ร่างแผนงานความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ประจำปี ค.ศ. 2024 - 2025
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 February 2024 23:06
- Hits: 7665
ร่างแผนงานความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ประจำปี ค.ศ. 2024 - 2025 (Joint Work Programme between the Ministry of Energy of the kingdom of Thailand and the International Energy Agency 2024 - 2025)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างแผนงานความร่วมมือระหว่าง พน. แห่งราชอาณาจักรไทยกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ประจำปี ค.ศ. 2024 - 2025 (ร่างแผนงานฯ)
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างแผนงานฯ (ตามข้อ 1)
3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงแผนงานฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้ พน. นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
(จะมีการลงนามร่างแผนงานฯ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ห้วงการประชุม IEA Ministerial Meeting 2024 ระหว่างวันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส)
สาระสำคัญ
1. ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) เป็นองค์กรด้านพลังงานระดับโลกภายใต้กรอบองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 โดยปัจจุบันมีประเทศสมาชิกจำนวน 31 ประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น) และมีประเทศพันธมิตร 13 ประเทศ (เช่น จีน อินเดีย สิงคโปร์ และไทย เป็นต้น) โดยไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตร1 ของ IEA เมื่อปี พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้เคยจัดทำแผนงานฯ ประจำปี ค.ศ. 2022 - 2023 ร่วมกับ IEA แล้ว เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 โดยปัจจุบันแผนงานฉบับดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว
2. ร่างแผนงานฯ ที่จัดทำขึ้นครั้งนี้ มีสาระสำคัญมุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาภาคพลังงานของไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรม/เทคโนโลยีพลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน การลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงาน และการพัฒนามาตรการรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายนักวิชาการในระดับนานาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางนโยบายด้านพลังงานของไทยในการส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อให้ พน. และ IEA ใช้เป็นแนวทางสำหรับความร่วมมือและกิจกรรมทวิภาคีในการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน ช่วงปี พ.ศ. 2567 - 2568 |
กรอบความร่วมมือ |
|
ด้านข้อมูลสถิติพลังงาน |
- ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลเชิงสถิติ และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงานระหว่างกัน อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับราคาพลังงานและภาษี ข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงาน ข้อมูลสถิติรายเดือนเกี่ยวกับน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหินและไฟฟ้า เพื่อให้ไทยมีข้อมูลพลังงานและสถิติที่ครอบคลุมและถูกต้อง - IEA จะเป็นศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ทั้งในระดับชาติและในระดับภูมิภาค |
ด้านความมั่นคงทางพลังงาน นโยบายการตอบสนอง ต่อสภาวะฉุกเฉิน และแร่ธาตุที่สำคัญ |
- ทั้งสองฝ่ายจะเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และนโยบายการรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานของไทย เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการและทบทวนนโยบาย/มาตรารองรับสภาวะฉุกเฉินด้านน้ำมัน/ก๊าซ/ไฟฟ้าของไทย การฝึกซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินของ IEA ทั้งในรูปแบบการวิเคราะห์ข้อมูลและในรูปแบบภาคปฏิบัติรวมถึงใช้สายด่วนในการรองรับเหตุฉุกเฉิน - ทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือในด้านแร่ธาตุสำคัญที่จะเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดย IEA จะช่วยเหลือไทยในการทบทวนนโยบายและมาตรการด้านแร่ธาตุสำคัญเพื่อประเมินบทบาทของตลาดแร่ธาตุสำคัญในอนาคต |
ด้านการลดการปล่อย ก๊าซมีเทนในภาคพลังงาน |
- ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซมีเทนในภาคพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการใช้ Global Methane Tracker2 - IEA จะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่มุ่งเน้นการปรับปรุงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนานโยบายและกฎระเบียบที่ส่วนเกี่ยวข้อง |
ด้านการใช้พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ |
- IEA จะเชิญ พน. เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมและฝึกอบรมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ - ทั้งสองฝ่ายจะติดตามความคืบหน้าของการบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการประเมินผลกระทบและร่วมพัฒนาตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานของไทย - ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันวิเคราะห์นโยบายเกี่ยวกับอาคารและการก่อสร้างอาคารของไทยเพื่อพัฒนาอาคารประหยัดพลังงาน |
ด้านนโยบาย และแผนงานระดับชาติ |
- IEA จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของไทยในการพัฒนานโยบายด้านพลังงานระดับชาติ - IEA จะสนับสนุน พน. ในการพัฒนาการศึกษา “แผนงานการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วยวิธีที่คุ้มค่าและปลอดภัย |
ด้านไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียน |
- ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ เช่น การพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (การกักเก็บพลังงาน การปรับปรุงสายส่งให้ทันสมัย) และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในไทย - IEA อาจเชิญบุคลากรจาก พน. เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการและการสัมมานาเกี่ยวกับความมั่นคงทางไฟฟ้า พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดในช่วงปี พ.ศ. 2567 - 2568 ตามความเหมาะสม |
ด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ |
- IEA จะสนับสนุนกิจกรรมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของไทยให้บรรลุพันธกรณีด้านสภาพภูมิอากาศในระดับนานาชาติ - ทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีพลังงานและหาโอกาสเพิ่มความร่วมมือต่างๆ ในอนาคต |
ทบทวนนโยบายพลังงาน และเพิ่มศักยภาพบุคลากร |
- ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายเพื่อสานต่อและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของไทยในโครงการเสริมสร้างและเพิ่มขีดความสามารถด้านต่างๆ ในแผนงานฯ เช่น การฝึกอบรม สัมมนา และประชุมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน - IEA จะเชิญบุคลากรจาก พน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปปฏิบัติงานด้วย (ถ้ามี) |
ประเด็นอื่นๆ |
|
การจัดการทางการเงิน |
กิจกรรมภายใต้แผนงานฯ ขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านเงินทุนและทรัพยากรของ IEA ซึ่งอาจต้องแสวงหาเงินทุนจากภายนอกในลักษณะของการบริจาคหรือเงินช่วยเหลือโดยสมัครใจก่อนเริ่มดำเนินกิจกรรม |
การเปิดเผยข้อมูล |
ไม่เปิดเผยข้อมูลแผนงานความร่วมมือแก่บุคคลที่สาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้จัดทำหรือการเปิดเผยเป็นสิ่งจำเป็นโดยฝ่ายบริหารหรือฝ่ายกฎหมาย |
การมีผลบังคับใช้ |
มีผลบังคับใช้ ณ วันที่ลงนาม โดยบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2567 - 2568 |
3. พน. แจ้งว่า กิจกรรมความร่วมมือด้านพลังงานภายใต้แผนงานฯ จะเป็นโอกาสอันดีในการผลักดันให้เกิดโครงการความร่วมมือในด้านเทคนิคและวิชาการเกี่ยวกับเทคโนโลยีและระบบการบริหารจัดการพลังงานที่มีความทันสมัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบาย/มาตรการด้านพลังงานของไทยให้มีความเหมาะสมต่อการพัฒนาพลังงานที่มั่นคงและเข้าถึงได้ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีในการร่วมมือกันเพื่อผลักดันการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของไทยต่อไป
_________________________
1 การเข้าร่วมเป็นพันธมิตร IEA มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมร่วมมือระหว่างกันในการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนเชิงวิชาการในด้านพลังงาน
2 Global Methane Tracker คือ การประมาณการการปล่อยก๊าซมีเทนทั้งหมดที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งจากภาคพลังงาน พลังงานชีวภาพ และภาคส่วนอื่นๆ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 กุมภาพันธ์ 2567
2432