การจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางราชการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนีย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 February 2024 23:41
- Hits: 6889
การจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางราชการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนีย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางราชการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนีย (ลิทัวเนีย) (ร่างความตกลงฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างความตกลงฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ กต. พิจารณาและดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
2. ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงฯ ทั้งนี้ ในกรณีมอบหมายผู้แทน ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามดังกล่าว
(จะมีการลงนามในร่างความตกลงฯ ระหว่างการประชุม Political Consultation ไทย - ลิทัวเนีย ครั้งที่ 4 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ณ กรุงเทพมหานคร)
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า ไทยและลิทัวเนียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2536 และมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประชุมหารือทวิภาคี เป็นกลไกการพัฒนาและติดตามความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยในปี 2565 ไทยและลิทัวเนียมีมูลค่าการค้ารวมกันจํานวน 70.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยมีมูลค่าการส่งออก จํานวน 39.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้าจํานวน 31.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยได้เปรียบดุลการค้าจำนวน 7.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และในช่วงเดือน มกราคม - กรกฎาคม 2566 มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่จำนวน 87.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น จํานวน 47.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 119.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งมูลค่าการส่งออกของไทยที่เพิ่มขึ้นมาจากสินค้าประเภทอากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ ปัจจุบันลิทัวเนียมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ไทยและลิทัวเนียจะมีความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งลิทัวเนียได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีความมั่นคงทางไซเบอร์สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก (จัดลำดับโดย National Cybersecurity Index 20221) นอกจากนี้ลิทัวเนียยังมีความเชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การจัดทำระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี การเงิน และเทคโนโลยีเลเซอร์ทั้งด้านการแพทย์และอุตสาหกรรม ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีได้ โดยฝ่ายลิทัวเนียได้ริเริ่มข้อเสนอการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลิทัวเนีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการปรับแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องและเห็นชอบร่างความตกลงฯ แล้ว
ร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
ข้อตกลง |
(1) ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางราชการที่มีอายุใช้งานได้ของไทยและของลิทัวเนีย จะได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราในการเดินทางเข้า พำนัก เดินทางผ่าน และเดินทางออกจากดินแดนของรัฐผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วันนับจากวันที่เดินทางเข้าในระยะเวลา 180 วัน2 (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลเหล่านั้น จะไม่ทำงานใด ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินกิจการของตนเอง หรือกิจกรรมส่วนตัวใดในดินแดนของรัฐผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง (2) หนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางราชการของคนชาติตามข้อ 1. ต้องมีอายุใช้งานอย่างน้อย 6 เดือน ในวันที่เดินทางเข้าไปในดินแดนของรัฐผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง (3) ผู้ที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราตามความตกลงนี้ สามารถเดินทางเข้า เดินทางผ่าน หรือเดินทางออกจากดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ณ จุดผ่านแดนที่เปิดเพื่อการสัญจรของผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลเหล่านั้นปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละฝ่ายที่ใช้บังคับกับการเดินทางเข้า การเดินทางออก แกะการพำนักของคนต่างชาติ (4) รัฐคู่สัญญาจะต้องแจ้งอีกฝ่ายหนึ่งผ่านของทางการทูตในทันทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของกฎหมายและระเบียบที่ใช้บังคับกับการเดินทางเข้า การเดินทางออก และการพำนักของคนต่างชาติ |
|
การดำเนินการเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง |
(1) รัฐคู่สัญญาจะแลกเปลี่ยนตัวอย่างหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการที่มีอายุใช้งานได้ ผ่านช่องทางการทูตอย่างน้อย 30 วัน ก่อนความตกลงนี้จะมีผลใช้บังคับ (2) ในกรณีที่มีการนำหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการฉบับใหม่มาใช้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการที่มีอยู่ รัฐคู่สัญญาจะต้องจัดส่งตัวอย่างหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่หรือที่มีการเปลี่ยนแปลงให้อีกฝ่ายหนึ่งผ่านช่องทางการทูต อย่างน้อย 30 วันก่อนการเริ่มนำมาใช้ (3) ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการที่ยังมีอายุใช้งานได้หายหรือชำรุดในดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง บุคคลผู้นั้นจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของอีกฝ่ายหนึ่งโดยทันที ผ่านคณะผู้แทนทางการทูตหรือกงสุลของรัฐที่ตนถือสัญชาติ และคณะผู้แทนทางการทูตหรือกงสุลที่เกี่ยวข้องนั้น จะออกหนังสือเดินทางหรือเอกสารเดินทางฉบับใหม่ให้บุคคลดังกล่าวเพื่อเดินทางกลับรัฐที่บุคคลผู้นั้นถือสัญชาติ ตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของรัฐนั้น |
|
การแก้ไข |
ความตกลงนี้อาจได้รับการแก้ไขโดยความเห็นชอบร่วมกันของรัฐคู่สัญญาผ่านการจัดทำพิธีสารหรือหนังสือแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูต |
|
การระงับข้อพิพาท |
ความแตกต่างหรือข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการตีความหรือการดำเนินการตามความตกลงนี้ จะได้รับการระงับอย่างฉันมิตรโดยการปรึกษาหารือหรือการเจรจาระหว่างรัฐคู่สัญญาผ่านช่องทางการทูต |
|
ผลบังคับใช้ |
(1) มีผลใช้บังคับในวันที่ 60 นับจากวันที่ได้รับแจ้งต่อกันเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางการทูต และไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด (2) สามารถยกเลิกความตกลงโดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางการทูต และจะสิ้นสุดการมีผลใช้บังคับใน 90 วันหลังจากวันที่อีกฝ่ายหนึ่งได้รับแจ้งการยกเลิกความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร (3) การระงับการใช้บังคับความตกลงนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ ความสงบเรียบร้อย สาธารณะ หรือสาธารณสุข รัฐผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับวันที่มาตรการดังกล่าว โดยจะมีผลใช้บังคับหรือสิ้นสุดผ่านช่องทางการทูตไม่ช้ากว่า 30 วัน ก่อนที่มาตรการดังกล่าวมีผลใช้บังคับ (4) การระงับการใช้บังคับความตกลงนี้จะไม่กระทบต่อสิทธิของผู้ที่ได้เดินทางเข้าไปในดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง ก่อนการระงับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ |
ประโยชน์ที่ได้รับ: ร่างความตกลงฯ จะช่วยอำนวยความสะดวก และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยน การเยือน และการประสานราชการระหว่างไทยและลิทัวเนีย ตลอดจนสานต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น
กต. แจ้งว่า ร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดพันธกรณีแก่รัฐบาลไทยและรัฐบาลรัฐลิทัวเนียที่จะยกเว้นการตรวจลงตราแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางราชการของแต่ละฝ่าย จึงเข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามแต่ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
_____________________
หมายเหตุ : 1 National Cybersecurity Index เป็นดัชนีชี้วัดระดับของการพัฒนารักษาความมั่นคง ปลอดภัยทางไซเบอร์ของแต่ละประเทศ จัดทำโดยสหภาพโทรคมนาคม (International Telecommunication Union : ITU) ดำเนินการร่วมกับสถาบัน Allied Business Intelligence (ABI Research) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และมีเป้าหมายสูงสุดที่ต้องการทำให้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นวัฒนธรรมของโลก
2การกำหนดระยะเวลาการพำนักได้สูงสุดไม่เกิน 90 วัน ในทุกๆ รอบการเดินทาง 180 วัน เป็นไปตามกฎของสหภาพยุโรปที่ใช้สำหรับกลุ่มข้าราชการที่เดินทางไปราชการระยะสั้นและนักท่องเที่ยว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567
2193