ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 14 February 2024 00:21
- Hits: 7806
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมาธิการได้พิจารณาศึกษา เรื่อง “การปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อจัดตั้ง สบม.” โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.1 ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและการแข่งขันทางการศึกษากับนานาประเทศ รวมทั้งการบริหารและการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการบริหารงานวิชาการ 2) ด้านการบริหารงานงบประมาณ 3) ด้านการบริหารงานบุคคล และ 4) ด้านการบริหารงานทั่วไป โดยให้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยไม่เพิ่มหน่วยงาน เป็นการบูรณาการรวมสำนักซึ่งมีภารกิจใกล้เคียงกันเข้าด้วยกันและปรับปรุงหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นการภายใน ได้แก่ สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) เป็นหน่วยงานในโครงสร้างให้มีชื่อใหม่ว่า “สบม.” เพื่อเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะในการเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ การจัดตั้ง สบม. ต้องเชื่อมโยงระหว่าง สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
1.2 ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ สบม.
1.2.1 วัตถุประสงค์ เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและจัดทำข้อมูลสารสนเทศในทุกด้านของโรงเรียนมัธยมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น
1.2.2 หน้าที่และความรับผิดชอบ ส่งเสริม สนับสนุนงานนโยบายของรัฐบาลและ ศธ. สำหรับการพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
1.2.3 การแบ่งส่วนราชการภายใน สบม. แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ (1) กลุ่มบริหารทั่วไป (2) กลุ่มนโยบายและแผน (3) กลุ่มส่งเสริมทรัพยากรบุคคล (4) กลุ่มพัฒนาคุณภาพวิชาการและการจัดการศึกษา (5) กลุ่มส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการมัธยมศึกษา (6) กลุ่มวิจัยพัฒนาสื่อและดิจิทัลทางการศึกษา
2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (14 พฤศจิกายน 2566)
2.1 รับทราบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อจัดตั้ง สบม. ของคณะกรรมมาธิการการศึกษา วุฒติสภา ตามที่ สว. เสนอ
2.2 มอบหมายให้ ศธ. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าวและสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ศธ. ได้จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานตามข้อ 2 แล้ว โดยที่ประชุมมีมติไม่ขัดข้องในการบริหารจัดการเพื่อจัดตั้ง สบม. และเห็นว่า รายงานการพิจารณาศึกษาฯ พร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นประโยชน์ และสามารถนำมาปรับปรุงการดำเนินงานได้ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้น และให้ สพฐ. ดำเนินการตามแนวทางการแบ่งส่วนราชการภายในกรมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 เรื่อง แนวทางการแบ่งส่วนราชการภายในกรม สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
1. ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยให้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของ สพฐ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยไม่เพิ่มหน่วยงาน เป็นการบูรณาการรวมสำนักซึ่งมีภารกิจใกล้เคียงกันเข้าด้วยกันและปรับปรุงหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นการภายใน ได้แก่ สมป. เป็นหน่วยงานในโครงสร้างให้มีชื่อใหม่ว่า “สบม.” |
เห็นชอบ |
2. ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ สบม. 2.1 วัตถุประสงค์ เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและจัดทำข้อมูลสารสนเทศในทุกด้านของโรงเรียนมัธยมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น 2.2 หน้าที่และความรับผิดชอบ ส่งเสริม สนับสนุนงานนโยบายของรัฐบาลและ ศธ. สำหรับการพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น 2.3 การแบ่งส่วนราชการภายใน สบม. แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ (1) กลุ่มบริหารทั่วไป (2) กลุ่มนโยบายและแผน (3) กลุ่มส่งเสริมทรัพยากรบุคคล (4) กลุ่มพัฒนาคุณภาพวิชาการและการจัดการศึกษา (5) กลุ่มส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการมัธยมศึกษา (6) กลุ่มวิจัยพัฒนาสื่อและดิจิทัลทางการศึกษา |
เห็นชอบ |
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อสังเกตบางประการ เช่น สงป. เห็นว่า ให้พิจารณาใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า คำนึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลรวมทั้งการติดตามประเมินผลการดำเนินการต่างๆ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 กุมภาพันธ์ 2567
2440