รายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 January 2024 23:00
- Hits: 6268
รายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2565 ของอว.
สาระสำคัญ
คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (คณะกรรมการฯ) ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการฯ ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการฯ จัดทำรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2565 (รายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะฯ) เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการขอรับใบอนุญาต การแจ้งสถานที่ดำเนินการ และแจ้งการดำเนินการต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ สรุปผลและจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับพัฒนาการดำเนินงานในระยะต่อไป [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 (พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ) มาตรา 8 (10) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการฯ จัดทำรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การดำเนินการตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการดำเนินการ เช่น (1) จัดทำกฎหมายลำดับรองประกอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทาง วิทยาศาสตร์ฯ จำนวน 31 ฉบับ (2) รับคำขอใบอนุญาตใช้-ผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ มีผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 1,282 คน และผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 3 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ จนถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 10,779 คน โดยมีผู้ผ่านการอบรมผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 10,122 คน และผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 170 คน (3) จัดทำระบบการให้บริการแบบออนไลน์ โดยขับเคลื่อนการพัฒนางานบริการและการสร้างนวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนงานหรือการให้บริการ (e-Service) งานขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ (4) จัดทำแผนกลยุทธ์ว่าด้วยการพัฒนางานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2565-2569 และแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2563-2569 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศ และเป็นแนวทางให้หน่วยงาน องค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นหลักในการจัดทำแผนกลยุทธ์ในการดำเนินการเพื่อพัฒนางานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของแต่ละองค์กรต่อไป (5) ประกาศนโยบายการกำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนางานด้านการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
2. สรุปผลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
เรื่อง |
ผลการดำเนินการ |
|
(1) สถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ |
มีหน่วยงานมาจดแจ้งสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม 1 แห่ง และมีการแจ้งการสร้างหรือใช้สถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์รวม 6 แห่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ จนถึงปัจจุบัน มีสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 303 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยมากที่สุด รองลงมา เช่น การสอน การทดสอบ การผลิตสัตว์ประเภทสัตว์เลี้ยง |
|
(2) สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ |
มีการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 162.80 ล้านตัว แบ่งเป็น สัตว์ทดลอง 64,335 ตัว สัตว์เลี้ยง 1.40 ล้านตัวและสัตว์จากธรรมชาติ 161.33 ล้านตัว โดยสัตว์ที่มีการใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด ได้แก่ แมลงวันและปลา (ทั้งประเภทสัตว์เลี้ยงและจากธรรมชาติ) และสัตว์ทดลองที่นิยมใช้มากที่สุด คือ หนูเมาส์ รองลงมา เช่น หนูแรท หนูตะเภา และกระต่าย |
|
(3) ผู้ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ |
มีผู้ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยื่นขอรับใบอนุญาต 1,282 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-2565 มีผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์รวม 10,779 คน |
|
(4) ผู้ผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ |
มีผู้ผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยื่นขอรับใบอนุญาต 3 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-2565 มีผู้ขออนุญาตผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์รวม 170 คน |
|
(5) ลักษณะงานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้สัตว์ |
มีโครงการที่ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 1,552 โครงการ โดยเป็นโครงการเพื่อการวิจัยมากที่สุด 1,249 โครงการ (ร้อยละ 80) |
|
(6) การดำเนินการนำเข้า ส่งออก นำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ |
- มีการแจ้งนำเข้าสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 12 ครั้ง จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งสิ้น 553 ตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท หนูแฮมเตอร์ และเห็บ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขายและการใช้สัตว์ - มีการแจ้งส่งออกสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 125 ครั้ง จากสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ รวมทั้งสิ้น 86,416 ตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท และยุงก้นปล่องที่ติดเชื้อ พลาสโมเดียมและไม่ติดเชื้อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขาย การตรวจเชื้อ และงานวิจัย |
|
(7) การรายงานการขายสัตว์ทดลองประจำปี |
มีการขายสัตว์ทดลองจากแหล่งผลิตสัตว์ทดลองเพื่อใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 5.71 ล้านตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท กระต่าย หนูตะเภา ไข่ปลอดเชื้อเฉพาะ SPF และไข่ไก่ปลอดเชื้อ โดยสัตว์ที่มีการขายมากที่สุด คือ หนูเมาส์ |
|
(8) การดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ |
มีการแจ้งโครงการเกี่ยวกับดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 15 โครงการ โดยเป็นการสืบสายพันธุ์ 2 โครงการ การสืบสายพันธุ์ เพาะขยายพันธุ์ 7 โครงการ และการเพาะขยายพันธุ์ 6 โครงการ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2559-2565 มีการแจ้งโครงการเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 72 โครงการ |
3. การพัฒนางานการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในระยะต่อไป สรุปได้ ดังนี้
3.1 พัฒนาคุณภาพสัตว์ทดลองทั้งชนิดและปริมาณให้หลากหลายตามความต้องการของผู้ใช้สัตว์ เช่น (1) สนับสนุนแหล่งผลิตภัณฑ์สัตว์ทดลองและบริการ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 แห่ง เป็นภาครัฐ 1 แห่ง คือ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคเอกชน 1 แห่ง คือ บริษัท เอ็มเคลียไบโอรีซอร์ส จำกัด โดยภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนศูนย์ทดลองแห่งชาติในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ผลิตสัตว์ให้ได้คุณภาพและหลากหลายตามความต้องการ (2) ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้า-ส่งออกสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
3.2 พัฒนาสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานตามลักษณะงานที่ใช้ เช่น ทุกหน่วยงานต้องมีแผนพัฒนาสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจน ต้องทบทวนความสำคัญและความจำเป็นของแต่ละสถานที่ดำเนินการและมีการประเมินความเหมาะสมเพื่อประกอบการสนับสนุนงบประมาณ
3.3 ส่งเสริมและพัฒนาวัสดุและอุปกรณ์เพื่อการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เช่น สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การผลิตวัสดุและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพมากขึ้นในประเทศ
3.4 พัฒนาบุคลากร เช่น (1) จัดให้มีหลักสูตรวิชาการเลี้ยงสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในระดับอาชีวศึกษาเพื่อสร้างพนักงานเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพ (2) ให้ความรู้แก่บุคลากรผู้ใช้สัตว์ รวมถึงนักเรียนและนักศึกษาเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สัตว์
3.5 พัฒนาคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการ (คกส.) ให้มีความเข้มแข็งในการกำกับดูแล เช่น จัดอบรมและสัมมนาเพื่อส่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ คกส.
3.6 พัฒนาหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ [สพสว. (วช.)] โดย วช. ต้องจัดสรรอัตรากำลังและสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 มกราคม 2567
1790