การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 February 2024 21:42
- Hits: 7523
การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย (ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ) ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็นรายเขต 9 เขต โดยมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้
1. ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตรา 1,197.53 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.1
2. อัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 71.85 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
3. ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เท่ากับ 513.23 บาทต่อตันอ้อย
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. รายงานว่า
1. พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 55 และมาตรา 56 บัญญัติให้ภายในเดือนตุลาคมของทุกปี ให้คณะกรรมการบริหารกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) แล้วให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะออกประกาศและนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. คณะกรรมการบริหารในคราวประชุมครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ได้พิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูการผลิตปี 2565/2566 แล้วเสนอ กอน. ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 โดย กอน. มีมติรับรองและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหารเสนอ ดังนี้
2.1 ข้อมูลองค์ประกอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูการผลิตปี 2565/2566
2.2 การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็นรายเขต 9 เขตคำนวณราคาอ้อย โดยราคาเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตรา 1,209.11 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 72.55 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย 518.19 บาทต่อตันอ้อย
2.3 กำหนดให้มีการจัดเก็บเงินตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ให้แก่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บเงินตามมาตรา 57 ของฤดูการผลิตปี 2564/2565 ตามมติ กอน. ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 และครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 โดยเรียกเก็บในฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตราตัวเลขภาพรวมทั้งระบบโดยจัดเก็บเงินในอัตรา ดังนี้
(1) เขตคำนวณราคาอ้อย 1 3 5 6 7 และ 9 จัดเก็บเงินตามมาตรา 57 สำหรับฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตรา 9.81 บาทต่อตันอ้อย และฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตรา 10 บาทต่อตันอ้อย รวมเป็น 19.81 บาทต่อตันอ้อยโดยให้นำมาเรียกเก็บรวมกันทั้งหมดในฤดูการผลิตปี 2565/2566
(2) เขตคำนวณราคาอ้อย 2 และ 4 ยกเลิกการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมเพื่อการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและเพื่อการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และให้จัดเก็บเงินตามมาตรา 57 สำหรับฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตรา 19.81 บาทต่อตันอ้อย2
2.4 จากการจัดเก็บเงินตามมาตรา 57 ส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็นรายเขต 9 เขต คำนวณราคาอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ดังนี้
เขตคำนวณราคา |
ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย |
ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ที่ 10 ซี.ซี.เอส. (บาทต่อตันอ้อย) |
|
ที่ 10 ซี.ซี.เอส. (บาทต่อตันอ้อย) |
อัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย (บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.) |
||
เขต 1 |
1,228.08 |
73.68 |
526.32 |
เขต 2 |
1,148.69 |
68.92 |
492.30 |
เขต 3 |
1,193.45 |
71.61 |
511.48 |
เขต 4 |
1,218.27 |
73.10 |
522.11 |
เขต 5 |
1,226.06 |
73.56 |
525.46 |
เขต 6 |
1,239.41 |
74.36 |
531.18 |
เขต 7 |
1,207.10 |
72.43 |
517.33 |
เขต 9 |
1,199.19 |
71.95 |
513.94 |
เฉลี่ยทั่วประเทศ |
1,197.53 |
71.85 |
513.23 |
หมายเหตุ : เขต 8 จำนวน 1 โรงงาน ประกอบด้วย โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี ไม่เปิดหีบอ้อย
3. ประเด็นข้อพิพาท เรื่อง น้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างประเทศไทยกับบราซิล มิได้มีประเด็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณราคาอ้อยทั้งขั้นต้นและขั้นสุดท้าย ดังนั้น การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูการผลิตปี 2565/2566 จึงไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นการรักษาประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมทั้งเป็นการสร้างหลักประกันอย่างพอเพียงและเหมาะสมให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย
4. หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ตามที่ อก. เสนอแล้ว จะต้องดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งในกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นฯ ชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อยเพิ่มสำหรับนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกการบำรุงรักษาอ้อยและการดำรงชีพ อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมต่อไป
___________________
1 ซี.ซี.เอส. [Commercial Cane Sugar (CCS)] เป็นระบบการคิดคุณภาพของอ้อย ซึ่งได้นำแบบอย่างมาจากระบบการซื้อขายอ้อยของประเทศออสเตรเลีย และได้เริ่มใช้ในประเทศตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2536/2537 เป็นต้นมา โดยคำว่า ซี.ซี.เอส. หมายถึง ปริมาณของน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อยซึ่งสามารถหีบสกัดออกมาได้เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ส่วนอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หมายถึง เมื่อนำอ้อยมาผ่านระบบการผลิต จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ร้อยละ 10 กล่าวคือ อ้อย 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 100 กิโลกรัม
2 เนื่องจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนี้จำนวนมาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยในปีงบประมาณ 2566 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีเงินภาระผูกพันที่ต้องจ่ายรวมโครงการต่างๆ เป็นเงินจำนวน 764.24 ล้านบาท รวมทั้งต้องมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการบริหารงานจำนวน 2 ฤดูการผลิต คือฤดูการผลิตปี 2566/2567 และ 2567/2568 ฤดูการผลิตละ 650 ล้านบาท รวมเป็น 1,300 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตปี 2565/2566 ดีขึ้น คณะกรรมการบริหารฯ จึงเห็นควรให้จัดเก็บเงินตามาตรา 57 เข้าสู่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในอัตรา 19.81 บาทต่อตันอ้อย (คิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 1,859.76 ล้านบาท) ซึ่งเป็นอัตราที่เพียงพอที่จะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเกิดสภาพคล่องสำหรับการเบิกจ่ายเพื่อดำเนินงาน อีกทั้งเพื่อเป็นเงินออมให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานไว้ใช้ยามจำเป็น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 20 กุมภาพันธ์ 2567
2685