รายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 February 2024 23:49
- Hits: 7420
รายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเสนอ
สาระสำคัญ
1. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 ภารกิจของคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ
คณะอนุกรรมการ |
ผลการดำเนินงาน เช่น |
|
(1) คณะอนุกรรมการปรบปรุงแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายและอนุบัญญัติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร |
- ทบทวนร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานศาลปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป1 - ปรับปรุงร่างประกาศกฎกระทรวงกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 พ.ศ. .... เสนอคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ2 |
|
(2) คณะอนุกรรมการพิจารณาส่งคำอุทธรณ์และดำเนินการเรื่องร้องเรียน |
- รับเรื่องอุทธรณ์ของประชาชน จำนวน 773 เรื่อง และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแต่ละสาขาพิจารณาตามความเชี่ยวชาญ - รับเรื่องร้องเรียนการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 จำนวน 562 เรื่อง และพิจารณาแล้วเสร็จครบถ้วนทุกเรื่องแล้ว ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลการตรวจสอบการใช้อำนาจการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงาน จำนวน 377 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 67.08 ของจำนวนเรื่องทั้งหมด) |
|
(3) คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของราชการ |
รับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 334 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 จำนวน 44 เรื่อง และพิจารณาแล้วเสร็จครบถ้วนทุกเรื่องแล้ว ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลการตรวจสอบใช้อำนาจการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานจำนวน 31 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 70.45 ของจำนวนเรื่องทั้งหมด) |
|
(4) คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ |
รับเรื่องขอหารือเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 จากส่วนราชการ จำนวน 22 เรื่อง และพิจารณาแล้วเสร็จครบถ้วนทุกเรื่องแล้ว |
|
(5) คณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ติดตาม ประเมินผลและพัฒนาองค์กร |
- ขอให้สำนักงาน ก.พ. สอดแทรกวิชากฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการไว้ในหลักสูตรการอบรมของสำนักงาน ก.พ. ในทุกระดับ รวมทั้งกำหนดการผ่านเกณฑ์การทดสอบพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 เป็นคุณสมบัติหนึ่งของการเลื่อนระดับของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งของ ก.พ. (คณะรัฐมนตรีมีมีมติรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564) - เห็นชอบหลักเกณฑ์การมอบโล่รางวัลแก่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่นแก่หน่วยงานของรัฐที่ผ่านเกณฑ์การประเมินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ |
|
(6) คณะอนุกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในหน่วยงานของรัฐ |
รับเรื่องร้องเรียนและตอบข้อหารือ จำนวน 4 เรื่อง และพิจารณาแล้วเสร็จครบถ้วนทุกเรื่องแล้ว |
|
(7) คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ |
เห็นชอบรายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และแผนปฏิบัติการด้านการประชาสัมพันธ์สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2564-2565 |
|
(8) คณะอนุกรรมการพัฒนาและประเมินผลการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ |
อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อแก้ไขระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ |
1.2 ภารกิจของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างๆ ได้ให้ผู้อุทธรณ์และผู้แทนหน่วยงานของรัฐชี้แจงข้อเท็จจริง แล้วจัดทำคำวินิจฉัย โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 614 เรื่อง จาก 662 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 92.75 สรุปได้ ดังนี้
สาขา |
จำนวนเรื่องอุทธรธ์ |
จำนวนเรื่องที่ พิจารณาแล้วเสร็จ |
จำนวนเรื่องที่ อยู่ระหว่างดำเนินการ |
(1) การแพทย์และสาธารณสุข |
2 |
2 |
- |
(2) ต่างประเทศ ความมั่นคง และการเมือง |
6 |
6 |
- |
(3) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมและการเกษตร |
- |
- |
- |
(4) เศรษฐกิจและการคลัง |
6 |
5 |
1 |
(5) สังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย |
648 |
601 |
47 |
รวมทั้งสิ้น |
662 |
614 |
48 |
1.3 ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) เช่น (1) การคัดเลือกศูนย์ข้อมูลข่าวสารโดดเด่น ปี 2565 มีหน่วยงานสมัครเข้าร่วมคัดเลือก จำนวน 118 หน่วยงาน และผ่านเกณฑ์การประเมินฯ จำนวน 45 หน่วยงาน5 (2) โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อพัฒนาเครือข่ายผู้นำชุมชนในส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการในการติดตาม ตรวจสอบ การบริหารจัดการภาครัฐให้มีความโปร่งใส โดยดำเนินการในพื้นที่จังหวัดเชียงราย หนองคาย และอุดรธานี มีผู้นำชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 156 คน (3) โครงการจัดตั้งคลินิกข้อมูลข่าวสารเคลื่อนที่ได้ให้คำปรึกษา แนะนำ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 รวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในรูปแบบออนไลน์ โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 30 หน่วยงาน (4) การเผยแพร่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เผยแพร่บทความและคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 จำนวน 60 เรื่อง (5) การพัฒนาระบบสารสนเทศข้อมูลข่าวสาร เช่น ปรับปรุงเว็บไซต์ของ สขร. ให้บริการระบบศูนย์ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 ผ่านระบบตอบข้อซักถามทางอิเล็กทรอนิกส์ (Webboard) จำนวน 340 เรื่อง และให้คำปรึกษาผ่านอีเมล จำนวน 309 เรื่อง
1.4 การรายงานผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2565) เช่น (1) การแต่งตั้งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ของหน่วยงานส่วนกลางพบว่า ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว คิดเป็นร้อยละ 59.82 ยังไม่ได้ดำเนินการ คิดเป็นร้อยละ 7.68 และไม่ได้รายงาน คิดเป็นร้อยละ 32.50 (2) การจัดแสดงข้อมูลตามเกณฑ์มาตรฐานความโปร่งใสและตัวชี้วัดความโปร่งใสของหน่วยงานของรัฐ (การจัดหาพัสดุ การให้บริการประชาชนการบริหารงาน การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการติดตามประเมินผล) ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค พบว่า ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว คิดเป็นร้อยละ 89.33 อยู่ระหว่างดำเนินการ คิดเป็นร้อยละ 6.67 และยังไม่ได้ดำเนินการ คิดเป็นร้อยละ 4 เนื่องจากยังไม่มีสถานที่เหมาะสมในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร (3) หน่วยงานส่วนภูมิภาคมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือมีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านของผู้มีประโยชน์ได้เสียหรือไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลง/ลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามที่ขอพร้อมแจ้งสิทธิอุทธรณ์ พบว่า หน่วยงานได้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ตามกฎหมาย คิดเป็นร้อยละ 2.67 แต่หน่วยงานส่วนใหญ่ได้มีการปฏิเสธหรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามกฎหมาย คิดเป็นร้อยละ 97.33
1.5 ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ เห็นควรมีการทบทวนปรับปรุงกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ของหน่วยงานของรัฐ โดยควรทำความตกลงร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับ สขร. หรือแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ เพื่อกำหนดประเด็น ศึกษา ข้อกฎหมาย และจัดทำคู่มือแนะนำแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐภายใต้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ และการพิจารณาแก้ไขระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 โดยเพิ่มเติมการรักษาความลับด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์
1.6 แผนงาน/โครงการในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เช่น (1) โครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (2) โครงการทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ประจำปี 2566 (3) โครงการคลินิกข้อมูลข่าวสารเคลื่อนที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (4) โครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นแบบมาตรฐานในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540
___________________
1 จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ได้รับแจ้งว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างเผยแพร่สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติฯ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2 กฎกระทรวงกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 และจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศฯ
3 มาตรา 13 บัญญัติให้ผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ข้อมูลข่าวสาร หรือไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตน หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้นั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ เว้นแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน หรือคำสั่งไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
4 มาตรา 33 บัญญัติให้ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลข่าวสารตามที่มีคำขอ ถ้าผู้มีคำขอไม่เชื่อว่าเป็นความจริงและร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ มีอำนาจเข้าดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องได้และแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ร้องเรียนทราบ
5 ประกอบด้วย ส่วนกลาง 9 หน่วยงาน ส่วนภูมิภาค 27 หน่วยงาน ส่วนท้องถิ่น 2 หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ 6 หน่วยงาน และหน่วยงานอื่น 1 หน่วยงาน โดยหน่วยงานข้างต้นจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณของนายกรัฐมนตรีในงานสัมมนาทางวิชาการประจำปีต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567
2195