ร่างกฎกระทรวงการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 February 2024 01:23
- Hits: 7737
ร่างกฎกระทรวงการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ กษ. เสนอว่า
1. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรณีที่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม กรณีการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร และกรณีการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก. จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ประสงค์จะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินดังกล่าว และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น บุคคลผู้ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทายาทโดยธรรมของบุคคลดังกล่าว และสถาบันเกษตรกรที่ประสงค์จะรับโอนสิทธิในที่ดินของบุคคลนั้นจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ อนึ่ง การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ประสงค์จะแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. จะดำเนินการใช้จ่ายจากเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามนัยมาตรา 9 วรรคสาม* แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518
2. การออกกฎกระทรวงตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เข้าลักษณะของบทบัญญัติที่จะต้องมีการออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กฎหมายบัญญัติก่อนจึงจะทำให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 แล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
กำหนดบทนิยาม |
● “ผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ● “หนี้ที่เกิดกับสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก.” หมายความว่า หนี้ที่เกิดกับสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. เฉพาะกรณีที่สถาบันการเงินดังกล่าวได้รับหนังสือแสดงสิทธิจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้เป็นหลักประกันและให้หมายความรวมถึงหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดิน ● “ส.ป.ก. จังหวัดแห่งท้องที่” หมายความว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแห่งท้องที่อันเป็นที่ตั้งของที่ดิน |
|
การแจ้ง การยื่นเอกสารและหลักฐานหรือการติดต่อใดๆ |
● กำหนดให้การแจ้ง การยื่นเอกสารและหลักฐาน หรือการติดต่อใดๆ และการออกเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ดำเนินการที่ ส.ป.ก. จังหวัดแห่งท้องที่ |
|
การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม |
● กำหนดกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้สิทธิในที่ดินดังกล่าวตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดก โดยการแบ่งสิทธิจะต้องอยู่ภายใต้บรรพ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เช่น กรณีไม่มีทายาทโดยธรรมหรือมีแต่ไม่ประสงค์จะรับสิทธิในที่ดิน ให้ตกเป็นของ ส.ป.ก. รวมทั้งได้กำหนดให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ถือเป็นทายาทโดยธรรม ทั้งนี้ เพื่อให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับหลักการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ● กำหนดให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้จัดการมรดกที่ประสงค์จะแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินมรดก ต้องมีหนังสือแจ้งความประสงค์ให้ ส.ป.ก. จังหวัดแห่งท้องที่ตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อออกหนังสือรับรองการโอนสิทธิในที่ดินให้แก่ทายาทโดยธรรมไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ประกอบการแบ่งแยกหรือโอน ● กำหนดให้ทายาทโดยธรรมที่ได้รับที่ดินมรดกจะต้องใช้ที่ดินประกอบเกษตรกรรม หากใช้ที่ดินโดยฝ่าฝืน ให้ ส.ป.ก. แจ้งเตือนเป็นหนังสือเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่แก้ไขให้ถูกต้อง ให้ ส.ป.ก. มีคำสั่งโอนสิทธิในที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. |
|
การแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร |
● กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวสามารถโอนสิทธิในที่ดินให้แก่สถาบันเกษตรกรเพื่อชำระหนี้ “ทั้งหมด” หรือ “บางส่วน” ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิที่ประสงค์จะประกอบเกษตรกรรมต่อไป ยังคงเหลือที่ดินบางส่วนมาใช้ประกอบเกษตรกรรม ● กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวที่ประสงค์จะแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินต้องมีหนังสือแจ้งความประสงค์ให้ ส.ป.ก. จังหวัดแห่งท้องที่ทราบว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเพื่อชำระหนี้กันจริง เพื่อให้มีหนังสือรับรองการโอนสิทธิให้แก่สถาบันเกษตรกรหรือผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ประกอบการแบ่งแยกหรือโอน ● กำหนดแนวทางปฏิบัติการใช้ประโยชน์ที่ดินของสถาบันเกษตรกรภายหลังจากที่ได้รับโอนสิทธิในที่ดิน โดยจะต้องใช้ที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมและจะทำการแบ่งแยกหรือโอนไปยังผู้อื่น หรือนำไปให้บุคคลอื่นเช่าไม่ได้เว้นแต่กรณีตามที่กำหนด เช่น การให้เจ้าของเดิมหรือทายาทโดยธรรมของเจ้าของเดิมซื้อคืน หรือให้เจ้าของเดิม ทายาทโดยธรรมของเจ้าของเดิมหรือเกษตรกรอื่นตามลำดับ เช่าเพื่อประกอบเกษตรกรรม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของเดิม นอกจากนี้ ได้กำหนดให้ ส.ป.ก. แจ้งเตือนสถาบันเกษตรกรเมื่อฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กำหนด หากไม่แก้ไขให้ถูกต้องภายในกำหนดระยะเวลา หรือสถาบันเกษตรกรเลิกกิจการ ให้ ส.ป.ก. มีคำสั่งให้สถาบันเกษตรกรหรือผู้ชำระบัญชีของสถาบันเกษตรกรนั้นโอนสิทธิคืนให้ ส.ป.ก. |
|
การแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก. |
● กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวอาจแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินบางส่วนหรือทั้งหมดคืนให้ ส.ป.ก. โดยจะขอรับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้ ให้ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ไปยัง ส.ป.ก. จังหวัดแห่งท้องที่ พร้อมสำเนาหนังสือแสดงสิทธิหรือแผนที่แสดงที่ตั้งที่ดินโดยสังเขป ● กำหนดให้การแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก. โดยขอรับค่าตอบแทนให้ ส.ป.ก. จังหวัดแห่งท้องที่จัดทำความเห็นและรายงานผลการตรวจสอบเกี่ยวกับ 1) สภาพความเหมาะสมทางการเกษตรของที่ดิน และลักษณะการทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2) ภาระผูกพันเหนือที่ดิน รวมตลอดทั้งหนี้ที่เกิดกับสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. และ 3) ราคาประเมินที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ เพื่อส่งให้ ส.ป.ก. พิจารณาสำหรับกรณีที่ไม่ขอรับค่าตอบแทน ให้ ส.ป.ก. จังหวัดแห่งท้องที่ส่งเรื่องให้ ส.ป.ก. เพื่อรับโอนสิทธิในที่ดินดังกล่าวได้เลย ● กำหนดค่าตอบแทนกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวแจ้งความประสงค์จะแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินให้แก่ ส.ป.ก. เป็นไปตาม “ราคาประเมินที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ” โดยกำหนดให้จ่ายเฉพาะ “ค่าที่ดิน” เท่านั้น ไม่รวมค่าสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินอื่นที่ติดอยู่กับที่ดินและสามารถหักค่าภาระผูกพันเหนือที่ดินหรือหนี้ที่เกิดกับสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก รวมทั้งหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ แต่ ส.ป.ก. จะรับผิดชอบแต่เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าที่ดินเท่านั้น ● กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวรื้อถอนทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินออกไปภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่รื้อถอน ส.ป.ก. มีอำนาจเข้ารื้อถอนหรือขายทอดตลาดได้โดย ส.ป.ก. มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้จากการขายทอดตลาด หักแล้วเหลือเงินเท่าใดก็ให้แจ้งผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวมารับคืนไป ส่วนกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวสละสิทธิในทรัพย์สิน ให้ ส.ป.ก. เข้ารื้อถอนแล้วนำออกขายทอดตลาดได้เงินมาเท่าใดก็ให้ตกเป็นของ ส.ป.ก. ● กำหนดให้ในกรณีที่ที่ดินมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้เพื่อประกอบเกษตรกรรมอันเนื่องมาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดของผู้ได้รับสิทธิดังกล่าว และไม่ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับที่ดินเนื่องจากรับโอนโดยจ่ายค่าตอบแทน ส.ป.ก. จะไม่รับคืนที่ดินก็ได้ หรือรับโอนคืนเฉพาะที่ดินที่มีสภาพที่เหมาะสมเพื่อจะนำไปจัดให้กับเกษตรกรรายอื่นต่อไป ● กำหนดให้ ส.ป.ก. ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวและ ส.ป.ก. จังหวัดแห่งท้องที่ เพื่อให้มาทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินและรับค่าตอบแทน เมื่อผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวใช้ที่ดินโดยฝ่าฝืนกรณีตามที่กำหนดและกำหนดค่าตอบแทนกรณีที่มีการใช้ที่ดินโดยฝ่าฝืน ให้จ่ายในราคา “ค่าเช่าซื้อ” ที่ผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวได้เช่าซื้อไปจาก ส.ป.ก. |
________________
* มาตรา 9 วรรคสาม บัญญัติให้การใช้จ่ายเงินของกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้กระทำได้เฉพาะการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567
2210