ผลการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 30 และการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 28
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 February 2024 22:59
- Hits: 7558
ผลการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 30 และการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 28
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (การประชุม คณะมนตรีฯ) ครั้งที่ 30 และการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับหุ้นส่วนการพัฒนา (การประชุมคณะมนตรีฯ กับหุ้นส่วนการพัฒนา) ครั้งที่ 28 ตามที่คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (คณะกรรมการฯ) [รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธาน] เสนอ
สาระสำคัญ
คณะกรรมการฯ รายงานว่า
1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (23 พฤศจิกายน 2566) อนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรีฯ ครั้งที่ 30 และการประชุมคณะมนตรีฯ กับหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 28 โดยเป็นกรอบการหารือเกี่ยวกับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (สำนักงานฯ) รวมทั้งเห็นชอบให้คณะผู้แทนไทยหารือกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงตามประเด็นในกรอบการหารือ และอนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะสมาชิกคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้ลงนามรับรองรายงานการประชุม
2. การประชุมคณะมนตรีฯ ครั้งที่ 30 และการประชุมคณะมนตรีฯ กับหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) มีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีจากประเทศต่างๆ โดยในส่วนของประเทศไทย มีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (นายสุรสีห์ กิตติมณฑล) ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุม มีผลลัพธ์การประชุม [เป็นไปตามกรอบการหารือที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ (ตามข้อ 1)] สรุปได้ ดังนี้
ที่ประชุมมีมติ |
สาระสำคัญ |
อนุมัติ |
ร่างขอบเขตการดำเนินงาน (TOR) สำหรับ CEO ของสำนักงานฯ ที่เสนอโดยประเทศไทย เนื่องจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันจะหมดวาระ (มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี) โดยการดำรงตำแหน่ง CEO จะหมุนเวียนตามตัวอักษรของประเทศสมาชิก1 และผู้ที่ดำรงตำแหน่งคนต่อไปจะมาจากประเทศไทย2 [สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยจะดำเนินการสรรหา และคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ใน TOR สำหรับ CEO ของสำนักงานฯ โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567 และเป็นไปตามกรอบการหารือที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 (ตามข้อ 1)] |
รับทราบ |
ความก้าวหน้าการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ดังนี้ (1) ความร่วมมือกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (2) การดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (3) การดำเนินการตามแผนระดับภูมิภาคเชิงรุก (4) เครือข่ายติดตามเฝ้าระวังหลักแม่น้ำโขง (5) การจัดเตรียมรายงานสถานการณ์ของลุ่มน้ำโขง ปี พ.ศ. 2566 (6) ความก้าวหน้าการศึกษาร่วม เรื่อง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพทางอุทกวิทยาของลุ่มน้ำโขง - ล้านช้าง (7) รายงานสภาพทางอุตุ - อุทกวิทยาและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ปี พ.ศ. 2566 |
3. ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (ประเทศสมาชิกฯ) และหุ้นส่วนการพัฒนา3 ร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเทศสมาชิก/หุ้นส่วน การพัฒนา |
สาระสำคัญ |
ประเทศไทย |
- ชื่นชมการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่ดำเนินการพัฒนาลุ่มน้ำตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายในปัจจุบัน จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางน้ำ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม - เสนอให้ร่วมมือกันรักษาทรัพยากรน้ำและคำนึงถึงการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลด้านการบริหารจัดการน้ำ การสร้างความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม - แสดงความมุ่งหวังว่าแผนการดำเนินงานระดับภูมิภาคเชิงรุกที่อยู่ในระหว่างจัดทำของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะนำไปสู่โครงการร่วมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ที่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการพัฒนาในลุ่มน้ำที่ครอบคลุมและทั่วถึง โดยเห็นว่าโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ซึ่งสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยเพิ่มคุณค่า และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีนวัตกรรมในลุ่มน้ำโขง - แสดงความมุ่งมั่นและสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประเทศคู่เจรจา หุ้นส่วนการพัฒนา และหุ้นส่วนความร่วมมือระดับ ภูมิภาคและนานาชาติอื่นๆ ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน ให้เกิดความยั่งยืน |
กัมพูชา |
- ชื่นชมประเทศสมาชิกที่ได้ร่วมกันอนุมัติแผนดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ แม่น้ำโขง ประจำปี พ.ศ. 2566 – 2567 - ขอบคุณหุ้นส่วนการพัฒนาที่ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการและเงินทุน และขอบคุณประเทศคู่เจรจาที่ทำงานร่วมกันกับประเทศสมาชิก - กล่าวว่ากัมพูชาได้พยายามแก้ไขปัญหา และผลักดันยุทธศาสตร์เบญจโกณ ระยะที่ 1 (Pentagonal Strategy - Phase 1)4 เพื่อขยายการดำเนินนโยบายสู่ความยั่งยืน การเจริญเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงการดูแลผืนดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ |
สปป. ลาว |
- กล่าวถึงความสำเร็จของการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 ณ สปป.ลาว โดยมีผลลัพธ์การประชุม คือ ปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023 รวมทั้งความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกหุ้นส่วนพัฒนา และหุ้นส่วนอื่นๆ - สปป. ลาว ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์สู่ปี ค.ศ. 2040 โดยการจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการจัดทำ แผนบริหารจัดการลุ่มน้ำ ตลอดจนกำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแผนพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจระดับชาติ |
เวียดนาม |
เสนอให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติและภาวะฉุกเฉิน โดยจะต้องอาศัยฉันทามติและความมุ่งมั่นอันสูงสุดของประเทศสมาชิกในการดำเนินตามปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023 และแผนกลยุทธ์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงใน 3 ประเด็น ดังนี้ (3) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลอย่างเปิดกว้างและโปร่งใส (2) เสนอทางเลือกในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แทนการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ และ (3) เสริมสร้างศักยภาพ ของประเทศสมาชิกและการสนับสนุนด้านการเงิน รวมทั้งศึกษาวิจัยกลไกการเงินรูปแบบใหม่ เช่น กองทุนแม่น้ำโขง (Mekong Fund) เป็นต้น |
หุ้นส่วนการพัฒนา |
- ยินดีกับผลสำเร็จของกิจกรรมที่สร้างความมีส่วนร่วมของประเทศในลุ่มน้ำโขง รวมถึงการมีส่วนร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในงานกิจกรรมสำคัญระดับโลก - รับทราบถึงความพยายามของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการยกระดับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ช่วยในการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาและปฏิบัติตามธรรมเนียม หลักการ และแนวทางร่วมกัน และขอให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงใช้กลไกดังกล่าวในการประสานงานการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงต่อไป - ยินดีกับความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง สู่ความยั่งยืนทางการเงินภายในปี ค.ศ. 2030 และหวังว่าจะได้ร่วมมือ กับสำนักงานฯ ในการจัดตั้ง กำกับดูแล และการบริหารจัดการกองทุนแม่น้ำโขง (Mekong Fund) ต่อไป |
__________________
1 หมุนเวียนตามตัวอักษรของประเทศสมาชิก ดังนี้ (1) สาธารณรัฐสังคมเวียดนาม (เวียดนาม) (2) กัมพูชา (3) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และ (4) ประเทศไทย
2 เมื่อการดำรงตำแหน่ง CEO หมุนเวียนไปถึงประเทศใด ประเทศนั้นจะสามารถปรับปรุง TOR ของ CEO ให้คล้องกับวัตถุประสงค์ของประเทศนั้นๆ ได้ โดย TOR ของ CEO ที่ประเทศไทยเสนอในครั้งนี้ มีการปรับปรุง เช่น ปรับปรุงในประเด็นสัญชาติ โดยผู้ที่มาดำรงตำแหน่งคนต่อไปจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ปรับปรุงคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งของ CEO ในประเด็นประสบการณ์ทำงานเพื่อขยายและเปิดโอกาสให้กับผู้สมัครที่อยู่ในหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
3 เช่น ออสเตรเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยจะบริจาคเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมาธิการฯ
4 เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศของกัมพูชา โดยมีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 5 ประการ ได้แก่ (1) เสริมสร้างความยืดหยุ่นเพื่อฟื้นฟูในสภาวะวิกฤต (2) สร้างงาน (3) ลดความยากจน (4) เพิ่มศักยภาพการบริหารราชการ และ (5) พัฒนาสังคม เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 กุมภาพันธ์ 2567
2431