แนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 February 2024 21:58
- Hits: 7042
แนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน
คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน ตามมติคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
สาระสำคัญ
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 76 วรรคสอง บัญญัติให้รัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม โดยกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
2. สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า
2.1 ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 มีมติเห็นชอบแนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน และให้รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบว่าได้มีการดำเนินการตามมาตรา 76 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว โดยมีความเห็นและข้อสังเกตด้วยว่า ปัจจุบันมีมาตรการในการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามนัยมาตรา 76 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอยู่แล้วเพียงแต่ถูกกำหนดไว้ในบทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับ ดังนั้น ในชั้นนี้จึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำเป็นกฎหมายฉบับใหม่เพิ่มเติม ทั้งนี้ เมื่อสำนักงาน ก.พ. ได้รวบรวมมาตรการหรือแนวทางในเรื่องดังกล่าวให้เป็นเอกภาพและจัดทำเป็นหนังสือเพื่อแจ้งเวียนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ให้รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
2.2 สำนักงาน ก.พ. ได้ดำเนินการตามมติ ก.พ. โดยจัดทำแนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน และแจ้งเวียนส่วนราชการทราบและถือปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/ว 14 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2566 พร้อมทั้งได้แจ้งแนวทางดังกล่าวให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วยแล้ว
2.3 แนวทางการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือนมีรายละเอียด ดังนี้
2.3.1 คำจำกัดความ
ในแนวทางนี้
การก้าวก่ายแทรกแซง หมายความว่า การที่บุคคลผู้ใดซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนได้ใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้นั้นหรือผู้อื่นไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมและไม่ว่าการกระทำหรือพฤติกรรมนั้นจะประสบผลสำเร็จตามความประสงค์ของผู้นั้นหรือไม่
ทั้งนี้ การให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ หรือการแสดงความคิดเห็นจากผู้ที่ไม่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวที่ได้กระทำไปโดยสุจริตเปิดเผย และสามารถระบุหรืออ้างอิงตัวบุคคลผู้นั้นได้ ไม่ถือเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงตามแนวทางนี้
การปฏิบัติหน้าที่ หมายความว่า การปฏิบัติราชการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
การบริหารงานบุคคล หมายความว่า การดำเนินการใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่การสรรหา การบรรจุ การแต่งตั้ง (การย้าย การโอน การเลื่อน) การประเมินผลการปฏิบัติราชการการเลื่อนเงินเดือน การพิจารณาความดีความชอบ การพัฒนาข้าราชการ การปกครองบังคับบัญชา การดำเนินการทางวินัย การให้ออกจากราชการ ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินด้วย
2.3.2 แนวทางในการดำเนินการ
เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีบุคคลผู้ใดได้กระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือนให้ผู้ที่ได้รับรู้รับทราบถึงการกระทำนั้น หรือผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข หรือขั้นตอนที่กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการนั้นกำหนดไว้ในแต่ละกรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณีสงสัยว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี กระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 186 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้นั้นสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 (5) ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อผู้มีหน้าที่* เพื่อดำเนินการให้มีการวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ตามนัยมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
(2) กรณีสงสัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ผู้ใดใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 185 (1) และ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และอาจเป็นเหตุใหัสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (7) หรือมาตรา 111 (7) แล้วแต่กรณี ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อผู้มีหน้าที่* เพื่อดำเนินการให้มีการวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามนัยมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
(3) กรณีสงสัยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ผู้ใดกระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 และอาจเป็นเหตุให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อพิจารณาดำเนินการตามนัยมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต่อไป
(4) กรณีสงสัยว่ากรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมผู้ใดกระทำการอันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อ 11 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และอาจเป็นเหตุให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตามข้อ 8 (4) ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้นายกรัฐมนตรีวินิจฉัยหรือสั่งการตามข้อ 11 วรรคสาม ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
(5) กรณีสงสัยว่าข้าราชการพลเรือนสามัญตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ผู้ใดกระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดวินัยตามหมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้นั้นเพื่อดำเนินการตามมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ต่อไป
ทั้งนี้ กรณีสงสัยว่าบุคคลอื่นที่ไม่ได้มีการระบุไว้ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น เช่น ข้าราชการการเมืองอื่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง [นอกเหนือจากตำแหน่งตามข้อ (1)] บุคคลหรือผู้ปฏิบัติงานให้แก่ข้าราชการการเมืองในตำแหน่งที่ปรึกษาหรือตำแหน่งอื่นๆ ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา ผู้ใดใช้สถานะหรือตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งกระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารบุคคลของข้าราชการพลเรือน ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อผู้มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการเพื่อให้มีการพิจารณาวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่หรือตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการนั้นต่อไป
3. สำนักงาน ก.พ แจ้งว่าสำนักงาน ก.พ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานในหน้าที่ของ ก.พ. และดำเนินการตามที่ ก.พ. มอบหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้ขอให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ตามที่ ก.พ. ได้มีมติมอบหมายในคราวประชุมครั้งที่ 4/2566
________________________
* ผู้มีหน้าที่ หมายถึง ผู้มีหน้าที่ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามแต่กรณี เช่น กรณีสงสัยนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี และกรณีสงสัยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้มีหน้าที่ ตามมาตรา 82 และมาตรา 170 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 20 กุมภาพันธ์ 2567
2691