การพิจารณารับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 January 2024 21:34
- Hits: 7290
การพิจารณารับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก จำนวน 41 วัด เป็นวัดคาทอลิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 (ระเบียบฯ) ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ และให้กระทรวงวัฒนธรรมรับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
วธ. รายงานว่า
1. ระเบียบฯ ข้อ 16 ได้กำหนดแนวทางการพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก1 โดยกำหนดให้ภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ (วันที่ 15 มิถุนายน 2564) เมื่อปรากฏว่า มีวัดคาทอลิกอยู่ในวันก่อนที่ระเบียบนี้ใช้บังคับและมิซซัง2 โดยความเห็นชอบของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกต่อคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก (คณะกรรมการฯ) พิจารณาให้ความเห็นประกอบก่อนเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณารับรองวัดคาทอลิกต่อไป
2. มิซซัง โดยความเห็นชอบของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ยื่นแบบคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกต่อกรมการศาสนา จำนวน 360 วัด โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับรองเป็นวัดคาทอลิกตามระเบียบฯ แล้ว จำนวน 204 วัด (มติคณะรัฐมนตรี 23 สิงหาคม 2565, 8 พฤศจิกายน 2565, 21 กุมภาพันธ์ 2566, 16 พฤษภาคม 2566, 23 สิงหาคม 2566) และในครั้งนี้กรมการศาสนาได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็น จำนวน 41 วัด (คงเหลืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ จำนวน 115 วัด) โดยจำแนกเป็นรายจังหวัดได้ จำนวน 9 จังหวัด ดังนี้
จังหวัด |
จำนวนวัด |
ตัวอย่างวัดคาทอลิก |
จังหวัดนครราชสีมา |
13 |
วัดแม่พระฟาติมา (บุญนิมิต) วัดบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง (เขาใหญ่) |
จังหวัดชัยภูมิ |
7 |
วัดพระเยซูเจ้ากลับคืนชีพ (ชัยภูมิ) วัดนักบุญยอแซฟ (หนองไม้งาม) |
จังหวัดบุรีรัมย์ |
5 |
วัดแม่พระแห่งสายประคำศักดิ์สิทธิ์ (บุรีรัมย์) วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์ (นางรอง) |
จังหวัดศรีสะเกษ |
3 |
วัดนักบุญเปโตร (ราศีไศล) วัดนักบุญเปาโลกลับใจ (ขุนหาญ) |
จังหวัดมหาสารคาม |
3 |
วัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ (มหาสารคาม) วัดนักบุญเปโตร (วาปีปทุม) |
จังหวัดร้อยเอ็ด |
2 |
วัดแม่พระมหาชัย (ร้อยเอ็ด) วัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด (มะหรี่) |
จังหวัดยโสธร |
4 |
วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์ (ป่าติ้ว) วัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด (หนองคูน้อย) |
จังหวัดอุบลราชธานี |
3 |
วัดนักบุญเทเรซา (หนองฝาง) วัดพระหฤทัยพระเยซูเจ้า (เขมราฐ) |
จังหวัดมุกดาหาร |
1 |
วัดนักบุญยอห์น อัครสาวก นาตะแบง |
รวม |
41 |
|
3. ประโยชน์ของวัดคาทอลิกที่มีต่อชุมชน/ท้องถิ่นสรุปได้ ดังนี้
(1) เป็นสถานที่สำหรับประกอบศาสนกิจของคริสต์ศาสนิกชน การดำเนินงานด้านศาสนาและสังคมตามจิตตารมณ์ของพระศาสนจักรคาทอลิก
(2) เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้หลักธรรมคำสอนและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของคนในสังคม การพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยมิติทางศาสนา
(3) เป็นสถานที่สาธารณะของคนในชุมชน สถานศึกษา องค์การและหน่วยงานสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ
4. โดยที่ระเบียบฯ กำหนดให้มิซซังฯ ยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกซึ่งเป็นวัดคาทอลิกที่มีอยู่ก่อนวันที่ระเบียบฯ ใช้บังคับ เพื่อให้มีการดำเนินการรับรองวัดคาทอลิกตามขั้นตอนที่ระเบียบฯ กำหนด ซึ่งระยะเวลาการยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกดังกล่าวได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 แต่การรับรองวัดคาทอลิกไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นทุกขั้นตอน วธ. (กรมการศาสนา) จึงได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาดำเนินการรับรองวัดคาทอลิกไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เพื่อให้พิจารณาแนวทางดำเนินการรับรองวัดคาทอลิกหลังสิ้นสุดระยะเวลาสองปีตามที่ระเบียบฯ กำหนด ทั้งนี้ สคก. (คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8) พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า กรณีมิซซังโดยความเห็นชอบของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกต่อกรมการศาสนาภายในกำหนดระยะเวลาสองปีโดยชอบแล้ว กรมการศาสนาและพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมสามารถพิจารณาคำขอดังกล่าวที่ยื่นไว้ และอยู่ระหว่างการพิจารณาต่อไปได้แม้จะพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ 16 แห่งระเบียบฯ และผลการพิจารณาคำขอที่ออกภายหลังระยะเวลาดังกล่าว ไม่มีผลกระทบทางกฎหมายต่อสถานะของวัดคาทอลิกที่จะได้รับการรับรอง ทั้งนี้ วธ. โดยกรมการศาสนาได้รับคอขอให้รับรองวัดคาทอลิกก่อนวันที่ 15 มิถุนายน 2566
5. คณะกรรมการฯ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน) ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ได้พิจารณาคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกทั้ง 41 วัด จำนวน 9 จังหวัด แล้วเห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อที่ 16 แห่งระเบียบดังกล่าว ประกอบด้วย (1) มิซซัง โดยความเห็นชอบของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกนั้น (2) ข้อมูลที่ตั้งวัด (3) ข้อมูลที่ดินที่ตั้งวัดและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน (4) รายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำ ณ วัดคาทอลิก และ (5) ข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก เช่น มีใบอนุญาตหรือใบรับรองการก่อสร้างอาคารหรือเอกสารรับรองความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร วัด/มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบศาสนพิธีและการพำนัก/สถานที่ สิ่งปลูกสร้าง และอุปกรณ์ ซึ่งจำเป็นแก่การประกอบศาสนกิจและการพำนักครบถ้วน/วัดได้ดำเนินงานตามภารกิจของมิซซังในด้านต่างๆ เช่น ด้านอภิบาลคริสตชนและด้านเผยแผ่ธรรมเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงมีมติให้เสนอคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกรวมจำนวน 41 วัด ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้การรับรองตามนัยระเบียบดังกล่าว
_____________________________
1 การรับรองวัดคาทอลิกจะทำให้วัดได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐเพื่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถาน เช่น โครงการเงินอุดหนุนกิจกรรมบูรณะศาสนสถาน รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและการได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีของคริสต์ศาสนิกชนที่บริจาคเงินให้แก่วัด
2 การบริหารของพระศาสนจักรคาทอลิกมีมิซซัง (สังฆมณฑล) เป็นองค์กรหลักและมีบิชอป (มุขนายก) เป็นศาสนบริกร โดยอยู่ภายใต้องค์กรหลักหรือมิซซัง เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย ลักษณ ฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยาม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรี) 16 มกราคม 2567
1390