รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 February 2024 23:43
- Hits: 7516
รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์น้ำปัจจุบันและการคาดการณ์ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67 อย่างใกลัชิดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้เกิดน้อยที่สุด
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องและขอสรุปสถานการณ์น้ำระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 2567 มีดังนี้
1. สภาพอากาศและการคาดการณ์ฝน
ปัจจุบันพบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง จะอ่อนลงเป็นเอลนีโญกำลังปานกลางในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนด้วยความน่าจะเป็นร้อยละ 73 หลังจากนั้นมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญา
สภาพอากาศ ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทยภาคใต้และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย สำหรับในช่วงวันที่ 5 - 9 ก.พ. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
2. สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ และการคาดการณ์
(1) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาพรวมประเทศ สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567) มีปริมาณน้ำ 57,031 ล้านลูกบาศก์เมตร (69%) น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 4,079 ล้านลูกบาศก์เมตรมีปริมาณน้ำใช้การ 32,819 ล้านลูกบาศก์เมตร (57%) มีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lover Rule Curve)) 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิริกติ์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
(2) การคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง
ต้นฤดูฝน ปี 2567 (วันที่ 1 พ.ค. 67) จะมีปริมาณน้ำ 17,538 ล้าน ลบ.ม. (37%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 17,787 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า 249 ล้าน ลบ.ม.
ต้นฤดูแล้ง ปี 2567/68 (วันที่ 1 พ.ย. 67) จะมีปริมาณน้ำ 30,464 ล้าน ลบ.ม. (64%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 32,849 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า 2,385 ล้าน ลบ.ม.
(3) การคาดการณ์ปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยปี 2567 (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำต่ำสุด Lower Rule Curve) ภาคเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ และอ่างเก็บน้ำทับเสลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงและอ่างเก็บน้ำสิรินธร ภาคตะวันตก 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจานและอ่างเก็บน้ำปราณบุรี ภาคตะวันออก 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชลและอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
3. สถานการณ์แม่น้ำโขง
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต และมีแนวโน้มทรงตัว
4. คุณภาพน้ำ
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสะพานพระพุทธยอดฟ้าอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังค่าความเค็มส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา ในส่วนของแม่น้ำบางปะกง บริเวณสถานีบางกระเจ็ดและบริเวณสถานีบางแตน อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังค่าความเค็มส่งผลกระทบต่อการเกษตร
5. พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมติดตามและประเมินสถานการณ์พื้นที่เฝ้าระวังฯ พบว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ด้านน้ำอุปโภคบริโภค ในเขตความรับผิดชอบของการประปาส่วนภูมิภาค มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 18 สาขา ครอบคลุม 14 จังหวัด ในเขตความรับผิดชอบของการประปาท้องถิ่น มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ครอบคลุม 33 จังหวัด 167 อำเภอ 415 ตำบล ด้านการเกษตร นอกเขตชลประทาน ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำและกรมส่งสริมการเกษตร มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำสำหรับข้าวนาปรัง ครอบคลุม 12 จังหวัด 34 อำเภอ 85 ตำบล และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำสำหรับพืชต่อเนื่อง ครอบคลุม 22 จังหวัด 68 อำเภอ 168 ตำบล และด้านคุณภาพน้ำ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำของแม่น้ำสายหลักเพื่อการผลิตน้ำประปาในพื้นที่รับผิดชอบของการประปานครหลวง ครอบคลุม 3 จังหวัด และในเขตการประปาส่วนภูมิภาค ครอบคลุม 8 สาขา 7 จังหวัด
6. การลงพื้นที่ตรวจราชการ
เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในช่วงฤดูแล้งนี้ อยู่ในช่วงเอลนีโญ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐนตรี ได้มอบมายให้ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ตามมาตรการองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ระหว่างวันที่ 1 -3 กุมภาพันธ์ 2567 ณ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดขอนแก่น จากการลงสำรวจพบว่าในหลายพื้นที่ประสบปัญหาแหล่งน้ำไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดการดูแลรักษา ทำให้มีสภาพตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุม ส่งผลให้มีปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตประปาไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน สทนช. จึงได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่นอกจากนี้ สทนช.ยังได้รับฟังแนวทางความต้องการของประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงน้ำในพื้นที่ โดยพิจารณาแผนงานโครงการเพื่อสนับสนุนงบประมาณต่อไป
7. ผลการถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2566
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ดำเนินการถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2566 ในวันที่ 30 มกราคม 2567 ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้สรุปผลได้ดังนี้ การคาดการณ์ต้องมีการเพิ่มความแม่นยำและความถี่ของการคาดการณ์และเพิ่มรายละเอียดในระดับหมู่บ้าน เพิ่มสถานีการตรวจวัดด้านต่างๆ ในพื้นที่ต้นน้ำ และในลำน้ำที่ยังมีสถานีตรวจวัดไม่เพียงพอ เพิ่มช่องทางและรูปแบบการสื่อสารรวมถึงเพิ่มเครือข่ายในการแจ้งเตือนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ปรับปรุงขั้นตอนการแจ้งเตือนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ให้มีเอกภาพเนื่องจากหลายหน่วยงานได้ออกประกาศไม่สอดคล้องกันทำให้ภาคประชาชนสับสน ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะนำผลการถอดบทเรียนไปปรับปรุงการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในอนาคตต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567
2194