ขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 January 2024 22:24
- Hits: 5546
ขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงคมนาคมนำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จํานวน 4 หน่วยงาน 42 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 91,653.3053 ล้านบาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จํานวน 15,627.9411 ล้านบาท ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้
1. กรมทางหลวง จำนวน 37 โครงการ วงเงินรวม 69,877.7053 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 13,975.5411 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 27,728.8116 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จํานวน 27,728.8116 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2571 จำนวน 444.5410 ล้านบาท)
2. กรมทางหลวงชนบท จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 4,920 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จํานวน 984.0000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จํานวน 1,968.0000 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จำนวน 1,968.0000 ล้านบาท)
3. กรมท่าอากาศยาน จำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 1,500.0000 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 300.0000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จํานวน 300.0000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จํานวน 450.0000 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2571 จํานวน 450.0000 ล้านบาท)
4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 15,355.6000 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 368.4000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 2,219.2000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จำนวน 2,219.2000 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2571 จำนวน 2,225.2800 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2572 - 2575 จำนวน 8,323.5200 ล้านบาท)
ทั้งนี้ เห็นควรให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนการดำเนินงานและยืนยันความพร้อมของโครงการดังกล่าว โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด และประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายหรือประชาชนจะได้รับอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 รวมทั้งจัดส่งรายงานเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาโครงการตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
อนึ่ง สำนักงบประมาณมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้
1. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง บางปะอิน ส่วนที่ 1 บางบัวทอง - ลาดหลุมแก้ว ในส่วนของงานโยธา จังหวัดนนทบุรี วงเงิน 4,300 ล้านบาท เป็นโครงการเงินกู้ที่ยังไม่ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนั้น จึงเห็นควรให้กรมทางหลวงประสานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไปด้วย
2. โครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) เป็นโครงการจัดหารถโดยวิธีการเช่าพร้อมการซ่อมแซม บำรุงรักษาและจัดหาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ต้องจัดทำผลการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปในการดำเนินโครงการและเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติก่อนดำเนินโครงการ ดังนั้น จึงเห็นควรให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไปด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 มกราคม 2567
1777