ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย ครั้งที่ 1
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 January 2024 21:49
- Hits: 5281
ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย ครั้งที่ 1
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลัพธ์การประชุมสภาความร่วมมือชาอุดี – ไทย ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย ร่างข้อริเริ่มความร่วมมือ (Initiative Card) จำนวน 78 ฉบับ ร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมคณะกรรมการร่วม 5 คณะ จำนวน 5 ฉบับ และร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย ครั้งที่ 1 จำนวน 1 ฉบับ
2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการเมืองและการกงสุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะประธานคณะกรรมการด้านความมั่นคงและการทหาร ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในฐานะประธานคณะกรรมการด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการค้า และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการลงทุน ภายใต้สภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมคณะกรรมการร่วมภายใต้สภาความร่วมมือฯ
3. อนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย ครั้งที่ 1 ซึ่งมีกำหนดจัดในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประเทศไทย
4. เห็นชอบให้ประธานคณะกรรมการฝ่ายไทยภายใต้สภาความร่วมมือฯ มีอำนาจหน้าที่ในดำเนินการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน การติดตาม และการรายงานผลการดำเนินการภายใต้คณะกรรมการที่กำกับดูแล เพื่อให้ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภาความร่วมมือฯ โดยเฉพาะร่างข้อริเริ่มความร่วมมือ (Initiative Card) มีผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
5. เห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนัยข้อ 2 และ 3 ต่อไปได้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจำนวนและถ้อยคำของร่างข้อริเริ่มความร่วมมือ (Initiative Card) ตลอดจนถ้อยคำของร่างบันทึกผลการประชุมในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญละไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นขอบไว้ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยกระทรวงการต่งประเทศจะชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
สาระสำคัญ
1) ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม และมีการจัดตั้งคณะกรรมการ (committee) ภายใต้สภาความร่วมมือฯ ในสาขาต่างๆ โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมพิจารณาโครงสร้างองค์กร ขั้นตอนการกำกับดูแล และกลไกการดำเนินงานภายใต้สภาความร่วมมือฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยเข้าร่วมการประชุม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการ 5 คณะ และฝ่ายเลขานุการภายใต้สภาความร่วมมือฯ ดังนี้ (1) คณะกรรมการด้านการเมืองและการกงสุล (Political and Consular Committee) มีกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม (2) คณะกรรมการด้านความมั่นคงและการทหาร (Security and Military Committee) มีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธานฝ่ายไทย และมีกระทรวงมหาดไทยราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นประธานฝ่ายซาอุดีอาระเบีย (3) คณะกรรมการด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (Cultural and Tourism Committee) มีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธานฝ่ายไทย และมีกระทรวงวัฒนธรรมราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นประธานฝ่ายซาอุดีอาระเบีย (4) คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการค้า (Economic and Trade Committee) มีกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานฝ่ายไทย และมีสำนักงานการค้าต่างประเทศราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นประธานฝ่ายซาอุดีอาระเบีย (5) คณะกรรมการด้านการลงทุน (Investment Committee) มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นประธานฝ่ายไทย และมีกระทรวงการลงทุนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นประธานฝ่ายซาอุดีอาระเบีย (6) กรมเลขาธิการสภาความร่วมมือ (Secretariat-General of the STCC) มีกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายปฏิบัติหน้าที่เลขานุการร่วม
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้การรับรองขั้นตอนการกำกับดูแล และกลไกการดำเนินงานของสภาความร่วมมือฯ ซึ่งระบุสาระสำคัญกี่ยวกับขั้นตอนการจัดทำข้อเสนอความร่วมมือของคณะกรรมการแต่ละคณะ และขั้นตอนการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาความร่วมมือฯ ตลอดจนการกำหนดรูปแบบของเอกสารสำคัญที่จะใช้ในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสภาความร่วมมือฯ
2) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน - คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN - GCC Summit) ครั้งที่ 1 ที่กรุงริยาต ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (H.R.H. Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะให้มีการจัดทำแผนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งครอบคลุมมิติความร่วมมือในทุกด้าน โดยอาศัยสภาความร่วมมือฯ เป็นกลไกการขับเคลื่อนการจัดทำแผนความร่วมมือดังกล่าว
3) คณะกรรมการทุกคณะของฝ่ายจัดการประชุมเตรียมการกับสมาชิกคณะกรรมการฝ่ายไทยเพื่อพิจารณาข้อเสนอความร่วมมือในประเด็นที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการและนำข้อเสนอข้างต้นไปหารือกับฝ่ายซาอุดีอาระเบียในการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการของทั้งสองฝ่าย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะนำเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมการทั้ง 5 คณะ ให้ที่ประชุมสภาความร่วมมือฯ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ให้การรับรอง ดังนี้
(1) ร่างข้อริเริ่มความร่วมมือ (Initiative Card) จำนวน 78 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 5 คณะ ของฝ่ายไทยและฝ่ายซาอุดีอาระเบียเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมสภาความร่วมมือฯ
(2) ร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมคณะกรรมการร่วมทั้ง 5 คณะ จำนวน 5 ฉบับ ระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายชาอุดีอาระเบีย โดยมีประธานคณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายของทั้งสองฝ่ายลงนามให้ความเห็นชอบ มีสาระสำคัญสรุปภาพรวมความคืบหน้าของการดำเนินการในระยะที่ผ่านมา ตลอดจนกล่าวถึงร่างข้อริเริ่มความร่วมมือ (Initiative Card) ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้นำเสนอต่อที่ประชุมสภาความร่วมมือฯ
4) นอกเหนือจากร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่นำเสนอโดยคณะกรรมการทั้ง 5 คณะ แล้ว กรมเลขาธิการฯ ของทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการลงนามในร่างบันทึกผลการประชุมของการประชุมสภาความร่วมมือฯ จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายจะลงนามร่วมกัน มีสาระสำคัญกล่าวถึงร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมของคณะกรรมการทั้ง 5 คณะ โดยร่างบันทึกผลการประชุมดังกล่าวจะเป็นเอกสารที่สะท้อนผลลัพธ์การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ให้มีการจัดทำแผนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมขึ้น
ประโยชน์และผลกระทบ
1) ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมเป็นเอกสารที่แสดงเจตจำนงทางการเมืองระหว่างรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายที่จะส่งเสริมความร่วมมือในทุกมิติระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรชาอุดีอาระเบียผ่านการระบุข้อริเริ่มความร่วมมือที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งขับเคลื่อนให้เกิดผลที่จับต้องได้และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน โดยไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ก่อให้เกิดตราสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อคู่ภาคีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
2) การกำหนดข้อริเริ่มความร่วมมือที่ชัดเจนโดยมีการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การกำหนดผลลัพธ์สำคัญ (main deliverables) และกรอบเวลาในการดำเนินการ ตลอดจนกลไกการติดตามผลที่ชัดเจน จะเป็นประโยชน์ในการผลักดันให้ประเด็นต่างๆ เกิดผลเป็นรูปธรรมและคาดหมายความสำเร็จได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 มกราคม 2567
1770