ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศในนามของประเทศสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง กับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงว่าด้วยการสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 January 2024 22:02
- Hits: 5395
ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศในนามของประเทศสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง กับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงว่าด้วยการสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศในนามของประเทศสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)1 กับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง2 (Mekong Institute: MI) ว่าด้วยการสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งให้ผู้แทนที่ กต. มอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญ
กต. รายงานว่า ในคราวประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ACMECS ณ นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมมีมติห็นชอบในหลักการกับข้อเสนอของประเทศไทยในการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS โดยให้มีที่ตั้งอยู่ที่ กต. พร้อมทั้งมอบหมายให้สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางเทคนิคและให้ประเทศไทยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยต่อมา หลังจากที่ได้หารือร่วมกับประเทศสมาชิก ACMECS แล้ว กต. ได้ร่วมกับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงยกร่างบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และขับเคลื่อนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS ในการสนับสนุนภารกิจหลัก 4 ประการ ได้แก่ (1) การวางนโยบาย การวางแผน และการประสานงาน (2) การจัดประชุม (3) การบริหารจัดการโครงการ และ (4) ยุทธศาสตร์การสื่อสาร
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก ACMECS ได้มีหนังสือถึง กต. แจ้งความเห็นชอบให้ กต. เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ในนามของประเทศสมาชิก ACMECS ร่วมกับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงด้วยแล้ว
การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและขับเคลื่อนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราวฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของ ACMECS ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และโอกาสการจ้างงาน รวมถึงลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ตลอดจนส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ
______________________________
1เป็นกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งเมื่อปี 2546 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และโอกาสการจ้างงาน รวมถึงลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และประเทศไทย นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีการผลักดันประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners: DPs) (ประกอบด้วย ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา) ให้เข้ามามีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในอนุภูมิภาคอย่างสอดประสานกัน
2เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ ณ จังหวัดขอนแก่น มีบทบาทในการขับเคลื่อนภารกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างศักยภาพในการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน การขจัดความยากจนให้แก่ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและการส่งเสริมความร่วมมือและการรวมตัวระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคภายใต้กรอบกิจกรรม 3 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาทางการเกษตรและการพาณิชย์ (2) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และ (3) นวัตกรรมและการเชื่อมโยงเทคโนโลยี
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 มกราคม 2567
1773