การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดู การผลิตปี 2566/2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 February 2024 21:37
- Hits: 7647
การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดู การผลิตปี 2566/2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น (ราคาอ้อยขั้นต้นฯ) ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ทั้ง 9 เขตคำนวณราคาอ้อย1 เป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ดังนี้
1. ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในอัตรา 1,420 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.2 หรือเท่ากับร้อยละ 91.43 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ (1,674.64 บาทต่อตันอ้อย) และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 85.20 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
2. ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 เท่ากับ 608.57 บาทต่อตันอ้อย
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. รายงานว่า
1. พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 49 - 53 บัญญัติให้ก่อนเริ่มฤดูการผลิตน้ำตาลทราย3 ให้คณะกรรมการบริหารจัดทำประมาณการรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายที่จะผลิตในฤดูนั้น เพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ และเมื่อคณะกรรมการบริหารได้จัดทำประมาณการรายได้และกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ แล้วให้แจ้งให้สถาบันชาวไร่อ้อยและสมาคมโรงงานทราบ และจัดให้มีการประชุมผู้แทนสถาบันชาวไร่อ้อยและผู้แทนสมาคมโรงงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อคัดค้าน (ถ้ามี) โดยทำเป็นหนังสือแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนวันประชุม และให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เสนอราคาอ้อยขั้นต้นฯ และผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นข้างต้นต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อพิจารณา เมื่อ กอน. ได้พิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นฯ แล้ว ให้เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและหากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ แล้ว จะต้องดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
2. คณะกรรมการบริหารในคราวประชุมครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ได้พิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 และได้มีมติรับรองและเห็นชอบ ดังนี้
2.1 องค์ประกอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567
2.2 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ทั้ง 9 เขตคำนวณราคาอ้อย เป็นราคาเดียวทั่งประเทศ ดังนี้
(1) ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในอัตรา 1,370 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 90.94 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 82.20 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
(2) ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/2567 เท่ากับ 587.14 บาทต่อตันอ้อย
3. สอน. ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อคัดค้านจากสถาบันชาวไร่อ้อยและสมาคมโรงงานน้ำตาลต่อราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 โดยสถาบันชาวไร่อ้อยได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 สรุปได้ ดังนี้
3.1 ขอให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบที่นำมาใช้ในการจัดทำประมาณการราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ดังนี้
(1) ปรับราคาน้ำตาลทรายดิบที่ส่งมอบให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด4 (รวมพรีเมี่ยม) จากเดิมที่ราคา 26.47 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มเป็น 27.35 เซนต์ต่อปอนด์
(2) ปรับอัตราแลกเปลี่ยน จากเดิม 35.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ได้ทำการขายเงินดอลลาร์สหรัฐครบทั้งหมด โดยราคาที่นำมาคิดคำนวณราคาอ้อยนั้น ได้ทำการหักส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงิน 2 สกุลแล้ว
(3) ปรับราคากากน้ำตาลทั้งภายในและส่งออกเฉลี่ยที่ 5,000 บาทต่อตัน ปรับเพิ่มเป็น 5,800 - 5,900 บาทต่อตัน (166 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) เนื่องจากปริมาณกากน้ำตาลมีจำนวนจำกัด และราคาที่มีการซื้อขายในปัจจุบัน ณ หน้าโรงงานอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาทต่อตัน (172 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน)
(4) ปรับลดปริมาณน้ำตาลทรายภายในประเทศเพื่อเพิ่มรายได้
3.2 ขอเสนอให้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ ให้ชาวไร่อ้อยได้รับราคาไม่ต่ำกว่า 1,400 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการปลูกอ้อย ปี 2566/2567 และให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในภาวะเศรษฐกิจที่มีค่าครองชีพสูงขึ้น
3.3 ขอเสนอให้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ เป็นรายเขต ที่สัดส่วนร้อยละ 95 ของรายได้แต่ละเขต
4. คณะกรรมการบริหารในคราวประชุมครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ได้พิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ได้มีมติรับรองและเห็นชอบและให้นำเสนอ กอน. พิจารณา ดังนี้
4.1 องค์ประกอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยปรับองค์ประกอบการคำนวณ ดังนี้
(1) ราคาน้ำตาลทรายดิบที่ส่งมอบให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (รวม พรีเมี่ยม) จากเดิม ราคา 26.47 เซนต์ต่อปอนด์ เป็น 27.35 เซนต์ต่อปอนด์
(2) อัตราแลกเปลี่ยน จากเดิม 35.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
(3) ราคากากน้ำตาลทั้งภายในและส่งออก จากเดิม เฉลี่ยที่ 5,000 บาทต่อตัน เป็น 5,800 - 5,900 บาทต่อตัน
4.2 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ทั้ง 9 เขตคำนวณราคาอ้อย เป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ดังนี้
(1) ราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในอัตรา 1,420 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 91.43 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ (1,674.64 บาทต่อตันอ้อย) และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 85.20 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี. ซี.เอส.
(2) ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/2567 เท่ากับ 608.57 บาทต่อตันอ้อย
5. กอน. ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ได้พิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ตามที่คณะกรรมการบริหารเสนอและได้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อคัดค้านของผู้แทนสถาบันชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานแล้ว (ตามข้อ 3.) โดยมีมติรับรองและเห็นชอบองค์ประกอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฯ และการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ตามที่คณะกรรมการบริหารเสนอ (ตามข้อ 4.)
6. สำหรับประเด็นข้อพิพาท เรื่อง น้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization (WTO)] ระหว่างประเทศไทยกับบราชิลมิได้มีประเด็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณราคาอ้อยทั้งขั้นต้นและขั้นสุดท้าย ดังนั้น การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 จึงไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นการรักษาประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมทั้งเป็นการสร้างหลักประกันอย่างพอเพียงและเหมาะสมให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย
7. หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 แล้ว จะต้องดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ชาวไร่อ้อยได้รับค่าอ้อยสำหรับนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกการบำรุงรักษาอ้อย และการดำรงชีพ อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมในอนาคต
_________________
1 เขตคำนวณราคาอ้อยที่ 7 โรงงานน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลีแจ้งไม่เปิดหีบ และเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 8 โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรีหยุดประกอบการชั่วคราว
2 ซี.ซี.เอส. [Commercial Cane Sugar (CCS)] เป็นระบบการคิดคุณภาพของอ้อย ซึ่งได้นำแบบอย่างมาจากระบบการซื้อขายอ้อยของประเทศออสเตรเลีย และได้เริ่มใช้ประเทศไทยตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2536/2537 เป็นต้นมา โดยคำว่า ซี.ซี.เอส. หมายถึง ปริมาณของน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อยซึ่งสามารถหีบสกัดออกมาได้เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ส่วนอ้อย ณ ระดับความหวาน ที่ 10 ซี.ซี.เอส. หมายถึง เมื่อนำอ้อยมาผ่านกระบวนการผลิต จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ร้อยละ 10 กล่าวคือ อ้อย 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 100 กิโลกรัม
3 โรงงานน้ำตาลจะมีช่วงเวลาการเปิดหีบอ้อยประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี และจะเริ่มฤดูการผลิตน้ำตาลทรายในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคมของปีถัดไป
4 บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด เป็นองค์การหลักในการแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยให้มีโครงสร้างประกอบด้วยส่วนราชการ โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อยเป็นผู้ถือหุ้น รวมทั้งมีตัวแทนผลประโยชน์ทุกฝ่ายเข้าร่วมบริหารอยู่ในองค์การ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 20 กุมภาพันธ์ 2567
2684