สรุปผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 23 January 2024 23:13
- Hits: 6127
สรุปผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ตามที่เสนอ
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามข้อ 1. และรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทราบต่อไป
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
1. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีเป้าหมายการพัฒนาเป็น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเน้นคุณค่าและเกษตรแนวใหม่ เพื่อสังคมแห่งความสุขและวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
2. ภาพรวมของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล มีศักยภาพหลักในการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก สามารถสร้างรายได้จากภาคบริการมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งที่เป็นคาบสมุทรฝั่งทะเลอันดามัน และมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งบนบกและทะเล มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและหลากหลาย อาทิ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และแหล่งท่องเที่ยวชุมชนรวมทั้งเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน แหล่งทำประมงทะเลและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมูลค่าสูง แหล่งผลิตและแปรรูปพืชเศรษฐกิจปาล์มน้ำมัน ยางพารา และอาหารทะเลเพื่อการส่งออก ตลอดจนเป็นประตูเชื่อมโยงการค้าฝั่งตะวันตกของภาคใต้ (Western Gateway) เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางทะเลกับประเทศกลุ่มบิมสเทค (BIMSTEC) โดยมีประเด็นการพัฒนา ดังนี้ (1) สนับสนุนและพัฒนาการท่องเที่ยวเน้นคุณค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (2) ส่งเสริมการเกษตรยั่งยืนและเกษตรสมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพ และ (3) การพัฒนาสังคมและความมั่นคงในทุกมิติ
3. ผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวม 29 คน มีประเด็นการตรวจราชการสำคัญและข้อสั่งการสรุปได้ ดังนี้
3.1 การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
1) ติดตามผลการดำเนินงานด้านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ณ บริเวณหาดลายัน ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ข้อสั่งการ ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์สนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชนที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเชื่อมโยงกับคาร์บอนเครดิต และการท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งเร่งรัดประชาสัมพันธ์ผลงานให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เพิ่มหลักสูตรที่ตรงตามศักยภาพของพื้นที่ และความต้องการของภาคเอกชน ทั้งในรูปแบบ Degree และ Non-degree รวมถึงการ Upskill และ Reskill เพื่อสร้างทักษะด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
2) ขับเคลื่อนงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) และแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการตามข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ SEC และ Land Bridge รวมถึงสนับสนุนให้มีแหล่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งใหม่ ในรูปแบบการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานในสังกัดและสถาบันอุดมศึกษานำงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
3) ตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดพังงา ข้อสั่งการ ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดทำโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากรด้านการท่องเที่ยว โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 100,000 คน ทั่วประเทศ งบประมาณ 250,000,000บาท และดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในจังหวัดพังงา
4) ตรวจราชการประเด็นเศรษฐกิจสุขภาพและนักท่องเที่ยวปลอดภัย (การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) ข้อสั่งการ ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบและส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สุขภาพของผู้ประกอบการ อาทิ ก๊กซิมบี้แช่แข็ง
3.2 การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของภาคการประมง
1) ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ณ ชุมชนโต๊ะบาหลิว ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ข้อสั่งการ (1) ให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยง เร่งรัดจัดประชุมคณะกรรรมการฯ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และเร่งรัดผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ (2) ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้น้ำฝนเป็นแหล่งในการผลิตน้ำประปาสำหรับชุมชนโต๊ะบาหลิว และ (3) ให้จังหวัดกระบี่ รับเรื่องร้องทุกข์ของชุมชนโต๊ะบาหลิวและชุมชนชาวเลในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ
2) ตรวจเยี่ยมท่าเทียบเรือประมงระนอง องค์การสะพานปลา อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้องค์การสะพานปลาดำเนินการแก้ไขปัญหาอุปสรรคหรือข้อร้องเรียนของชาวประมงในพื้นที่ และเร่งให้ความช่วยเหลือชาวประมง เพื่อส่งเสริมให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดี และให้กรมพัฒนาที่ดินศึกษาแนวทางและดำเนินการลดหรือกำจัดกลิ่นในพื้นที่ท่าเทียบเรือประมงระนอง อาทิ การใช้สารเร่ง พด.6 กำจัดกลิ่นเหม็นในพื้นที่ท่าเทียบเรือ เพื่อสุขลักษณะที่ดี
3) ตรวจเยี่ยมศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง จังหวัดระนอง และตรวจเยี่ยมแรงงานในภาคประมง ข้อสั่งการ ให้กรมการจัดหางานเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมง ตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และเร่งหาแนวทางในการที่จะนำแรงงานประมงมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
3.3 การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
1) ติดตามผลการดำเนินงานด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มพัฒนาอาชีพ บ้านคลองบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ศูนย์อบรมจริยธรรมมุฟตาฮุนญัณนะห์ มัสยิดมิฟตาฮุนญันนะห์ และเครือข่ายปัทมคีรี อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง และกลุ่มเซรามิกบ้านหาดส้มแป้น ตำบลหาดส้มแป้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.ส่วนหน้า) ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมไปช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งให้สถาบันอุดมศึกษาและวิทยาลัยชุมชนในพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชน เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุน แนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
2) เยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการชุมชนยั่งยืนบ้านเกาะสินไหและนิทรรศการมีชีวิต ข้อสั่งการ (1) ให้กรมการพัฒนาชุมชน สนับสนุนแหล่งเงินทุนหรือกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หรือวัสดุอุปกรณ์ เพื่อให้กลุ่มแม่บ้านเกาะสินไหมีเงินทุนและวัสดุอุปกรณ์ในการต่อยอดและพัฒนาสินค้า และเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า อาทิ ช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีผู้นำครอบครัวหรือสมาชิกอยู่ระหว่างการบำบัดรักษายาเสพติด ให้มีรายได้ในการดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่อง (2) ให้กระทรวงมหาดไทยผลักดันการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยนำสินไหโมเดล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยชุมชนมีส่วนร่วมมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการขยายผลให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ และ (3) ให้การประปาส่วนภูมิภาคแก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค อันเนื่องจากบ้านสินไหมีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะ
3) ติดตามการดำเนินงานการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ข้อสั่งการ ดังนี้
3.1) ให้ศึกษาธิการจังหวัดบูรณาการประสานความร่วมมือหน่วยงานการปกครองและหน่วยงานในพื้นที่ในการร่วมกันสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา ให้นำระบบ “ตู้แดง” มาใช้ในการป้องกันเหตุ ให้ตำรวจและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) มาร่วมดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาภาพรวม
3.2) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน โดยผู้เรียนต้องเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” บนแนวทางการทำงาน “3 ท คือ ทำดี ทำได้ ทำทันที” และ “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และการปลูกฝังให้เด็กและบุคลากรทุกคนมีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในความเป็นไทยและยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ และการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ และให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนองจัดทำหลักสูตร “อาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท อศ.กช.” โดยการ บูรณาการหลักสูตรร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่เพื่อให้การดำเนินงานจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน
3.3) ให้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการนำระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (TMS) เพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ครูสามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาได้ด้วยความโปร่งใส เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อลดภาระและขั้นตอนการย้าย
3.4) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการบูรณาการร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการร่วมมือกันทำทวิภาคีเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่มีงานและอาชีพ ได้เพิ่มวุฒิการศึกษาและสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป และผู้เรียนจบได้มีงานทำ
3.5) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการบูรณาการการทำงานและการจัดการเรียน การสอนร่วมกับชุมชน ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงประชาชนในพื้นที่ในการดำเนินโครงการขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ทางทะเลและมหาสมุทรและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ไปสู่การเรียนการสอนในสถานศึกษา
3.6) ให้ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ทะเลชายฝั่ง
3.7) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและยึดถือผลประโยชน์ของชาติ เด็กและเยาวชนของประเทศเป็นสำคัญ
3.8) ให้สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ในพื้นที่ขอความร่วมมือข้าราชการเกษียณอายุราชการที่มีจิตอาสามาเป็น “ครูอาสา” เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนได้มากขึ้น
4) ติดตามการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดกระบี่ ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเร่งดำเนินการสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ขาดแคลนโรงอาหาร บ้านพักครู และมีอาคารเรียนชำรุดทรุดโทรม ในจังหวัดกระบี่เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเร่งด่วน และ (2) ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเร่งดำเนินการสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ต้องการพัฒนาอาคารเรียน ห้องพักครูและอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้า EV ในจังหวัดกระบี่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
5) ติดตามการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดพังงา ข้อสั่งการ
5.1) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (1) เร่งดำเนินการสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ขาดแคลนโรงอาหารในจังหวัดพังงา เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเร่งด่วน และ (2) สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมและเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างแฟลตสำหรับการพักอาศัยของครูในรูปแบบ Community โดยมีครูหลายโรงเรียนมาพักอาศัยอยู่ร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่พักครู ลดภาระครู เพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงาน และสร้างคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยให้กับเพื่อนครู
5.2) ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรมของสถานศึกษาในจังหวัดพังงา เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 6 จังหวัดอันดามัน (Andaman Wellness Economic Corridor)
6) การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน (Sky Doctor) พื้นที่อำเภอเกาะยาว (การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) /การดำเนินการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด (ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน) ข้อสั่งการ (1) ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติดำเนินการเรื่องการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ (Sky Doctor) โดยดำเนินการกระจายสิทธิประโยชน์การเข้าถึงทุกกองทุนให้ครอบคลุม และกำหนดเงื่อนไขข้อบ่งชี้การบริการของการดำเนินการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ (Sky Doctor) กับค่าใช้จ่ายของทุกกองทุนให้ชัดเจน (2) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พิจารณายกระดับหรือเพิ่มศักยภาพหน่วยบริการในพื้นที่อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา โดยให้พิจารณาความเหมาะสมกับภูมิประเทศและบริบทของพื้นที่ที่มีประชากรน้อยกว่าเงื่อนไขที่กำหนดให้สามารถจัดหน่วยปฐมภูมิตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ได้
3.4 การติดตามความคืบหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
1) ตรวจเยี่ยมและรับฟังการแก้ไขปัญหาความมั่นคงชายแดนในพื้นที่ จังหวัดระนอง ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม พร้อมมอบทุนการศึกษา ถุงยังชีพเพื่อการศึกษา และอุปกรณ์กีฬา ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 38 ระนอง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง และหน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 451 ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้กองกำลังเทพสตรี และทัพเรือภาคที่ 3 ดำเนินการ (1) สนับสนุนรัฐบาลในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการช่วยเหลือประชาชน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ เนื่องจากกองทัพเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งด้านกำลังพล และยุทโธปกรณ์ สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว (2) ใช้กลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีอยู่ ทั้งในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค ในการประสานความร่วมมือและพัฒนาความสัมพันธ์กับกำลังทหารของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งดำเนินการลาดตระเวนร่วมตามแนวชายแดน เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อใจและสร้างความเข้มแข็งของกลไกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนร่วมกัน (3) สนับสนุนรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เนื่องจากประชาชนมีความคาดหวัง และเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของกองทัพในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งกองทัพมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งต้นน้ำ (การสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน) กลางน้ำ (การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ตอนใน) และปลายน้ำ (การสนับสนุนรัฐบาลในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด) ทั้งนี้กำลังพลทุกนายจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเด็ดขาด ทั้งเป็นผู้เสพยาเสพติด หรือผู้ค้ายาเสพติด และ (4) หมั่นทบทวนภารกิจและนโยบายที่ได้รับมอบหมายอยู่เสมอ เพื่อให้กำลังพลมีความพร้อมในการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนสามารถเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.5 ประเด็นอื่นๆ (โครงการสำคัญของแต่ละกระทรวง)
1) ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนชุมชนเมืองระนอง ณ โรงเจพงไล้ หมู่ที่ 5 ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พิจารณาทบทวนแนวทางการดำเนินการในเชิงนโยบาย พร้อมรายงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อรับทราบต่อไป (2) ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะของที่ดินชุมชนเมืองระนอง ก่อนการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติและป่าชายเลนตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วรวบรวมส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อรับทราบปัญหา ข้อกฎหมาย และแจ้งกรมธนารักษ์ทราบเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และ (3) ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยืนยันในหลักการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนชุมชนเมืองระนอง โดยการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ (บางส่วน) และให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ดำเนินการตามกฎหมาย และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบการดำเนินงานต่อไป
2) มอบนโยบายผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรของกระทรวงพาณิชย์ และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซื้อขายมังคุดสดของภาคใต้ ข้อสั่งการ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนเรื่องการพัฒนาคุณภาพผลผลิต และเครื่องคัดแยกผลผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันในการเชื่อมโยงเจรจาการค้า รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3) ประชุมหารือกับภาคเอกชนเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดระนองและเยี่ยมชมบูธผู้ประกอบการ SME กลุ่มคลัสเตอร์โกโก้ภาคใต้ ณ ครัวเรอดัง 112/38 ถนนสะพานปลา ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่างรอบด้าน ผ่านการส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักรู้ทางเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ (ตลาดโกโก้) รวมทั้งเพื่อให้เกิดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และการจัดทำเครื่องหมายการค้าในพื้นที่ต่อไป และให้ทั้งสองหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงตลาดด้วยวิทยาการข้อมูลและระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานสินค้าและเครื่องหมายการค้า ฯลฯ ต่อไป โดยให้ สสว. ขยายผลโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) เพื่อช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไป
4) ประชุมและตรวจราชการการขับเคลื่อนงานตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในพื้นที่จังหวัดสตูลประเด็นการพัฒนาด่านการค้าชายแดนและการยกระดับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐติดชายแดนไทยของมาเลเซียสู่การเป็นเมืองคู่แฝด (Twin Cities) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ ด่านศุลกากรวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ข้อสั่งการ ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในพื้นที่ เร่งรัดผลักดันการยกระดับการพัฒนาเมืองคู่แฝด (Twin Cities) ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีและมติ กพต. อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และรายงาน กพต. ทราบเป็นระยะๆ และให้ ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงการต่างประเทศ ประสานข้อมูลในรายละเอียดของการพัฒนาด่านศุลกากรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในพื้นที่และส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ และจัดทำข้อมูลกรอบแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ด่านศุลกากร รวมทั้ง ให้ ศอ.บต. จัดทำแนวทางการผลักดันนกปรอทหัวโขนให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ Soft Power ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเสนอต่อ กพต. ต่อไป
5) ประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ณ ห้องประชุมพนมเบญจา ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกระบี่ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ (สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ) ข้อสั่งการ
5.1) ให้สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน พิจารณาส่งเสริมและดำเนินการ (1) การพัฒนาอาชีพเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ (2) หาช่องทางการตลาดเพื่อรองรับอาชีพสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (3) การทำบัญชี รายรับ รายจ่าย ของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และ (4) ให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่มีหนี้ค้างชำระสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระได้
5.2) ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้การสนับสนุน และแลกเปลี่ยน การประเมินผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน
6) ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนด้านการกงสุลนอกสถานที่ (หน่วยให้บริการกงสุลสัญจร) ในพื้นที่จังหวัดระนอง ณ ยิมเนเซียมเทศบาล อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จัดหน่วยหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ทุกเดือนเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศที่ไม่มีสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวตั้งอยู่
7) ติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ
7.1) ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง ขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ จังหวัดระนอง เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในระดับพื้นที่กับส่วนกลาง เป็นแหล่งข้อมูลในการสร้างความรู้ความเข้าใจ ความตระหนัก และเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นให้กับทุกภาคส่วนต่อไป
7.2) ให้หน่วยงานเจ้าภาพของโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการ มารีน่าชุมชน ยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเรือท่องเที่ยวชุมชนทะเลอันดามัน และ (2) โครงการติดตั้งท่าเทียบเรือลอยน้ำบริเวณอ่าวประมง เกาะหลีเป๊ะ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
7.3) ให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการ โดยให้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์พังงา (ด่านพญาพิพิธ) รองรับการท่องเที่ยวภาคใต้ฝั่งอันดามัน (2) โครงการพัฒนาสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติด้านสัตว์ป่า (3) โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (4) โครงการติดตั้งท่าเทียบเรือลอยน้ำ บริเวณถ้ำมรกต หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง (5) โครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคใต้ฝั่งอันดามัน (จังหวัดระนอง) และ (6) โครงการป่าในเมืองประวัติศาสตร์สงครามโลก ครั้งที่ 2 จังหวัดระนอง
7.4) ให้ทุกหน่วยงานดูแลนักท่องเที่ยวในพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง โดยเตรียมความพร้อมของสถานที่ การดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงวางแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) อย่างเหมาะสม รวมทั้ง ให้ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำด้วย
7.5) ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำแผนเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยให้กรมทรัพยากรธรณี เข้าร่วมดำเนินการกำหนดพื้นที่ และมาตรการที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
7.6) ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งรัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าหรือป่าชายเลนอย่างเข้มงวด โดยเฝ้าระวังและลาดตระเวนอย่างต่อเนื่อง
7.7) ให้กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาขยะทะเล ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ร่วมกับเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
7.8) ให้กรมป่าไม้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ สำรวจและจัดทำพื้นที่จัดการขยะในพื้นที่ป่า โดยเงื่อนไขต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมควบคุมมลพิษ และให้ประสานงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างยั่งยืน
7.9) ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพัฒนาพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง โดยดูแลการก่อสร้าง จัดหาครุภัณฑ์ และพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชน เยาวชน นักท่องเที่ยว เข้ามาศึกษาหาความรู้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
7.10) ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอความร่วมมือชาวประมงและชาวประมงพื้นบ้านทำการประมงอย่างระมัดระวัง ในช่วงฤดูวางไข่ (เดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์) โดยเฉพาะเต่ามะเฟือง ซึ่งขึ้นมาวางไข่ตลอดแนวชายฝั่งด้านตะวันตกของจังหวัดพังงาและภูเก็ต ตลอดจนตรวจตราเครื่องมือประมงที่วางข้ามคืน เพื่อช่วยลดผลกระทบของเครื่องมือประมงต่อเต่าทะเล
7.11) ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมป่าไม้เร่งรัดการก่อสร้างสะพานที่เกาะพยาม ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
8) ตรวจราชการวิสาหกิจชุมชน กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ณ สำนักงานพลังงานจังหวัดระนอง ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้สำนักงานพลังงานจังหวัด ดำเนินการ (1) นำเทคโนโลยีพลังงาน ทั้งด้านการประหยัดพลังงานและด้านพลังงานทดแทน มาเผยแพร่และส่งเสริมการประกอบอาชีพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (2) สร้างความรู้และความเข้าใจในด้านพลังงานที่ถูกต้องให้ประชาชนรับทราบและทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน (3) ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และ (4) สำรวจและจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และขาดแคลนด้านพลังงาน เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนด้านพลังงานทดแทนต่อไป
9) ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการวัดอารามภิรมย์ ณ วัดบ้านหงาว อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการ (1) ติดตามปัญหาเรื่องที่ดินวัดที่ติดปัญหาในกรณีต่างๆ โดยให้ประสานและบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็น ซึ่งควรพิจารณาปัญหาโดยจัดกลุ่มปัญหาตามพื้นที่กลุ่มจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และ (2) ประสานกรรมการของวัดในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) ให้พัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามโครงการอารามภิรมย์ ส่งเสริมการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง จัดทำข้อมูลเพื่อประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยว พร้อมจัดทำแคมเปญเชิญชวนคนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
10) ตรวจเยี่ยมสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดระนอง ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้กรมประชาสัมพันธ์ขยายผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ขยายโอกาส และประเด็นการขับเคลื่อนโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตรวจราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัด เช่น โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Land Bridge) เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน
11) ตรวจติดตามการดำเนินงานของคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) ระนอง และหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง ณ สำนักงานสรรพากรจังหวัดระนอง 381 หมู่ที่ 1 ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานคลังจังหวัดระนองติดตามเร่งรัดให้หน่วยงานตรวจสอบงบประมาณที่เสนอขอรับจัดสรร เพื่อเตรียมการด้านสถานที่ แบบรูปรายการ คุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ และเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้า เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีมีผลใช้บังคับ สามารถลงนามในสัญญาได้ทันที (2) ให้สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ระนองบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศ และการลดค่าธรรมเนียมนำเข้า (3) ให้ด่านศุลกากรระนองบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพารา (4) ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) ดูแลและอำนวยความสะดวก สำหรับลูกค้าประกัน รายที่บริษัทประกันหยุดการประกอบกิจการ
12) ตรวจติดตามโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันนวมินทรมหาราช มาตรการแก้ไขหนี้ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อลูกหนี้รายย่อย ณ ธนาคารออมสิน สาขาระนอง ข้อสั่งการ ให้ธนาคารออมสิน ดำเนินการ (1) เจรจากับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อลดเงินงวดผ่อนชำระ (2) ศึกษาอาชีพของลูกหนี้ เพื่อเปลี่ยนช่วงเวลาการขายผลผลิต ป้องกันราคาสินค้าตกต่ำ และ (3) หาแนวทางช่วยเหลือให้ลูกหนี้ได้ชำระหนี้นอกระบบ
13) ขับเคลื่อนและติดตามการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การแก้ไขหนี้นอกระบบ และติดตามการดำเนินงานตามมาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ณ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการ (1) เข้ารับทราบความต้องการของลูกค้าและผู้ประกอบการ สนับสนุนในส่วนของเงินทุนในการขยายอาชีพและกิจการ (2) ประสานผู้นำชุมชนในพื้นที่และบูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือในการประกอบอาชีพของคนในชุมชนและรายงานความคืบหน้าให้รัฐมนตรีรับทราบ และกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อเพิ่มอาชีพ และรายได้ให้ประชาชนในชุมชน และ (3) เตรียมความพร้อมในการค้นหาแกนนำในการให้ความรู้คู่การตลาด สำหรับอบรมลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการตามโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยปี พ.ศ. 2566 เพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือน และสามารถชำระหนี้ได้เมื่อออกจากโครงการ
14) ตรวจเยี่ยมลูกค้าสินเชื่อโครงการชุมชนซื่อสัตย์และโครงการแก้หนี้ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ณ มัสยิดเราะห์มะห์ หมู่ที่ 3 ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พิจารณาขยายวงเงินสินเชื่อชุมชนซื่อสัตย์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงิน และขอให้ธนาคารพิจารณาหาพันธมิตร เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และดูแลลูกค้าอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะลูกค้ามุสลิม ซึ่งเป็นลูกค้าพันธกิจหลักของธนาคาร และให้ธนาคารพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกค้าโดยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการผ่อนปรนเพื่อลดภาระของลูกค้า
15) ตรวจเยี่ยมและรับฟังข้อเสนอแนะจากชุมชนในพื้นที่ ณ ศูนย์เรียนรู้ตำบลม่วงกลวง (วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลม่วงกลวง) ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ (1) ให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ และชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป (2) ให้กรมการท่องเที่ยวส่งเสริม พัฒนา และยกระดับแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน รวมถึงยกระดับสินค้า บริการ และบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน เพื่อรองรับและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนให้ได้มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และป้ายประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น และ (3) ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยส่งเสริม ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยว ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป
16) ประชุมหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างยั่งยืนบ้านเกาะพยาม ณ ตลาดใต้ม่วง ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยมีข้อสั่งการ
16.1) ให้กรมชลประทานดำเนินการ (1) ขุดลอกอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อ่าวใหญ่) เพื่อให้เกษตรกรมีปริมาณน้ำใช้ในการทำการเกษตรอย่างเพียงพอ และ (2) สร้างระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ รวมถึง การติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่เกาะพยาม
16.2) ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พิจารณา (1) จัดตั้งโรงกำจัดขยะบนพื้นที่เกาะพยาม และ (2) ให้จัดที่ดินเป็นที่ดินชุมชน เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในกิจกรรมเกี่ยวเนื่องสำหรับพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตร
16.3) ให้การยางแห่งประเทศไทย จัดตั้งจุดรับซื้อยางและส่งเสริมการพัฒนายางให้มีคุณภาพ
16.4) ให้กรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกาะพยามและเกาะช้าง เพื่อวางแผนและกำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่เกาะพยามและเกาะช้าง ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
16.5) ให้กรมวิชาการเกษตร สนับสนุนองค์ความรู้และส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร
16.6) ให้กรมปศุสัตว์ส่งเสริมการทำปศุสัตว์โดยสนับสนุนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่รวมทั้งการส่งเสริมพื้นที่ให้เป็นเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้า
17) ตรวจเยี่ยมการดำเนินการของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอันดามันเป็ดพันธุ์ไข่ ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอันดามันเป็ดพันธุ์ไข่ อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้กรมปศุสัตว์สนับสนุนเป็ดพันธุ์กากีแคมเบลล์ ซึ่งเป็นเป็ดพันธุ์ไข่ ที่ให้ไข่ปริมาณมาก มีขนาดใหญ่ และทนทานต่อโรค แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
18) เยี่ยมชมกิจกรรมที่มีการดำเนินการในศูนย์ฝึกปฏิบัติการพัฒนาที่ดิน ณ ศูนย์ฝึกปฏิบัติการพัฒนาที่ดิน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้กรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนและส่งเสริมการขุดบ่อน้ำพร้อมทั้งติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการเกษตร ซึ่งเป็นการลดต้นทุน (ด้านไฟฟ้า) ในการผลิต และให้กรมปศุสัตว์ศึกษาความเป็นไปได้และสนับสนุนการเลี้ยงโคในพื้นที่จังหวัดระนอง และขยายไปยังพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้
19) ตรวจติดตามโครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) MR 8 จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งรัดการดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานและผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม (2) ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร พิจารณามาตรการรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการเข้ามามีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากโครงการ
20) ตรวจติดตามโครงการแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ระนอง – สตูล ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรบูรณาการการทำงานร่วมกับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท รวมถึงหน่วยงานนอกกระทรวง อาทิ หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการท่องเที่ยว สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด อุทยานแห่งชาติต่างๆ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานจังหวัด ภาคประชาชน และภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อร่วมพัฒนาโครงการให้ประสบความสำเร็จ (2) ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และกรมทางหลวงชนบท ร่วมลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจให้กับประชาชนตลอดแนวเส้นทางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการติดตามและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วน
21) ตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ข้อสั่งการ ให้กรมเจ้าท่าและการท่าเรือแห่งประเทศไทยลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อคิดเห็น รวมทั้งความกังวลของประชาชนและชาวประมงในพื้นที่เกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ทั้งประเด็นการเวนคืนที่ดิน ผลกระทบต่อวิถีชีวิต ที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ตามแนวโครงการ โดยต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ทำการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาแก่ประชาชนเพื่อแจ้งข้อมูลโครงการและโอกาสที่จะเกิดขึ้นเมื่อโครงการแล้วเสร็จ เช่น การสร้างงาน สร้างรายได้ รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และประเทศให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ให้กรมเจ้าท่าบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่รวบรวมปัญหาข้อสงสัย ข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่เพื่อรายงานต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมต่อไป
22) ติดตามโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ข้อสั่งการ ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร บูรณาการการบริหารแผนงานโครงการทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแลนด์บริดจ์ ให้มีแผนการพัฒนาที่สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยให้มีการจัดทำแผนงานตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรกำหนด
23) ตรวจเยี่ยมการดำเนินการและแผนการพัฒนาระบบการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี โดยยื่นคำของบประมาณปี พ.ศ. 2568 ต่อไป
24) ตรวจเยี่ยมส่วนอากาศการบินระนองและสถานีเรดาร์ตรวจอากาศระนอง กรมอุตุนิยมวิทยา ข้อสั่งการ ให้กรมอุตุนิยมวิทยาดำเนินการสำรวจตรวจสอบเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจงานด้านพยากรณ์อากาศที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร โดยการเพิ่มพูนทักษะทางด้านวิชาการและวิเคราะห์ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ เพื่อให้สอดรับกับบทบาทและภารกิจของกรมฯ ในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งให้บูรณาการและประสานงานด้านการให้บริการข้อมูลพยากรณ์อากาศกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
25) ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานการขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งสดแช่แข็งไปจำหน่ายต่างประเทศ ข้อสั่งการ (1) ให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สนับสนุนภาคเอกชน อาทิ บริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด ในการเข้าร่วมกิจกรรมแสดงสินค้า การเจรจาธุรกิจ Online และการทำ Business Matching ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจัดคณะผู้แทนเจรจาการค้าสินค้าอาหาร โดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (2) ให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศติดตามความคืบหน้าการศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการทำ FTA ไทย – GCC (Gulf Cooperation Council) รวมถึงความคืบหน้าการเจรจา FTA ไทย – EU โดยความร่วมมือกับประเทศสเปน ซึ่งจะช่วยขยายตลาดกุ้งและอาหารทะเลของจังหวัดระนอง (3) ให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสนับสนุนการเข้าร่วมกิจกรรมของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อาทิ งาน THAIFEX งาน ANUGA และ งาน SIAL (4) ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้คำปรึกษาแนะนำการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กุ้งสดและผลิตภัณฑ์กุ้งสดแช่แข็ง (5) ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนับสนุนการส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจแฟรนไชส์ให้แก่ภาคเอกชนผู้ประกอบการสินค้าโกโก้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน (6) ให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดระนองเชื่อมโยงบริษัทกับเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบโกโก้ในภูมิภาค ผ่านเครือข่ายพาณิชย์จังหวัดแต่ละภาค และหาช่องทางการจำหน่ายเพิ่มเติมในกรุงเทพและปริมณฑล ผ่านการใช้ช่องทางร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในภูมิภาค รวมถึงเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในภูมิภาค และสร้างองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรความรู้เบื้องต้นเพื่อการส่งออก
26) ตรวจติดตามงานจ้างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบในระบบกลุ่มหาดหลักทะเลอันดามันตอนบน (T7) พื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดประพาสและพื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดทะเลนอก ข้อสั่งการ (1) ให้จังหวัดระนองจัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดประพาสและทะเลนอก โดยให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบูรณาการร่วมกันเร่งรัดแก้ไขปัญหา เพื่อขจัดปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม (2) ให้เทศบาลตำบลกำพวน ประสานสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระนอง ในการของบประมาณซ่อมแซมถนนซึ่งเน้นเส้นทางหลักเพื่อแก้ปัญหาให้ชาวประมงอย่างเร่งด่วน (3) ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินภารกิจด้านการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงภารกิจการออกแบบพัฒนาท่าเรือและระบบสาธารณูปการที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาการท่องเที่ยว
27) ประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมเร่งรัดการจัดหาอาคารที่ทำการ บ้านพักข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ รวมทั้ง ยานพาหนะ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้แก่หน่วยงานในพื้นที่อย่างเหมาะสม
28) การเยี่ยมและรับฟังปัญหาของประชาชน ด้านสิทธิและปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ข้อสั่งการ ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประสานความร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในเรื่องของสถานะบุคคล รวมถึง องค์กรภาคีเครือข่าย เพื่อให้ความช่วยเหลือ ดูแล ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและบุคคลไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยต่อไป
29) การประชุมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม (สำนักงานคุมประพฤติและสำนักงานบังคับคดีในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด เรือนจำจังหวัดพังงา เรือนจำจังหวัดภูเก็ต สำนักงาน ป.ป.ส. ภาค 9 และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต) ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เร่งพิจารณาปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดของกองทุนยุติธรรมให้มีสัดส่วนผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมและผู้แทนภาคประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสมยิ่งขึ้น (2) ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เร่งเสนอเรื่องการแก้ปัญหาบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ผู้ประสบปัญหาทางทะเบียน และกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
30) ตรวจเยี่ยมการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ข้อสั่งการ (1) ให้กรมการศาสนา บูรณาการร่วมกับหน่วยงานและเครือข่ายทางวัฒนธรรมในจังหวัดระนองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมเทศกาลประเพณีตักบาตรเทโว ณ “ภูหงาวดาวดึงส์” ชุมชนคุณธรรมฯ วัดบ้านหงาว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติศาสนาและวัฒนธรรมของจังหวัดระนอง (2) ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม บูรณาการร่วมกับหน่วยงานและเครือข่ายทางวัฒนธรรมในจังหวัดระนองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมอาหารท้องถิ่นของจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เพื่อให้เป็น Soft Power ที่สำคัญของภูมิภาค
31) ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีข้อสั่งการ ดังนี้
31.1) ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (สปอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ร่วมกันบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
31.2) ให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ร่วมกันบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมและควบคุมคุณภาพผลผลิตปาล์มก่อนเข้าโรงงาน พร้อมทั้งควบคุมและส่งเสริมให้โรงงานปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันเพื่อยกระดับคุณภาพของวัตถุดิบน้ำยางพาราให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของนักลงทุนและภาคอุตสาหกรรม
31.3) ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและพัฒนาหลักสูตรที่ได้มาตรฐานให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ รวมทั้งมอบหมายให้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สินเชื่อดีพร้อมเพย์ และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ พิจารณาการสนับสนุนสินเชื่อโดยเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อยให้ครอบคลุมมากขึ้น
31.4) ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริม สนับสนุนและยกระดับผลิตภัณฑ์หรือสถานประกอบการให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาด พร้อมทั้งสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน
31.5) ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รับประเด็นการจัดการสิ่งแวดล้อม (กากอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ไม่มีโรงงานกำจัดกากรองรับ) หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ไม่มีโรงงานกำจัดกากรองรับ
31.6) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางพารา
31.7) ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการผลักดันการแก้ไขผังเมืองให้สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการลงทุน รวมทั้ง มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคม/เขตประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่แลนด์บริดจ์ และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน กรมป่าไม้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และกรมชลประทาน เพื่อร่วมกันจัดทำแนวทางการแก้ไขประเด็นปัญหาและเสนอแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมและคำนึงถึงผลได้ผลเสียอย่างรอบด้าน
32) ตรวจเยี่ยมเหมืองดินขาว MRD ติดตามการส่งเสริมผู้ประกอบการเหมืองแร่ พร้อมทั้งรับฟังข้อมูล ปัญหาและอุปสรรค และข้อเสนอแนะของสถานประกอบการ ข้อสั่งการ ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนการประกอบการ ส่งเสริมการยกระดับการทำเหมืองเข้าสู่เหมืองแร่ 4.0 (Mining 4.0) และการสร้างนวัตกรรมจากแร่ พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกระดับบุคลากรและการประกอบการเหมืองแร่อย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืนและมีขีดความสามารถสูงขึ้น
33) ตรวจเยี่ยมท่าเรือจังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่แลนด์บริดจ์ และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน กรมป่าไม้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และกรมชลประทาน เพื่อร่วมกันจัดทำแนวทางในการแก้ไขประเด็นปัญหาและเสนอแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมและคำนึงถึงผลได้ผลเสียอย่างรอบด้าน
34) ตรวจเยี่ยมและติดตามการส่งเสริมผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลสำเร็จรูปแช่แข็งและกึ่งสำเร็จรูปแช่แข็ง รวมถึงอาหารทะเลแช่แข็ง ข้อสั่งการ ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน รวมถึงสถาบันเครือข่ายภายใต้กำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถของสถานประกอบการในพื้นที่อย่างเหมาะสม เพื่อลดต้นทุน ยกระดับผลิตภาพ รวมถึงเพิ่มมูลค่าหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในพื้นที่อย่างยั่งยืน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 มกราคม 2567
1594