รายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 February 2024 00:50
- Hits: 7664
รายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ดังนี้
1. รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป
2. เห็นชอบให้นำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรี และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป
สาระสำคัญ
รายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2565 ของสำนักงาน ป.ป.ส. ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เป็นการรายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 ประกอบด้วย ผลการจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศ ปีพ.ศ. 2565 รวม 194,203 คดี ผู้ต้องหา 200,669 ราย ยึดทรัพย์สิน จํานวน 11,003 ล้านบาท และผลการจับกุมพบว่า นอกจากปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติดและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การค้ายาเสพติดเพิ่มระดับความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มการค้าทุกระดับสามารถจัดหายาเสพติดได้หลายชนิดโดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อซื้อขาย ควบคู่กับการใช้บริการรับส่งพัสดุภัณฑ์และขนส่งสินค้าที่มีผู้ให้บริการอยู่หลายราย ทำให้ยากต่อการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ การกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยการเรียกเก็บทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด การกักขังหน่วงเหนี่ยว และการเสนอผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้หลุดพ้นจากคดียาเสพติด เนื่องจากอำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เป็นอำนาจพิเศษจากกฎหมายทั่วไป การดำเนินการใดๆ จะกระทบต่อสิทธิของบุคคลพึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดระดับตำแหน่งที่สูงขึ้นของผู้ใช้อำนาจหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถใช้ดุลพินิจความละเอียดรอบคอบ การครองตน ครองงาน การมีประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันกรณีที่อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่น อำนาจในการตรวจค้นในเวลากลางคืน การมีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ หรือเรียกเอกสารหรือวัตถุใดๆ และการควบคุมตัวผู้ถูกจับกุม โดยปัจจุบันได้มีระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พ.ศ. 2565 กำหนดคุณสมบัติและการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และการกำกับดูแลเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ไว้อย่างชัดเจนแล้ว ส่วนกรณีที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (มีผลใช้บังคับวันที่ 1 ตุลาคม 2566) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุม จนส่งตัวให้พนักงานสอบสวน หรือปล่อยตัวไป ในการปฏิบัติงานจริงมีข้อจำกัดด้านกำลังคนและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ และเหตุการณ์เฉพาะหน้า รวมทั้งยังไม่มีช่องทางที่สะดวกในการแจ้งการควบคุมตัวกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบได้ทันทีตามที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ปัจจุบันระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566) เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. สอดคล้องกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบการควบคุมตัว เร่งเตรียมการให้พร้อมรองรับการปฏิบัติงาน เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายมีมาตรการและกลไกที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยเร็ว ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยกับรายงานดังกล่าว
รายงานผลปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2565 ของสำนักงาน ป.ป.ส. ดังกล่าว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีความเห็น หรือข้อเสนอแนะว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการในการควบคุมตรวจสอบการแสวงหาประโยชน์จากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ควบคู่กับการใช้บริการรับส่งพัสดุภัณฑ์และขนส่งสินค้าที่มีผู้ให้บริการอยู่หลายรายที่เป็นช่องทางในการติดต่อ ซื้อขายยาเสพติด ส่วนกรณีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจหน้าที่ตรวจค้น การใช้อำนาจในการมีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคล หรือเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคำ หรือส่งข้อมูลเอกสาร รวมทั้งการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัว ควรกำหนดแนวทางปฏิบัติ จัดให้มีการศึกษาอบรมให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดช่องทางในการแจ้ง การควบคุมตัวกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบได้ทันทีตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567
2200