ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการ Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 February 2024 21:50
- Hits: 7478
ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการ Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 104,872,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินโครงการ Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมรายละเอียดประกอบ เพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณากำหนดกลไกในการขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความโปร่งใส ความประหยัด ความคุ้มค่า ผมสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ตลอดจนสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญ
กก. โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กำหนดจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ขึ้นในเดือนเมษายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร และพื้นที่อัตลักษณ์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย1 เพื่อร่วมอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีอันงดงามของไทยและเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา โดยมีรายละเอียดการจัดงานสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ การจัดงาน |
- เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว - เพื่อผลักดันให้ประเทศไทย ติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลของโลก |
กลุ่มเป้าหมาย |
- นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลก - สื่อมวลชน Online / Offline ทั้งในประเทศและต่างประเทศ |
พื้นที่ดำเนินการ |
- กรุงเทพมหานคร (บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง) - พื้นที่อัตลักษณ์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ |
ระยะเวลาดำเนินงาน |
11 - 15 เมษายน 2567 |
ตัวอย่างกิจกรรม ภายในงาน |
- ขบวนรถพาเหรดสงกรานต์จากกลุ่มจังหวัดเป้าหมาย 16 จังหวัด* 11 อุตสาหกรรม Soft Power2 และหน่วยงานภาคเอกชน - การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เช่น โขน รำมโนราห์ การแสดงร่วมสมัยผสมผสานความเป็นไทย 5 ภาค และการแสดงวงออร์เคสตรา - การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ - ลานสงกรานต์ 5 ภาค นำเสนอประเพณีสงกรานต์ในแต่ละภูมิภาค - การแสดงน้ำพุประกอบดนตรี อุโมงค์น้ำ ถังน้ำล้นยักษ์ - การทำบุญตักบาตร รดน้ำผู้สูงอายุ และสรงน้ำพระ เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย |
ผลที่คาดว่าจะได้รับ |
- สร้างสิทธิบัตร Intellectual Property Festival (IP Festival)3 เพื่อเชิดชูงานที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย - จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานมากกว่า 200,000 คน - สร้างรายได้และเงินหมุนเวียนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 3,125 ล้านบาท |
____________________________
1 พื้นที่อัตลักษณ์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้) เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดสุโขทัย จังหวัดราชบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสงขลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดปัตตานี จังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครพนม
2 11 อุตสาหกรรม Soft Power ได้แก่ (1) อาหาร (2) กีฬา (3) เฟสติวัล (4) ท่องเที่ยว (5) ดนตรี (6) หนังสือ (7) ภาพยนตร์ (8) เกม (9) ศิลปะ (10) การออกแบบ และ (11) แฟชั่น
3 Festival Economy หรือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล โดยเน้นการใช้อัตลักษณ์ของเมือง (City DNA) มาผสานเข้ากับการออกแบบกิจกรรม (Experience Design) ก่อให้เกิดระบบนิเวศใหม่ (New Ecosystem) ในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองผ่านการจัดงานเทศกาล ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และพันธมิตรเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและจัดงานอีเวนต์สุดสร้างสรรค์ได้ร่วมกันออกแบบและสร้างสรรค์งานเทศกาลที่เหมาะสมให้แต่ละเมืองเพื่อพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็น “หนึ่งเมือง หนึ่งสิทธิบัตรงานเทศกาลนานาชาติ หรือ 1 City 1 IP (Intellectual Property)” ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่า ยกระดับ และส่งออกงานเทศกาลที่เกิดจากอัตลักษณ์ของเมืองให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
* พื้นที่ดำเนินการ 16 จังหวัด แบ่งเป็น (1) จังหวัดหลัก 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนครศรีธรรมราช (2) จังหวัดนำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดหนองคาย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสงขลา และจังหวัดบุรีรัมย์ และ (3) จังหวัดอื่นๆ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครพนม จังหวัดลำปาง จังหวัดเลย จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดภูเก็ต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 20 กุมภาพันธ์ 2567
2688