ขอความเห็นชอบการกู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินขององค์การเภสัชกรรม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 14 February 2024 00:14
- Hits: 7661
ขอความเห็นชอบการกู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินขององค์การเภสัชกรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้องค์การเภสัชกรรมกู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินในลักษณะ Roll-over1 ครอบคลุมระยะเวลาการกู้ 5 ปี วงเงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า
1. องค์การเภสัชกรรมมีภารกิจด้านสาธารณสุข ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ (1) การสนับสนุนและตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐในการผลิตและจัดซื้อจัดหายาและเวชภัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสม (2) การจัดสรรเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน (3) การจ่ายค่าใช้จ่ายดำเนินงานในกิจการตามโครงการและแผนงาน และ (4) การจ่ายชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัทผู้จำหน่ายสินค้า อย่างไรก็ดี ฐานะทางการเงินในปัจจุบันขององค์การเภสัชกรรมมีลูกหนี้ที่มียอดค้างชำระเป็นจำนวนมากและยังไม่สามารถเรียกเก็บได้ (ยา เวชภัณฑ์ และวัคซีน) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปช.) และหน่วยบริการในสังกัด สธ. ส่งผลให้องค์การเภสัชกรรมขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยรายงานการรับ-จ่ายเงินสดปีงบประมาณ 2565 และ 2566 ขององค์การเภสัชกรรมมีรายละเอียด ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
รายการเงินสดรับ-จ่าย |
ปีงบประมาณ 2565 |
ปีงบประมาณ 2566 |
เงินสดคงเหลือต้นงวด |
7,310.32 |
4,778.09 |
เงินสดรับ |
26,200.54 |
17,660.00 |
เงินสดจ่าย |
28,732.77 |
24,833.28 |
เงินสดรับมากกว่า (น้อยกว่า) เงินสดจ่าย |
(2,532.23) |
(7,173.28) |
เงินสดคงเหลือเหลือปลายงวดสุทธิ |
4,778.09 |
-2,395.19 |
จากตารางจะเห็นได้ว่าเงินสดคงเหลือปลายงวดปีงบประมาณ 2566 ติดลบ (-2,395.19 ล้านบาท)2 ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมข้างต้น ดังนั้น องค์การเภสัชกรรมจึงมีความจำเป็นต้องขอกู้เงินเพื่อให้สามารถดำเนินภารกิจในการให้บริการประชาชนได้ตามปกติต่อไป
2. องค์การเภสัชกรรมมีลูกหนี้คงค้าง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566) ดังนี้
หน่วยงาน |
ยอดหนี้ (ล้านบาท) |
สปสช. |
4,133.72 |
สปช. |
1,013.55 |
ลูกหนี้ภาครัฐ |
1,973.33 |
ลูกหนี้ภาคเอกชนและส่งออก |
122.34 |
รวม |
7,242.94 |
ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมมีแนวทางการติดตามหนี้ค้างชำระ เช่น (1) ทุกสิ้นเดือน ส่งรายงานหนี้ค้างให้ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม (เจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรม) เพื่อทราบปัญหาและติดตามหนี้ที่ค้างชำระ (2) ทุก 3 เดือน ส่งหนังสือแจ้งยอดค้างชำระให้ลูกหนี้ที่ยังคงค้างทุกราย (3) ส่งข้อมูลยอดหนี้ค้างชำระถึง สธ. เพื่อนำแสดง Dashboard ทุกสัปดาห์ เป็นต้น
3. คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมในการประชุมครั้งที่ 15/2565 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยให้องค์การเภสัชกรรมไปพิจารณาทบทวนวิธีหาแหล่งเงินให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ การดำเนินการต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเงิน ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ หนังสือ และขั้นตอนที่กระทรวงการคลัง (กค.) กำหนด
4. กค. [สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)] สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบให้องค์การเภสัชกรรมกู้เงินจำนวน 3,000 ล้านบาท ในลักษณะ Roll-over คลอบคลุมระยะเวลา 5 ปี โดย กค. ไม่ค้ำประกัน เพื่อสำรองกรณีที่เงินสดคงเหลือปลายงวดในแต่ละเดือนต่ำกว่ายอดเงินสดขั้นต่ำที่ต้องคงไว้ หรือต่ำกว่ายอดประมาณการรายจ่ายต่อเดือน โดยแต่ละหน่วยงาน มีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้
หน่วยงาน |
รายละเอียด |
กค. (สบน.) |
ขอให้องค์การเภสัชกรรมเร่งติดตามการชำระหนี้ให้ทันตามกำหนดและสมดุลกับการใช้จ่ายเงิน เพื่อลดวงเงินกู้เพื่อสำรองสภาพคล่องทางการเงินจากลูกหนี้ค้างชำระและลดภาระดอกเบี้ยจากการกู้เงิน ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมจะต้องแจ้งต่อ กค. เพื่อบรรจุเงินกู้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ3 ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนที่จะดำเนินการกู้เงิน รวมถึงให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะอย่างเคร่งครัด ตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 |
สงป. |
ให้ กค.เป็นผู้พิจารณาวิธีการกู้งิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน รวมทั้งให้ดำเนินการขอบรรจุวงเงินกู้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้องค์การเภสัขกรรมเร่งรัดติดตามการชำระหนี้และแก้ไขปัญหาหนี้คงค้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริทารสภาพคล่องจากเงินที่ได้รับชำระหนี้แทนการกู้เงินเพื่อไม่ให้เกิดภาระดอกเบี้ยในอนาคต |
สศช. |
ให้ สธ. ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดประสาน สปส. สปสช. และองค์การเภสัชกรรม เพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาการเรียกเก็บหนี้ที่ชัดเจนมากขึ้นและติดตามการชำระหนี้ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาเพื่อลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้องค์การเภสัชกรรมลดภาระค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืมเงินและสามารถบริหารจัดการเงินสดของกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น |
______________________
1 การกู้เงินใหม่เพื่อนำไปชำระเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ เพื่อให้เงินกู้ดังกล่าวมีระยะเงินกู้สอดคล้องกับระยะคืนทุนซึ่งในครั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมขอดำเนินการกู้เงินและชดใช้เงินคืนภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2567 - 2571) ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท (ทยอยเบิกเงิน/ใช้เงินคืนตามสภาพคล่องขององค์การเภสัชกรรม)
2 จากการประสานกับองค์การเภสัชกรรม พบว่าค่าเฉลี่ยเงินสดจ่ายต่อเดือนขององค์การเภสัชกรรมในปี 2566 อยู่ที่ 2,069.44 ล้านบาท ดังนั้น เงินคงเหลือเหลือปลายงวดจึงไม่ควรเหลือต่ำกว่า 2,069.44 ล้านบาท
3 องค์การเภสัชกรรมได้เสนอ กค. (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) เพื่อขอบรรจุวงเงินกู้เข้าสู่แผนการบริหารหนี้สาธารณะ (ปรับปรุงครั้งที่ 1) ประจำปีงบประมาณ 2567 แล้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการกู้เงินขององค์การเภสัชกรรมในครั้งนี้ และมีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 องค์การเภสัชกรรมจะสามารถดำเนินการกู้เงินได้ในช่วงเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 กุมภาพันธ์ 2567
2438