ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและเนื้อที่ที่ดิน ที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 February 2024 22:27
- Hits: 7327
ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและเนื้อที่ที่ดิน ที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและเนื้อที่ที่ดิน ที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ อว. เสนอว่า
1. กฎกระทรวงกำหนดลักษณะและเนื้อที่ที่ดิน ที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผลใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ได้กำหนดให้ที่ดินสำหรับจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องมีเนื้อที่ตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้ (1) วิทยาลัยหรือสถาบันต้องมีเนื้อที่ที่ดินไม่น้อยกว่า 10 ไร่ และ (2) มหาวิทยาลัยต้องมีเนื้อที่ที่ดินไม่น้อยกว่า 100 ไร่ และเนื้อที่ดังกล่าวจะต้องเป็นที่ดินที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ในกรณีที่ดินไม่ได้มีพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันจะต้องมีการเชื่อมโยงติดต่อกันในลักษณะที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษา และสามารถจัดกิจกรรมทางการศึกษาได้สะดวกโดยที่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเนื้อที่ที่ดินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในจำนวนดังกล่าว ประกอบกับปัจจุบันบริบทการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอนและการให้บริการทางศึกษา จึงทำให้การใช้ทรัพยากรในมิติเชิงพื้นที่ของสถาบันอุดมศึกษามีความจำเป็นลดลง และการกำหนดลักษณะและจำนวนเนื้อที่ที่ดินดังกล่าว ยังก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการบริหารจัดการและการพัฒนาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
2. ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป อว. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและเนื้อที่ที่ดิน ที่จะใช้เป็นที่จัดตั้ง สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงการกำหนดลักษณะและเนื้อที่ที่ดินที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จากการกำหนดเนื้อที่ที่ดินขั้นต่ำที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนในแต่ละประเภทพึงมี เป็นการกำหนด “พื้นที่ใช้สอย” ตามลักษณะการใช้ประโยชน์บนเนื้อที่ที่ดินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และในคราวประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ 12/2565 วันที่ 20 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
3. อว. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง ระหว่างวันที่ 3 – 31 มกราคม 2566 รวมทั้งได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทําร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 ด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและเนื้อที่ที่ดิน ที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2549
2. กำหนดบทนิยาม คำว่า “พื้นที่ใช้สอย” หมายความว่า พื้นที่ในอาณาบริเวณเนื้อที่ที่ดินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อันหมายรวมถึงพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจัดไว้ตามลักษณะการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์และพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน คำว่า “ผังแม่บทการใช้ประโยชน์พื้นที่ใช้สอย” หมายความว่า ผังบริเวณในการจัดพื้นที่ใช้สอย ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบทางกายภาพ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ใช้สอย ที่สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และ คำว่า “แผนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” หมายความว่า แผนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งหรือได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อันครอบคลุมแผนการดำเนินงานด้านกายภาพ ด้านวิชาการ ด้านการเงิน และด้านการบริหารจัดการ แล้วแต่กรณี
3. กำหนดให้ที่ดินที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องมีเนื้อที่ที่เหมาะสมเพียงพอต่อการจัดพื้นที่ใช้สอยเพื่อรองรับการดำเนินงานตามพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอย่างครบถ้วน โดยต้องเป็นไปตามมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ อว. กำหนด และต้องเป็นที่ดินที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันในกรณีที่ที่ดินมิได้มีพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ต้องมีการเชื่อมโยงติดต่อถึงกันในลักษณะที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษา และสามารถจัดกิจกรรมทางการศึกษาได้โดยสะดวก
4. กำหนดหลักการการจัดพื้นที่ใช้สอยบนที่ดินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ดังนี้
4.1 สามารถสื่อสารคุณค่าสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถในการดำเนินงานครอบคลุมพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอย่างครบถ้วนและมีคุณภาพ
4.2 สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
4.3 สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนและสังคม
4.4 สามารถรองรับต่อพัฒนาการการจัดการศึกษาและการดำเนินงานตามพันธกิจที่สอดรับกับแนวทางการใช้ชีวิตวิถีใหม่
5. ในการจัดพื้นที่ใช้สอยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะต้องกำหนดผังแม่บทการใช้ประโยชน์พื้นที่ใช้สอยตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ซึ่งจำแนกพื้นที่ใช้สอยตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ดังนี้
5.1 พื้นที่ใช้สอยสำหรับการจัดการศึกษา
5.2 พื้นที่ใช้สอยสำหรับการวิจัยและสร้างนวัตกรรม
5.3 พื้นที่ใช้สอยสำหรับการบริการวิชาการแก่สังคมและการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
5.4 พื้นที่ใช้สอยสำหรับเป็นที่ตั้งของส่วนงานภายใน
5.5 พื้นที่ใช้สอยสำหรับการสร้างสังคมและการใช้ชีวิตภายในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
5.6 พื้นที่สีเขียวตามแนวทางการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
5.7 พื้นที่ใช้สอยอื่นเพื่อดำเนินพันธกิจตามจุดเน้น ความเชี่ยวชาญ และการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา
6. กำหนดให้การขอรับใบอนุญาตจัดตั้งหรือการขออนุญาตเปลี่ยนประเภท สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้พิจารณาดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและเนื้อที่ที่ดิน ที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2549 จนกว่าจะแล้วเสร็จ
_____________________
*พ.ร.บ. สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ 2546 ได้กำหนดนิยามของคำว่า “สถาบันอุดมศึกษาเอกชน” ให้หมายความว่า สถานศึกษาของเอกชนที่ให้การศึกษาระดับปริญญาแก่บุคคลตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป และ ม. 9 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีตามประเภท คือ (1) มหาวิทยาลัย (2) สถาบัน และ (3) วิทยาลัย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 20 กุมภาพันธ์ 2567
2696