ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....(ลักษณะ 2 การบังคับคดี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 January 2015 22:32
- Hits: 2844
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....(ลักษณะ 2 การบังคับคดี
เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รวมร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การบังคับคดี) กับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง) เป็นฉบับเดียวกัน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดประเภทของทรัพย์ที่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เป็นการบังคับคดีกับอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงสังหาริมทรัพย์ไม่มีรูปร่างซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถได้รับชำระหนี้อย่างเต็มสิทธิจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับในคำพิพากษาของศาล
2. กำหนดการใช้สิทธิของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี โดยแยกประเภทของผู้มีส่วนได้เสียอย่างชัดเจน ได้แก่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ เจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือบุคคลที่มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์ที่ถูกบังคับคดี
3. กำหนดให้อำนาจการบังคับคดีและความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและดุลพินิจโดยศาลยุติธรรมเท่านั้น ไม่อาจถูกฟ้องให้ต้องรับผิดต่อศาลปกครองได้ และลดขั้นตอนให้ระยะเวลาในการบังคับคดีมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากศาลก่อน
4. กำหนดให้มีการปรับปรุงอำนาจศาลในการพิจารณาการร้องเพิกถอน การขายทอดตลาด รวมถึงการพิจารณาในประเด็นเรื่องความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
5. กำหนดให้มีการปรับปรุงอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีการบังคับคดีในหนี้กระทำการและหนี้งดเว้นกระทำการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติที่ครบถ้วนสมบูรณ์
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มกราคม 2558