สรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 (42nd Session of UNESCO General Conference: GC)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 February 2024 23:15
- Hits: 7756
สรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 (42nd Session of UNESCO General Conference: GC)
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 (42nd Session of UNESCO General Conference: GC) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
สาระสำคัญ
ศธ. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 7-22 พฤศจิกายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาแผนงาน งบประมาณ และกิจกรรม การดำเนินงานขององค์การยูเนสโก โดยผลการประชุม สรุปได้ ดังนี้
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนบทบาทองค์การยูเนสโกที่มุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติและนำเสนอแนวทางการดำเนินงานของไทยที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” เน้นผสมผสานการเรียนการสอนในห้องเรียนและแบบออนไลน์ มุ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคต รวมทั้งกล่าวสนับสนุนข้อริเริ่มขององค์การยูเนสโกในการจัดทำหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการศึกษาสีเขียว1 การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพื้นที่สงวนต่างๆ เป็นศูนย์ทดลองและศูนย์การเรียนด้านการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้เครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศขององค์การยูเนสโก เพื่อเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนการศึกษา
2. ภาพรวมการประชุมคณะกรรมาธิการของยูเนสโก ที่ประชุมได้พิจารณาแผนงาน งบประมาณ และกิจกรรมการดำเนินงาน 5 สาขาหลักขององค์การยูเนสโก ได้แก่ ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ สังคมและมนุษยศาสตร์ วัฒนธรรม และสื่อสารมวลชนและสารสนเทศ รวมทั้งการเงิน การบริหาร และการสนับสนุนโครงการและความสัมพันธ์ต่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุมพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานขององค์การยูเนสโกเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน ค.ศ. 2030 โดยเฉพาะการตอบสนองประเด็นท้าทายของโลกผ่านกลไกความร่วมมือแบบบูรณาการข้ามสาขา และการขับเคลื่อนนโยบาย แผนงานและโครงการสำคัญ เช่น สันติภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา บทบาทนำและการมีส่วนร่วมของเยาวชน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการน้ำ เสรีภาพในการแสดงออกทางสื่อสังคม การปกป้องสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนบทบาทเชิงรุกขององค์การยูเนสโกในการดำเนินงานตามแผนงานเร่งด่วน รวมทั้งการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศขององค์การยูเนสโก นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เพิ่มบาฮาซาอินโดนีเซีย (ภาษาอินโดนีเซีย) ในรายการภาษาทางการของการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโกและกำหนดให้จัดการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 43 ณ เมือง Samarkand (ซามาร์กันต์) สาธารณรัฐ อุซเบกิสถาน
3. กิจกรรมอื่นๆ
3.1 ไทยได้รับเลือกให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในคณะกรรมการสภาระหว่างรัฐบาล2 ว่าด้วยโครงการสารนิเทศเพื่อปวงชน คณะกรรมการสภาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยโครงการระหว่างชาติเพื่อพัฒนาการสื่อสาร และคณะกรรมการสภาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการจัดการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยมีวาระ 4 ปี ระหว่างปี 2566-2570 ซึ่งจะสิ้นสุดการเป็นสมาชิกเมื่อถึงการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 44
3.2 การพบปะหารือกับภาคส่วนต่างๆ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เช่น
(1) หารือกับหัวหน้าคณะผู้แทนสาธารณรัฐสิงคโปร์ เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นกลุ่ม 5 ประเทศ (รวมประเทศไทย) ที่ร่วมเสนอชุดเสื้อ “เคบายา” ขึ้นทะเบียนรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
(2) หารือและรับฟังการนำเสนอการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอาชีวศึกษาด้านการบิน ในประเด็นการฝึกงานและการจบหลักสูตรแล้วมีงานทำ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ศธ. “มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทํา (Learn to Earn)” และสามารถนำมาเป็นต้นแบบให้กับสถาบันการศึกษาในไทยได้
(3) หารือกับผู้บริหารบริษัทเอกชนเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: Al) ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เรียนได้ ทุกที่ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาจเป็นแนวคิดที่เป็นจุดร่วมที่สามารถส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต
4. ประโยชน์และผลกระทบ เช่น
4.1 ไทยตระหนักถึงประเด็นท้าทายของโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มขององค์การยูเนสโกด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เน้นการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการศึกษาสีเขียว ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศขององค์การยูเนสโก รวมถึงการมีส่วนร่วมของเยาวชนเพื่อเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม
4.2 ไทยได้รับเลือกให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในสภาระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยโครงการสารนิเทศเพื่อปวงชน สภาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยโครงการระหว่างชาติเพื่อพัฒนาการสื่อสาร และสภาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการจัดการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการพัฒนาสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในด้านการส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลและความรู้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารและสื่อบนพื้นฐานของจริยธรรมและความปลอดภัย ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนซึ่งรวมถึงภาคประชาสังคม ชุมชน และสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างความรู้และการปฏิบัติ
_________________
1การศึกษาสีเขียว คือ แนวคิดและกระบวนการจัดการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม สร้างความรู้ความเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพ พัฒนาทักษะการสำรวจธรรมชาติ และความรับผิดชอบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในกลุ่มเด็กและเยาวชน ผ่านระบบการศึกษา
2 จากการประสานข้อมูลเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ศธ. แจ้งว่า คณะกรรมการสภาระหว่างรัฐบาล คือ คณะกรรมการภายใต้องค์กรยูเนสโก มีหน้าที่พิจารณาวางแผนแนวทางการดำเนินงานและนโยบายในด้านต่างๆ โดยมีสมาชิกมาจากผู้แทนของแต่ละประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 กุมภาพันธ์ 2567
2434