ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 January 2024 23:27
- Hits: 6436
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลเพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมงเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ประกอบด้วย 39 มาตรา สรุปสาระสำคัญดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม
คำว่า “ทะเลชายฝั่ง” หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักร นับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปสามไมล์ทะเล เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจะออกกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งในบริเวณใด มีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเลก็ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเลและไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลโดยให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดแนบท้ายกฎกระทรวงด้วย หรือกรณีพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีข้อจำกัดตามลักษณะทางกายภาพให้สามารถกำหนดเขตทะเลชายฝั่งได้ตามที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเสนอ
(เพิ่มเติมให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเสนอปรับแก้เขตทะเลชายฝั่งให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัดได้)
คำว่า “ประมงพื้นบ้าน” หมายความว่า การทำการประมงในเขตทะเลไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ ที่มิใช่เป็นประมงพาณิชย์ (แก้ไขถ้อยคำเพื่อให้การทำประมงพื้นบ้านมีพื้นที่ทำการประมงไม่จำกัดอยู่เพียงในเขตทะเลชายฝั่งเท่านั้น)
2. กำหนดให้มีการรวบรวมสถิติการประมงเป็นรายปี และเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อทราบ โดยจะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จและเผยแพร่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม ของปีถัดไป (เดิม ไม่ได้กำหนด)
3. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงแห่งชาติ โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ (เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติให้มีความเหมาะสม เช่น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล)
4. แก้ไขเพิ่มเติมที่มาการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประมงแห่งชาติ โดยกำหนดให้มีผู้แทนสมาคมในด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงนอกน่านน้ำไทย ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งสมาคมนั้นๆ มอบหมายด้านละหนึ่งคน ในกรณีที่มีสมาคมด้านนั้นๆ มากกว่าหนึ่งราย ให้รัฐมนตรีออกระเบียบเพื่อดำเนินการคัดเลือกให้เหลือจำนวนเท่าที่กำหนด (เพิ่มเติมในกรณีที่มีสมาคมด้านนั้นๆ มากกว่าหนึ่งราย ให้รัฐมนตรีออกระเบียบเพื่อดำเนินการคัดเลือกให้เหลือจำนวนเท่าที่กำหนด)
5. แก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี (เดิม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระ 2 ปี)
6. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ (เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดให้มีความเหมาะสม เช่น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ทุกจังหวัด เฉพาะจังหวัดชายทะเล ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 13 คน เป็นกรรมการ)
7. แก้ไขเพิ่มเติมคุณลักษณะผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมง ต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย (เดิมไม่ได้กำหนด) และได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ซึ่งการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง พื้นที่การทำการประมง หรือเงื่อนไขอื่นใดที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการการประมง และในกรณีเป็นการทำการประมงโดยใช้เรือประมงให้ออกให้แก่เจ้าของเรือประมง และสำหรับเรือประมงแต่ละลำ (เพิ่มเติมคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตและตัดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลเกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมิได้ ออก เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นไปตามข้อเรียกร้องของชาวประมง)
8. แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมง เช่น 1) เป็นผู้เคยต้อง คำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 114 (บัญญัติว่าการกระทำให้ถือว่าเป็นการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง เช่น ใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง) ยังไม่ถึง 1 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เฉพาะเรือลำที่ถูกใช้ในการกระทำความผิด 2) เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาตทำการประมงเฉพาะเรือลำที่ถูกพักใช้ใบอนุญาต 3) เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงยังไม่พ้น 2 ปีนับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาตเฉพาะเรือลำที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต (เพิ่มเติมเงื่อนไขเฉพาะเรือลำที่ถูกใช้ในการกระทำความผิด ถูกพักใช้ใบอนุญาต ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบมากเกินสมควร)
9. กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ในเขตทะเลหลวงต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมงหรือมีระบบสังเกตการณ์อื่นใด (e-observer) เพื่อรองรับเทคโนโลยีในอนาคต (เดิม กำหนดเพียงมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมง)
10. กำหนดให้การดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมง (เดิม กำหนดห้ามดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงให้ผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต)
11. กำหนดให้ใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน และการทำการประมงนอกเขตพื้นที่ 12 ไมล์ทะเล ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (เพิ่มเติมพื้นที่และห้วงเวลาที่เหมาะสมให้สามารถทำประมงด้วยอวนตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรในเวลากลางคืน)
12. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทกำหนดโทษ เพื่อกำหนดโทษทางอาญาให้เหมาะสม เกิดความเป็นธรรม และได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด รวมทั้งกำหนดให้ยกเลิกการริบเรือประมงที่กระทำความผิดเพื่อให้ชาวประมงสามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงได้เมื่อพ้นระยะเวลาลงโทษ (เดิม กำหนดว่าเมื่อพบการกระทำความผิดร้ายแรง ให้ริบเครื่องมือทำการประมง เรือประมง หรือสิ่งอื่นที่ใช้กระทำความผิด)
13. กำหนดให้ผู้ใดทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 15 ตันกรอสและได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมง และได้รับอาชญาบัตรอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้สามารถโอนไปยังทายาทตามกฎหมายได้ (เพิ่มเติมเพื่อให้ใบอนุญาตของเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 15 ตันกรอส และได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมงสามารถโอนไปยังทายาทตามกฎหมายได้)
14. แก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ฉบับละ 500 บาท โดยเพิ่มเงื่อนไขให้ในการนำเข้าให้เก็บค่าธรรมเนียมกิโลกรัมละไม่เกิน 20 บาท (เดิม กำหนดเพียงอัตรา ฉบับละ 500 บาท)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 มกราคม 2567
1793