วถึง โดยเพิ่มตัวแทนในกลุ่มต่างๆ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างศักยภาพ เพิ่มโอกาสในการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางและกลุ่มพิเศษ โดยสร้างโอกาสที่เท่าเทียม ขจัดรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับ และเพิ่มการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ
2.3. ความสำคัญที่ 3 เชื่อมต่อ (Connect) เสริมความแข็งแกร่งในการจัดการข้อมูล การสื่อสาร และศักยภาพของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมงานที่มีคุณค่า โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการกำหนดเป้าหมายและการจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาฐานข้อมูล Big data ระหว่างหน่วยงาน การจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และเผยแพร่เครื่องมือและความรู้ในวงกว้าง ส่งเสริมการเจรจาทางสังคมและการผลักดันนโยบาย โดยยกระดับการเจรจาทางสังคมระดับทวิภาคี การให้สัตยาบันอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง และการปรับปรุงพัฒนาการสื่อสารระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์กรคู่งานและสาธารณชน โดยเพิ่มความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับกระบวนการติดตามและประเมินผล เพิ่มการสื่อสารระหว่าง ILO และองค์กรคู่งาน รวมถึงเพิ่มการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชน
3. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาลไทย (รง.) องค์กรลูกจ้าง องค์กรนายจ้าง และ ILO เพื่อดำเนินการตามแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดแรงงานไทยให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมและเพียงพอสำหรับแรงงานทุกคน เสริมความเข้มแข็งในการจัดการข้อมูล สื่อสาร และศักยภาพของรัฐบาล ให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน รวมทั้งยึดถือประเด็นสำคัญ 3 ประการ (ตามข้อ 2) ทั้งนี้ ILO จะให้ความช่วยเหลือในการระดมทรัพยากรและให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในการดำเนินการตามแผนงาน DWCP โดยรัฐบาลจะอนุญาตให้ ILO บุคลากรของ ILO และบุคคลใดๆ ที่ได้รับมอบหมายจาก ILO ให้เข้าร่วมในกิจกรรมของ ILO เพื่อการดำเนินการตามแผนงาน DWCP และได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และการคุ้มกันของทบวงการชำนัญพิเศษ ค.ศ. 1947 รวมถึงให้การสนับสนุนงบประมาณที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานภายใต้ร่างแผนงานฯ และร่างบันทึกความเข้าใจฯ ข้างต้น โดยบันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้นับแต่การลงลายมือชื่อจากคู่ภาคี และในกรณีที่ข้อกำหนดที่อยู่ในแผนงาน DWCP ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ให้บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้และมีผลเหนือกว่าแผนงาน
__________________
1งานที่มีคุณค่า หมายถึง งานที่สามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับชีวิตการทำงานของคนได้ เช่น งานที่นำมาซึ่งโอกาสในการทำงานและรายได้ที่เป็นธรรม งานที่ทำให้รู้สึกมั่นคงและปลอดภัยเมื่ออยู่ที่ทำงาน งานที่สามารถสร้างความมั่นคง/ความคุ้มครองทางสังคมให้กับครอบครัว งานที่ช่วยให้ได้พัฒนาตนเอง
2 ร่างแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 มีสาระสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขยายผลจากความสำเร็จในอดีต และครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญและความท้าทายที่ถูกระบุผ่านกระบวนการการปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรคู่งานไตรภาคีซึ่งมีความแตกต่างจากแผนงาน DWCP วาระปี 2562-2564 (ฉบับแรก) ที่มีประเด็นสำคัญ 3 ประการในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย (1) ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของการจ้างงานที่ดีและมีประสิทธิผล (2) สร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่เปราะบาง และ (3) เสริมสร้างการกำกับดูแลตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 27 กุมภาพันธ์ 2567
2947