รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 14 February 2024 00:30
- Hits: 7805
รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ
สาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2565 โดยมาตรา 165 บัญญัติให้ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2567) ให้ประธาน ก.พ.ร. เชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาร่วมกันพิจารณาเพื่อดำเนินการให้หน่วยงานดังกล่าวรับผิดชอบในการป้องกันและปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายนั้นๆ ทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่จะได้ตกลงกัน โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและการบูรณาการในการปฏิบัติหน้าที่ และการแบ่งเบาภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และให้สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบทุกสามเดือน
2. ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว 2 ครั้ง มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ผลการดำเนินการ |
การดำเนินการในระยะต่อไป |
|
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 (รายงานความคืบหน้าในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2565-มีนาคม 2566) |
||
สำนักงาน ก.พ.ร. ศึกษาข้อมูลของกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประชุมหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ ตช. ในเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนภารกิจจาก ตซ. ไปยัง ทส. เพื่อรับผิดชอบงาน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแบ่งเบาภารกิจของ ตช. |
สำนักงาน ก.พ.ร. หารือร่วมกับ ทส. ตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณากำหนดบทบาทภารกิจ ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ และวิธีการปฏิบัติงานในภารกิจการป้องกันและปราบปราม เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการตัดโอนภารกิจ รวมทั้งพิจารณาภารกิจอื่นที่อาจตัดโอนเพิ่มเติม |
|
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 (รายงานความคืบหน้าในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566) |
||
ประธาน ก.พ.ร. ในขณะนั้น (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง ทส. ตช. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ได้ข้อยุติร่วมกันโดยให้ตัดโอนภารกิจด้านการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวน (ก่อนการจับกุม) และการจับกุมภายใต้กรอบกฎหมาย 8 ฉบับ* จาก ตช. ให้ ทส. ส่วนภารกิจด้านการสอบสวน ตำรวจยังคงรับผิดชอบเช่นเดิม |
- ให้ ทส. จัดทำแนวปฏิบัติการทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ภายใน 1 เดือน และศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการตัดโอนภารกิจเพิ่มเติม - ให้ ตช. ปรับโครงสร้างและอัตรากำลังของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้สอดคล้องกับภารกิจที่ลดลง |
3. สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า การดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 มีความคืบหน้า ดังนี้
3.1 ทส. ดำเนินการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองรับภารกิจการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ภายใต้กรอบกฎหมาย 8 ฉบับเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ และอยู่ระหว่างจัดส่งคู่มือดังกล่าวให้ บก.ปทส. ร่วมพิจารณาก่อนนำไปปฏิบัติต่อไป รวมทั้งได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และผลกระทบจากการตัดโอนภารกิจเพิ่มเติมภายใต้กรอบกฎหมาย 5 ฉบับ ที่ยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจพบว่า กฎหมาย ทั้ง 5 ฉบับ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการคุ้มครอง ตรวจสอบ ส่งเสริม กฎหมายจึงได้จำกัดอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตอบสนองต่อภารกิจในด้านการป้องกันเท่านั้น กรณีการปราบปราม การจับกุม การสืบสวน และ การสอบสวน ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือกับตำรวจและหน่วยงานอื่นต่อไป
3.2 ตช. อยู่ระหว่างดำเนินการวางกรอบอำนาจหน้าที่และปรับโครงสร้างอัตรากำลังของ บก.ปทส. สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตช. เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ลดลงและไม่ทับซ้อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.3 การดำเนินการในระยะต่อไป
3.3.1 ตช. เร่งรัดดำเนินการปรับโครงสร้างและอัตรากำลังของ บก.ปทส. ให้สอดคล้องกับภารกิจที่ลดลง รวมทั้งให้ ตช. ยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบหรือเปลี่ยนแปลง บก.ปทส. ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567
3.3.2 ทส. ดำเนินการตามคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบกฎหมาย 8 ฉบับข้างต้น และให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานเพื่อเสนอ ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
__________________
*กฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 8 ฉบับ ที่ตัดโอนภารกิจให้ ทส. ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาโดยพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการร่วมกับตำรวจในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน (ก่อนการจับกุม) และการจับกุม ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 (2) พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 (3) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 (4) พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 (5) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 (6) พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 (7) พระราชบัญญัติเลื่อย โซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 และ (8) พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558
กฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 ฉบับ ที่ยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทส. ไม่มีอำนาจในการปราบปรามและจับกุม ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 (2) พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 (3) พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 (4) พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 และ (5) พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 กุมภาพันธ์ 2567
2441