รายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 January 2024 21:28
- Hits: 7209
รายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบและรับรองแล้ว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้เสนอรัฐสภาเพื่อทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สวทช. ได้ดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ สวทช. ฉบับที่ 7 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2570) มุ่งเน้นการส่งมอบผลงานเพื่อตอบยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 โดยการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) และแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Artificial Intelligence : AI) โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเขตนวัตกรรมเป็นฐานในการขยายผลนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG AI และการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi) จนสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ชุมชน และทุกภาคส่วน ตลอดจนสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ตอบโจทย์ประเทศ และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมีผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้
1. ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญของประเทศโดยเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน BCG Model ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570” ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานสำหรับหน่วยงานต่างๆ ในการร่วมกันขับเคลื่อนวาระแห่งชาตินี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและยั่งยืน โดยมีวิสัยทัศน์ คือ เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและพื้นฟูฐานทรัพยากรจากความหลากหลายทางชีวภาพให้มีคุณภาพที่ดีด้วยการใช้ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้ดำเนินการสนับสนุนข้อมูลผลการดำเนินงานตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้แก่นายกรัฐมนตรีในการนำเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจในการประชุมเอเปค อีกทั้งยังได้เสนอแนวคิดและสนับสนุนข้อมูลประกอบการจัดนิทรรศการเอเปค Thailand BCG ส่งผลให้เป้าหมายกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ Bangkok Goals on BCG Economy เป็นผลงานที่โดดเด่นและได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเอเปค ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในเอเปคอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ถือได้ว่าประเทศไทยสามารถประสบผลสำเร็จในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ มีการดำเนินการวิจัยและพัฒนา โครงการสำคัญตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ BCG Quick Win 8 โครงการ ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ประกอบด้วยโครงการ ดังนี้ (1) การยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road) (2) การยกระดับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านและเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmers) (3) โครงการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยด้วยนวัตกรรม (4) โครงการสร้างแพลตฟอร์มการผลิตอาหารฟังก์ชัน และ Functional Ingredients ในระดับอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง (5) การขยายผลโครงการ Green Industry (GI) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (6) การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจากความหลากหลายทางชีวภาพสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน (7) โครงการการผลิตยาต้านไวรัสเพื่อรองรับการระบาดใหญ่และเพื่อสร้างศักยภาพการผลิตยาภายในประเทศ และ (8) โครงการพัฒนาต้นแบบโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะ (Smart Micro Grid)
2. ดำเนินการจัดทำและผลักดันแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570) โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป้าประสงค์คือการสร้างคนและเทคโนโลยี การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการสร้างผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์มูลค่า 34,860 ล้านบาท และ สวทช. ได้ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของภาคการผลิตและบริการ มูลค่า 14,232 ล้านบาท รวมถึงตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสารวิชาการนานาชาติ 761 บทความ ยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 395 คำขอ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ 323 รายการให้แก่หน่วยงาน 418 หน่วยงาน
3. การสร้างสรรค์ผลงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ประเทศภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและชุมชน นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นที่ประจักษ์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และ AI โดยมีตัวอย่างผลงาน ดังนี้
3.1 ด้านเกษตรและอาหาร : ได้แก่ นวัตกรรมคอปเปอร์ไอออนสำหรับผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีฤทธิ์ยังยั้งเชื้อแบคทีเรีย ชุดตรวจเดกซ์แทรนสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลของโรงงาน การศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารออกฤทธิ์จากนมน้ำเหลืองจากวัว มะนีมะนาว : ผลิตภัณฑ์น้ำมะนาวคั้นสด และผลิตภัณฑ์ Ve-Chick (วีชิค) ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืช (Plant - based chicken) จากห้องปฏิบัติการสู่ผลิตภัณฑ์กินใจ (GIN Zhai)
3.2 ด้านสุขภาพและการแพทย์ : เทคโนโลยี Pseudotyped virus สำหรับประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด 19 และ A-MED Telehealth ระบบอำนวยความสะดวก Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) และแพลตฟอร์มรับเรื่องและจ่ายงานฉุกเฉินทางการแพทย์ระบบดิจิทัล D1669
3.3 ด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ : ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ รามทั้งการประยุกต์ใช้รถโดยสารไฟฟ้าจากองค์ความรู้นักวิจัยไทยพัฒนาโดยภาคเอกชนไทย
3.4 ด้านดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ : Traffy Fondue แพลตฟอร์มแจ้งและติดตามปัญหาเมือง แพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลเสียงน้ำรั่วและโมเดลทางปัญญาประดิษฐ์ผ่านเครือข่ายคลาวด์
4. การพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) สวทช. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้เป็นพื้นที่ดำเนินการขยายผล (Translational research) เพื่อให้ EECi เป็นระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนับสนุนการดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เกิดจากการผสานความร่วมมือระหว่างบริษัทใหญ่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันวิจัย สถาบันศึกษา และภาคประชาสังคม มีการดำเนินการก่อสร้างกลุ่มอาคารเมืองนวัตกรรมภาคตะวันออก EECi Phase 1A แล้วเสร็จโดยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร พนักงาน สวทช. และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ณ วังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาที่เปิดให้บริการ อาทิ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน และโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ เป็นต้น
5. การถ่ายทอดเทคโนโลยีนำผลงานวิจัยสู่การสร้างเสริมขีดความสามารถเกษตรชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน โดยได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน 377 ชุมชน ใน 44 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้/เทคโนโลยี 9,811 คน และพัฒนาทักษะเกษตรกรแกนนำ 901 คน นอกจากนี้ยังมีการยกระดับภาคอุตสาหกรรมโดยการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี มีกลไกสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น เช่น การสนับสนุน SMEs ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (โครงการ ITAP) 346 โครงการ (ใหม่) คิดเป็นมูลค่าโครงการ 304.24 ล้านบาท การตรวจสอบรับรองผลงานวิจัยของผู้ประกอบการไทยเพื่อขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย โดยสำนักงบประมาณได้ประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมแล้ว จำนวนสะสมทั้งสิ้น 614 ผลงาน ดำเนินการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ยื่นขอสิทธิประโยชน์ทางภาษี 200 เปอร์เซ็นต์ 387 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 1,196.33 ล้านบาท
6. การพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (National S & T Infrastructure) ที่ให้บริการด้านเทคนิค วิชาการด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง 5 หน่วยงาน และมีการพัฒนาและยกระดับโครงสร้าพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure) ของ 5 ศูนย์บริการ โดยให้บริการวิเคราะห์และทดสอบแก่หน่วยงานต่างๆ 80,053 รายการ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่า 862 ราย
7. การพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัย พัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าสู่อาชีพนักวิจัยผ่านการสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาโท/ปริญญาเอก/นักวิจัยหลังปริญญาเอก เพื่อสร้างบุคลากรวิจัยกับประเทศ 848 คน และสนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรวิจัยทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงานในห้องปฏิบัติการของศูนย์แห่งชาติ 540 คน ร่วมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม และค่ายวิทยาศาสตร์ มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วม 6,049 คน
8. รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของ สวทช. สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า งบการเงินของ สวทช. ดังกล่าวมีความถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด ดังนี้
หน่วย:ล้านบาท
รายการ |
ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 |
ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 |
1. งบแสดงฐานะการเงิน |
||
(1) สินทรัพย์ | ||
- สินทรัพย์หมุนเวียน | 1,698.66 | 1,952.89 |
- สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน | 8,688.92 | 7,844.14 |
รวมสินทรัพย์ |
10,387.58 |
9,797.03 |
(2) หนี้สิน | ||
- หนี้สินหมุนเวียน |
579.38 |
470.21 |
- หนี้สินไม่หมุนเวียน | 855.16 | 916.53 |
(3) รวมสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน | 1,434.54 | 1,386.74 |
(4) รวมหนี้สินและสินทรัพย์ |
8,953.04 |
8,410.29 |
สุทธิ/ส่วนทุน | 10,387.58 | 9,797.03 |
2. งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน | ||
- รวมรายได้ |
6,942.15 |
7,906.14 |
- รวมค่าใช้จ่าย | 6,686.97 | 6,724.92 |
(1) รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายก่อนต้นทุนทางการเงิน - ต้นทุนทางการเงิน |
255.18 3.07 |
1,181.21 1.86 |
(2) รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ | 252.11 | 1,179.36 |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรี) 16 มกราคม 2567
1389