การรับรองร่างปฏิญญาวังเวียงว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจวัฒนธรรมขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 February 2024 21:19
- Hits: 7121
การรับรองร่างปฏิญญาวังเวียงว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจวัฒนธรรมขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาวังเวียงว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจวัฒนธรรมขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Vang Vieng Declaration on Promoting the Small and Medium-sized Cultural Enterprises aligned with the Green Growth for Sustainable Development) (ร่างปฏิญญาฯ)
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองร่างปฏิญญาฯ
3. หากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของเอกสารดังกล่าวข้างต้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ก่อนจะมีการรับรองหรือเห็นชอบเอกสารดังกล่าวให้ วธ. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
[วธ. จะแจ้งผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป]
สาระสำคัญของเรื่อง
วธ. รายงานว่า
1. กระทรวงแถลงข่าววัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่ง สปป. ลาว ได้เสนอร่างปฏิญญาฯ ให้รัฐมนตรีของสมาชิกอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะให้การรับรอง โดยร่างปฏิญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญในการเสริมสร้างการพัฒนาทุนมนุษย์ของอาซียน โดยเฉพาะในด้านการเรียนรู้และด้านสมรรถนะของวิสาหกิจวัฒนธรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างศักยภาพสำหรับวิสาหกิจวัฒนธรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในอาเซียน สนับสนุนกิจกรรมต้นน้ำภายใต้ภาคส่วนวัฒนธรรมและศิลปะในระดับที่ต่างกัน (ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ) รวมถึงยืนยันบทบาทและการสนับสนุนที่สำคัญของภาควัฒนธรรมและศิลปะในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหลังจากที่รัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (ASEAN Ministers Responsible for Culture and Arts : AMCA) ได้รับรองเอกสารดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว สปป. ลาว จะนำร่างปฏิญญาดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 (44th ASEAN Summit) (ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2567) ณ สปป. ลาว ให้การรับรองต่อไป
2. ร่างปฏิญญาฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ ได้แก่ |
|
เป้าหมาย |
คำนึงถึงวัฒนธรรมแห่งการป้องกันเพื่อนำไปสู่สังคมที่มีสันติสุข ไม่แบ่งแยก มีภูมิคุ้มกัน สุขภาพดี และมีความกลมเกลียวด้วยจิตวิญญาณในการเสริมสร้างอัตลักษณ์อาเซียนในทุกแง่มุมภายใต้ภาคส่วนวัฒนธรรมและศิลปะอาเซียน |
|
ความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกัน |
(1) การดำเนินการตามหลักการของวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน (Culture of Prevention : CoP thrusts)1 ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านวัฒนธรรมและศิลปะ พ.ศ. 2559 - 2568 (2) การส่งเสริมวิสาหกิจวัฒนธรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีชุมชนเป็นฐานรากโดยให้เป็นแหล่งนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (3) การพัฒนาทุนมนุษย์โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้และด้านสมรรถนะของวิสาหกิจวัฒนธรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคอาเซียนในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและทักษะด้านการตลาดผ่านการศึกษาเป็นผู้ประกอบการ นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเข้าถึงตลาดในวงกว้าง (4) การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกรสร้างศักยภาพให้แก่วิสาหกิจวัฒนธรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคอาเซียน (5) ความร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การใช้ทรัพยากรและสินทรัพย์ทางธรรมชาติมีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมถึงลดปริมาณขยะและลดการใช้พลังงาน (6) กิจกรรมต้นน้ำภายใต้ภาคส่วนวัฒนธรรมและศิลปะในระดับที่ต่างกัน (ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ) ด้วยจิตวิญญาณที่อาจส่งผลเชิงบวกในการเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่โดดเด่น (7) การมีกลยุทธ์การตลาดที่ส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีในภาคส่วนวิสาหกิจวัฒนธรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคอาเซียน (8) การมีบทบาทและการสนับสนุนวัฒนธรรมและศิลปะที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย (9) การพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเพื่อปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ (10) การอนุรักษ์และคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม รวมถึงสนับสนุนความเป็นปีกแผ่นของสังคม และ (11) การเสริมสร้างอัตลักษณ์อาเซียนและนวัตกรรมผ่านกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตของประชาชน |
3. ประโยชน์ที่ได้รับ : ร่างปฏิญญาฯ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะในการส่งเสริมวิสาหกิจวัฒนธรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของวัฒนธรรมและศิลปะในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีความสอดคล้องกับผลประโยชน์และแนวทางการดำเนินงานของไทยรวมถึงสนับสนุนการพัฒนาภายใต้บริบทความท้าทายในปัจจุบันของภูมิภาคอาเซียน
4. วธ. แจ้งว่า ร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
5. วธ. แจ้งว่ากระทรวงการต่างประเทศ (กรมอาเซียน) พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างปฏิญญาฯ หาก วธ. ในฐานะส่วนราชการเจ้าของเรื่องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของไทย สามารถปฏิบัติได้ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนเป็นไปตามพันธกรณีของไทยภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและเห็นว่าร่างปฏิญญาฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับไม่มีการลงนามในร่างปฏิญญาดังกล่าว ดังนั้น ร่างปฏิญญาฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
_______________________
1 เป็นหลักการภายใต้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน เพื่อมุ่งสู่สังคมที่มีสันติสุข ไม่แบ่งแยก มีภูมิคุ้มกันสุขภาพดีและมีความกลมเกลียว (ASEAN Declaration on Culture of Prevention for a Peaceful, Inclusive, Resilient, Healthy and Harmonious Society) ซึ่งลงนามโดยผู้นำอาเซียนเมื่อปี 2560 มีสาระสำคัญมุ่งป้องกันสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนหรือหาทางป้องกันความรุนแรงแบบสุดขั้ว โดยพิจารณาว่า “ป้องกัน” ดีกว่า “แก้ปัญหา” ภายหลัง โดยแบ่งวัฒนธรรมได้ 6 รูปแบบ ได้แก่ (1) peace & intercultural understanding (2) respect for all (3) good governance at all levels (4) resilience & care for the environment (5) healthy lifestyle และ (6) supporting the values of moderation
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 20 กุมภาพันธ์ 2567
2682