WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ร่างกฎกระทรวง ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวม 2 ฉบับ

Gov 32

ร่างกฎกระทรวง ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวม 2 ฉบับ

          คณะรัฐมนตรีมีติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอดังนี้

          1. ร่างกฎกระทรวงการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กรณีที่บริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ พ.ศ. ....

          2. ร่างกฎกระทรวงการแต่งตั้งผู้ประเมินราคา กรณีที่มีผู้ถือหุ้นคัดค้านการควบรวมบริษัทและไม่สามารถตกลงราคาซื้อขายหุ้นได้ พ.ศ. ....

          เรื่องเดิม

          1. โดยที่มาตรา 1175 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 บัญญัติให้การโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ ในกรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งครั้งหรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จากเดิมที่กำหนดให้บริษัทจำกัดโฆษณาคำบอกกล่าวเชิญประชุมใหญ่ทางหนังสือพิมพ์เพียงช่องทางเดียว จึงต้องออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กรณีบริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ (หุ้นไม่ระบุชื่อ) ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่บริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ สามารถโฆษณาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้อีกช่องทางหนึ่ง (บริษัทจำกัดสามารถจะเลือกโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ได้ โดยทางหนังสือพิมพ์หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือทั้ง 2 ทางก็ได้) 

          การโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมกรณีบริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือหุ้น (หุ้นไม่ระบุชื่อ) ตามมาตรา 1175 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้ 1) การโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เดิม โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ 2) การโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ใหม่ โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ โฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมาตรา 1239/1 วรรคสอง บัญญัติให้ในกรณีที่บริษัทได้มีมติพิเศษ1 ให้ควบรวมบริษัท แต่มีผู้ถือหุ้นส่วนน้อยคัดค้านการควบรวมบริษัท ขั้นตอนแรกบริษัทจะต้องจัดให้มีผู้ซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นที่คัดค้านดังกล่าวในราคาที่ตกลงกัน แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ในขั้นตอนแรกให้ใช้ราคาหุ้นตามที่ผู้ประเมินราคาเป็นผู้กำหนด โดยการแต่งตั้งผู้ประเมินราคาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งการแต่งตั้งผู้ประเมินราคาดังกล่าว เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการควบรวมบริษัทจำกัดที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 ได้กำหนดขึ้นใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้ได้ข้อยุติระหว่างผู้ซื้อหุ้นและผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบรวมบริษัทที่ไม่สามารถตกลงราคาซื้อขายหุ้นกันได้2 ดังนี้ 

          การแต่งตั้งผู้ประเมินราคากรณีผู้ถือหุ้นบางส่วนคัดค้านการควบรวมบริษัทตามมติพิเศษ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1) การแต่งตั้งผู้ประเมินราคาเดิม ไม่มีการกำหนดไว้ 2) การแต่งตั้งผู้ประเมินราคากำหนดขึ้นใหม่ มี 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 บริษัทจำกัด จัดให้มีผู้ซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่คัดค้านการควบรวมบริษัทในราคาที่ตกลงกัน ขั้นตอนที่ 2 กรณีที่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่คัดค้านการควบรวมบริษัทไม่สามารถตกลงราคาซื้อขายหุ้นกันได้ ให้ใช้ราคาตามที่ผู้ประเมินราคาเป็นผู้กำหนด โดยบริษัทจัดให้มีผู้ประเมินราคาตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนด เช่น เป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต ขั้นตอนที่ 3 ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่คัดค้านการควบรวมบริษัทไม่ยอมขายหุ้นภายใน 14 วันนับแต่วันที่ได้รับคำเสนอขอซื้อหุ้น ให้บริษัทดำเนินการควบรวมบริษัทต่อไปได้ และให้ถือว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวนั้นเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ควบรวม

          2. พณ. พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีที่เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย ประกอบกับได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 ตามข้อ 1. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กรณีบริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งผู้ประเมินราคา พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้บริษัทสามารถโฆษณาข้อความเกี่ยวกับบริษัทจำกัดผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใดเพิ่มเติมจากการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกและช่องทางการโฆษณาให้ทันสมัยเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ และสอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งผู้ประเมินราคาซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมและคัดค้านการควบรวมบริษัทในกรณีที่บริษัทมีมติพิเศษให้ควบรวมบริษัท แต่ผู้ซื้อหุ้นและผู้ถือหุ้นที่คัดค้านไม่สามารถตกลงราคากันได้ให้ใช้ราคาตามที่ผู้ประเมินราคาที่เป็นคนกลางเป็นผู้กำหนดแทนเพื่อให้มีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน

          ทั้งนี้ พณ. โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้นำร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ตามข้อ 2. รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว (หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน) โดยรับฟังความคิดเห็นผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) และระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2565 - 3 มกราคม 2566 แล้ว โดยผู้แสดงความคิดเห็นไม่ได้คัดค้านในหลักการของร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงรวม 2 ฉบับดังกล่าว มาเพื่อดำเนินการ

          3. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (18 กรกฎาคม 2566) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวรวม 2 ฉบับ ตามข้อ 2. ตามที่ พณ. เสนอ และให้ส่ง สคก. ตรวจพิจารณาโดยให้รับประเด็นตามความเห็นของ สคก. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

          4. สคก. แจ้งว่าได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวรวม 2 ฉบับ ตามข้อ 3. เสร็จแล้ว โดยมีการแก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ดังนี้

              4.1 ร่างกฎกระทรวงการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กรณีที่บริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ พ.ศ. ....

              4.2 ร่างกฎกระทรวงการแต่งตั้งผู้ประเมินราคา กรณีที่มีผู้ถือหุ้นคัดค้านการควบรวมบริษัทและไม่สามารถตกลงราคาซื้อขายหุ้นได้ พ.ศ. ....

          โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎกระทรวงนี้แล้ว

          5. ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรกระหม่อมแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้ส่งร่างกฎกระทรวงรวม 2 ฉบับดังกล่าว ตามข้อ 4. ให้ พณ. พิจารณายืนยันอีกครั้งหนึ่ง

          ข้อเท็จจริง

          พณ. พิจารณาแล้วยืนยันให้ดำเนินการร่างกฎกระทรวงรวม 2 ฉบับดังกล่าวที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วต่อไป จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงรวม 2 ฉบับดังกล่าว มาเพื่อดำเนินการ

          สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

          ร่างกฎกระทรวง ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 จำนวน 2 ฉบับ ที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แก่

          1. ร่างกฎกระทรวงการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กรณีที่บริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ (หุ้นไม่ระบุชื่อ) ตามเรื่องเสร็จที่ 1336/2566 (ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 วรรคหนึ่ง) สรุปได้ ดังนี้

              1) กำหนดให้กรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ (หุ้นไม่ระบุชื่อ) บริษัทอาจโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ก็ได้

              2) กำหนดให้การโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ประกาศผ่านเว็บไซต์ที่เข้าถึงเป็นการทั่วไป และสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของเว็บไซต์ โดยต้องคำนึงถึงการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ได้โดยสะดวกและไม่เลือกปฏิบัติหรือเว็บไซต์ที่อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าประกาศกำหนด

              3) กำหนดให้ข้อความหรือเอกสารที่โฆษณาให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้ระบุข้อความที่จะนำเสนอให้ลงมติด้วย

              4) กำหนดให้การโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะต้องปรากฏข้อความหรือเอกสารที่โฆษณานั้นตั้งแต่วันที่การโฆษณาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์จนถึงวันประชุมใหญ่

          2. ร่างกฎกระทรวงการแต่งตั้งผู้ประเมินราคา กรณีที่มีผู้ถือหุ้นคัดค้านการควบรวมบริษัทและไม่สามารถตกลงราคาซื้อขายหุ้นได้ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งผู้ประเมินราคา ในกรณีที่มีการควบคุมรวบรวมบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมคัดค้านการควบรวมบริษัทและไม่สามารถตกลงราคาซื้อขายหุ้นได้ ตามเรื่องเสร็จที่ 1337/2566 (ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1239/1 วรรคสอง) สรุปได้ ดังนี้

              1) กำหนดนิยามคำว่า

                  “ผู้ซื้อหุ้น” หมายความว่า ผู้ที่บริษัทจัดให้มาซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นที่คัดค้านในกรณีที่บริษัทมีมติพิเศษให้ควบรวมบริษัท

                  “ผู้ถือหุ้นที่คัดค้าน” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของบริษัทซึ่งจัดขึ้นเพื่ออนุมัติการควบรวมบริษัทและได้ออกเสียงลงคะแนนคัดค้านการควบรวมบริษัทเมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติพิเศษให้ควบรวมบริษัท

                  “ผู้ประเมินราคา” หมายความว่า ผู้ประเมินและกำหนดราคาซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นที่คัดค้าน

              2) กำหนดให้บริษัทเป็นผู้แต่งตั้งผู้ประเมินราคาเพื่อทำหน้าที่ประเมินและกำหนดราคาซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นที่คัดค้าน ในกรณีที่ผู้ซื้อหุ้นกับผู้ถือหุ้นที่คัดค้านไม่สามารถตกลงราคาซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นที่คัดค้านกันได้ และกำหนดความเป็นอิสระของผู้ประเมินราคา

              3) กำหนดคุณสมบัติของผู้ประเมินราคา ได้แก่ (1) เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพ (2) เป็นอนุญาโตตุลาการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานศาลยุติธรรมในสาขาการประเมินราคาทรัพย์สิน (3) เป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานศาลยุติธรรม (4) เป็นบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินหรือผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (5) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินหรือผู้ควบคุมการปฏิบัติงานที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ (6) เป็นผู้ประเมินชั้นวุฒิที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย และสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

________________

1 มาตรา 1194 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติให้การใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำโดยมติพิเศษ ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติในเรื่องนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

2 มาตรา 1239/1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 บัญญัติให้เมื่อมีมติพิเศษให้ควบรวมบริษัทแล้ว แต่มีผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมคัดค้านการควบรวมบริษัท บริษัทต้องจัดให้มีผู้ซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นดังกล่าวในราคาที่ตกลงกัน หรือในกรณีไม่สามารถตกลงกันได้ให้ใช้ราคาตามที่ผู้ประเมินราคาเป็นผู้กำหนด ถ้าผู้ถือหุ้นนั้นไม่ยอมขายภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับคำเสนอขอซื้อ ให้บริษัทดำเนินการควบรวมบริษัทต่อไปได้ และให้ถือว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวนั้นเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ควบรวม

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567

 

 

2212

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

CKPower 720x100

TOA 720x100

Banner GPF720x100 PX

EXIM One 720x90 C J

QIC 720x100

kbank 720x100 66

วิริยะ 720x100

MTL 720x100

 

 

 

AXA 720 x100

gen 720x100

hino2021

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!