แผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 January 2024 22:33
- Hits: 5422
แผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในกรอบวงเงิน 7,884,878,100 บาท ตามนัยมาตรา 6 (3) ของพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 โดยให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมรายละเอียดของกลุ่มเป้าหมายและค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน ตามความจำเป็นอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับเป็นสำคัญ รวมถึงพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินอื่นใดของ กสศ. มาสมทบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน เพื่อให้สอดคล้องตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนของกฎหมายวิธีการงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณจะได้พิจารณารายละเอียดของแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของ กสศ. ให้สอดคล้องกับแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อีกครั้งหนึ่ง ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญ
กสศ. ได้จัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามแนวทางและปฏิทินที่สำนักงบประมาณกำหนด โดยจัดทำเป็นแผนการใช้เงินของ กสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และคณะกรรมการบริหาร กสศ. มีมติ (18 ธันวาคม 2566 และ 15 มกราคม 2567) เห็นชอบแผนการใช้เงินฯ ดังกล่าวแล้ว และให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
1. ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ
(1) แผนการใช้เงินของ กสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลด้านการศึกษาในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยการปฏิรูปการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนตามความถนัด กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยมุ่งเป้าหมายให้จำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout)
(2) แผนการใช้เงินฯ มีความสอดคล้องกับ (ก) ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (ข) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ประเด็นที่ 17 ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม (ค) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม (ง) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา (จ) ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
(3) กสศ. มุ่งเน้นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ทั้งในมิติด้านโอกาสและด้านคุณภาพรวมทั้งแผนกลยุทธ์ กสศ. ปี 2568 - 2570 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
วิสัยทัศน์ “เด็ก เยาวชน และประชาชน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสทุกคน สามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ได้เต็มตามศักยภาพ”
พันธกิจ “เหนี่ยวนำทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”
เป้าประสงค์ ได้แก่ (1) เกิดหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ สำหรับเด็กเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส (2) เกิดต้นแบบการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีทางเลือกและยืดหยุ่นอย่างมีคุณภาพ (3) ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
2. กรอบวงเงิน
แผนการใช้เงินฯ อยู่ภายในกรอบวงเงิน 7,884,878,100 บาท
ผลผลิต/ผลลัพธ์สำคัญ และผลต่อประชาชน/ประเทศ
1. เกิดหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส โดยลดอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งชี้เป้าเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนฯ เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนติดตาม ช่วยเหลือให้สามารถคงอยู่ในระบบการศึกษาและการเรียนรู้ให้เต็มตามศักยภาพ ดังนี้
(1) เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ได้รับการอุดหนุนเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็น และเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาในทุกช่วงระดับชั้นเป็นรายบุคคลตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งการอุดหนุนเงินดังกล่าวเป็นส่วนที่ไม่ซ้ำช้อนกับการสนับสนุนเงินและค่าใช้จ่ายที่หน่วยงานอื่นจัดสรร โดยส่งผลให้ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาและมีการพัฒนาตามศักยภาพ จำนวน 1,359,850 คน
(2) เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ได้รับทุนการศึกษาหรือถูกส่งต่อให้หน่วยงานต้นสังกัดช่วยเหลือ เพื่อศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ และได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถะสูงสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตามศักยภาพ จำนวน 11,363 คน
(3) เยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ ได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงทางเลือกการเรียนรู้ หรือได้รับการพัฒนาทักษะวิชาชีพผ่านเครือข่ายหน่วยจัดการเรียนรู้ และแพลตฟอร์มดิจิทัลร่วมกับนานาชาติ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพ จำนวน 13,500 คน และหน่วยจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 111 แห่ง ได้รับการพัฒนาผ่านการค้นหานวัตกรรมและการสร้างภาคีระดับพื้นที่
2. เกิดต้นแบบการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีทางเลือกและยืดหยุ่นอย่างมีคุณภาพ โดยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพต้นแบบของหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา และหน่วยงานผลิตและพัฒนาครู จำนวน 2,252 แห่ง ส่งผลให้ครู นักจัดการเรียนรู้ และเครือข่ายครูอาสา จำนวน 29,346 คน ได้รับการพัฒนาให้จัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงเกิดระบบนิเวศทางการศึกษาที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนกลุ่มขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนจาก กสศ. เทียบกับกลุ่มอื่นๆ ลดลง
3. ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยเหนี่ยวนำความร่วมมือภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วมและเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนผ่านนวัตกรรมการระดมทรัพยากรและข้อมูล โดยใช้องค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมในการทำงาน เพื่อส่งต่อข้อเสนอเชิงนโยบายและต้นแบบการทำงาน รวมทั้งขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยมุ่งเป้าหมายให้จำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ดังนี้
(1) เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือมีทางเลือกการเรียนรู้และการพัฒนาที่ยืดหยุ่น ตามแผนการดูแลช่วยเหลือรายบุคคล จำนวน 100,000 คน ผ่านกลไกขับเคลื่อนงานพื้นที่เป้าหมายครอบคลุม จำนวน 77 จังหวัดทั่วประเทศ
(2) ตัวแบบระดับพื้นที่ /จังหวัดที่มีการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เกิดเป็นตัวแบบได้ในระดับจังหวัด จำนวน 15 แห่ง ระดับเทศบาล/เมือง จำนวน 8 แห่ง ที่สามารถขยายผลเชิงนโยบายเพื่อความคล่องตัวและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
(3) องค์ความรู้ นวัตกรรม และต้นแบบ สำหรับภาครัฐและสังคม ใช้เป็นแนวทางในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งเน้นการทำงานโดยฐานองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อมุ่งสร้างผลลัพธ์ทวีคูณ (multiplier effect) ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้รับประโยชน์ รวมถึงการนำโครงการต้นแบบหรือผลงานวิจัยและนวัตกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ไปถ่ายทอดสู่ภาคีเครือข่ายเพื่อใช้ขยายผลในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ จำนวน 11 เรื่อง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 มกราคม 2567
1781