ขออนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมา เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาและราชอาณาจักรไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 January 2024 20:32
- Hits: 6675
ขออนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมา เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาและราชอาณาจักรไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และราชอาณาจักรไทย (ร่างความตกลงฯ)
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างความตกลงฯ
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสำหรับการลงนามดังกล่าว
4. มอบหมายให้ กต. ดำเนินการจัดทำหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) แจ้งการมีผลใช้บังคับของร่างความตกลงฯ เมื่อ คค. ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันไปยัง กต. ว่าได้ดำเนินกระบวนการต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้เสร็จสมบูรณ์แล้ว (เดิมจะมีการลงนามร่างความตกลงฯ ระหว่างการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ซึ่งมีกำหนดจัดประชุมวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม คค. แจ้งว่า การประชุมดังกล่าวถูกเลื่อนออกไป ทำให้ยังไม่ทราบกำหนดวันลงนาม)
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
1. ร่างความตกลงฯ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางทะเล ระหว่างภาคีร่างความตกลงฯ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการพาณิชยนาวีและการขนส่งทางทะเลในภูมิภาคอ่าวเบงกอล โดยมีขอบเขตการใช้บังคับกับเรือ บริษัทเรือ ลูกเรือ และสินค้าบนเรือ ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (Standard Operating Procedure: SOP) ทั้งนี้ ร่างความ ตกลงฯ กำหนดข้อบทสำหรับเป็นกรอบการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็นในความตกลงฯ |
รายละเอียด |
|
ความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล |
ภาคีร่างความตกลงฯ ต้องร่วมมือเพื่อพัฒนาการค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างกัน ดังนี้ (1) บริษัทเดินเรือของภาคีร่างความตกลงฯ อาจมีส่วนร่วมในการขนส่งสินค้าจากท่าเรือของภาคีอื่น (2) ภาคีร่างความตกลงฯ ต้องปฏิบัติต่อเรือของภาคีอื่นตามที่ปฏิบัติกับเรือของตนในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าภาระท่าเรือและค่าธรรมเนียมอื่น (3) ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลมีสิทธิของประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลตามที่กำหนดในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล |
|
หลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ |
ภาคีร่างความตกลงฯ ต้องปฏิบัติกับเรือ ลูกเรือ และสินค้าของภาคีอื่นเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับเรือของตนในการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ ดังนี้ (1) การเข้าถึงน่านน้ำและท่าเรือ (2) การเข้าใช้ท่าเรือ การขนถ่ายสินค้า และการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกท่าเรือ (3) การขึ้น - ลงเรือของคนประจำเรือ และใบอนุญาตให้เข้าฝั่ง (4) การใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือพาณิชย์ รวมถึงการประกอบการเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง (5) คนประจำเรือที่เดินทางตรงไปยังประเทศที่รับประกันการเข้าประเทศเท่าที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางครอบคลุม |
|
การอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางทะเล |
ภาคีร่างความตกลงฯ ต้องใช้มาตรการที่จำเป็นในการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการขนส่งทางทะเลเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าโดยไม่จำเป็นในท่าเรือต่อเรือของภาคีอื่น รวมทั้งต้องเร่งความเร็วและลดความซับซ้อนในการบริหารงานพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการสาธารณสุขที่ใช้บังคับในท่าเรือ |
|
การให้การยอมรับเอกสารใบสำคัญรับรองของเรือ |
ภาคีร่างความตกลงฯ ต้องให้การยอมรับเอกสารและดำเนินการ ดังนี้ (1) ให้การยอมรับเอกสาร ได้แก่ ใบสำคัญรับรองสัญชาติ ขนาดตันของเรือความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการป้องกันมลพิษ รวมถึงเอกสารการขนส่งอื่นๆ ที่ออกให้โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบของภาคีอื่นตามข้อกำหนดของกฎหมายและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง (2) การตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่าสามารถดำเนินการได้กับเรือที่ปฏิบัติงานภายใต้ความตกลงนี้ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล หรือตามที่ตกลงร่วมกัน โดยภาคีร่างความตกลงฯ ในขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (SOP) (3) เรือที่ปฏิบัติงานภายใต้ความตกลงนี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการเดินเรือ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทั้งนี้ เรือที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศภาคีร่างความตกลงฯ ตกลงร่วมกันในขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (SOP) (4) ใบสำคัญรับรองขนาดตันของเรือตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการวัดขนาดตันของเรือ จะไม่ถูกตรวจซ้ำในท่าเรือของภาคีอื่น เว้นแต่มีเหตุบางประการ (5) การคำนวณค่าภาระท่าเรือและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ให้เป็นไปตามรายละเอียดในใบสำคัญรับรองขนาดตันของเรือ และตามกฎหมายภายในประเทศ |
|
การให้การยอมรับเอกสารของลูกเรือ |
ภาคีร่างความตกลงฯ ต้องให้การยอมรับหนังสือเดินทางและเอกสารระบุตัวตนของคนประจำเรือที่ออกให้แก่ลูกเรือโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบของภาคีอื่นตามที่กำหนดในขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (SOP) และเอกสารรายชื่อลูกเรือ (Crew list) และหนังสือรับรองความปลอดภัยของคนประจำเรือ (Safe manning document) รวมถึงประกาศนียบัตรซึ่งออกให้แก่นายเรือ เจ้าหน้าที่ และลูกเรือ ซึ่งออกตามความในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตรและการเข้ายามสำหรับคนประจำเรือ ค.ศ. 1978 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามที่กำหนดในขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (SOP) |
|
การให้ความช่วยเหลือแก่ลูกเรือ |
ภาคีร่างความตกลงฯ ต้องให้การช่วยเหลือแก่ลูกเรือของภาคีอื่นที่เจ็บป่วยเกิดอุบัติเหตุ ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ทางเภสัชกรรม หรือจากทางโรงพยาบาลที่อยู่ในอาณาเขตของภาคีร่างความตกลงฯ โดยบริษัทเดินเรือ (Shipping company) เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย |
|
การให้ความช่วยเหลือแก่เรือ |
ภาคีร่างความตกลงฯ ให้การช่วยเหลือแก่เรือของภาคีอื่นที่เกยตื้น ประสบอันตรายหรือประสบอุบัติเหตุอื่นใดในดินแดนของภาคีร่างความตกลงฯ โดยชีวิตของลูกเรือและสินค้าบนเรือประสบเหตุต้องได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครองเช่นเดียวกับที่ภาคีร่างความตกลงฯ กระทำให้แก่ลูกเรือในน่านน้ำของตนเอง ทั้งนี้ เรือและสินค้าต้องได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับเรือของภาคีร่างความตกลงฯ นั้น นอกจากนี้ สินค้าที่ถูกขนถ่ายลงจากเรือหรือได้รับการช่วยเหลือโดยภาคีร่างความตกลงฯ จากเรือที่ตกอยู่ในสถานการณ์คับขันไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรกรณีที่สินค้าดังกล่าวไม่ได้มีไว้สำหรับการบริโภคหรือใช้ในดินแดนของภาคีร่างความตกลงฯ นั้น |
|
การดำเนินคดีทางแพ่งและทางอาญา |
หน่วยงานที่รับผิดชอบของภาคีร่างความตกลงฯ ดำเนินการ ดังนี้ (1) อาจช่วยแก้ปัญหาข้อพิพาททางแพ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นในทะเลหรือที่ท่าเรือระหว่างเจ้าของเรือ นายเรือ และลูกเรือ ในประเด็นเกี่ยวกับเงินเดือน ทรัพย์สินส่วนตัวและกิจการบนเรือโดยทั่วไป (2) ไม่ควรใช้เขตอำนาจทางอาญาของรัฐชายฝั่งบนเรือต่างประเทศที่แล่นผ่านทะเลอาณาเขตเพื่อจับกุมบุคคล หรือดำเนินการสอบสวนใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่กระทำบนเรือระหว่างที่เรือแล่นผ่าน (ยกเว้นกรณีอาชญากรรมมีลักษณะเป็นการรบกวนสันติภาพหรือความสงบเรียบร้อยของภาคีคู่สัญญา หรือกรณีเป็นการปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดให้โทษ) (3) บทบัญญัตินี้ไม่กระทบสิทธิของภาคีคู่สัญญาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข การควบคุมทางศุลกากร การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล ความมั่นคงปลอดภัยของเรือ ท่าเรือ ชีวิตมนุษย์ และสิทธิในการขนส่งสินค้า ความปลอดภัยและการพักผ่อนหย่อนใจรวมถึงการรับคนต่างด้าวเข้าดินแดน |
|
คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการขนส่งทางเรือ |
ภาคีร่างความตกลงฯ จัดตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานที่รับผิดชอบของภาคีร่างความตกลงฯ โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น (1) จัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (SOP) เพื่อขออนุมัติจากหน่วยงานที่รับผิดชอบของภาคีร่างความตกลงฯ (2) หารือประเด็นที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการและการประยุกต์ใช้ข้อตกลงนี้และเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับการยกระดับการขนส่งทางทะเล การพัฒนากิจการขนส่งทางเรือ การลดความซับซ้อนและอำนวยความสะดวกการขนส่งทางทะเล ทางลำน้ำและท่าเรือ และให้คำแนะนำที่เหมาะสม (3) หารือและทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (SOP) และเสนอแนะเพื่อขออนุมัติจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมหรือยกเลิกข้อกำหนดใดๆ |
|
การระงับข้อพิพาท |
หากภาคีร่างความตกลงฯ ใดร้องขอ ผู้แทนของหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเจรจาหารือกันอย่างจริงใจและเป็นมิตรตามกำหนดเวลาและสถานที่เพื่อระงับข้อพิพาทหรือปัญหาอื่นใดที่เกิดจากการปฏิบัติตามความตกลงนี้ ทั้งนี้ หากคู่พิพาทไม่สามารถรับข้อเรียกร้องหรือระงับข้อพิพาทได้โดยวิธีการเจรจาหารือ ข้อพิพาทนั้นจะได้รับการระงับผ่านช่องทางทางการทูตต่อไป |
|
การแก้ไขและเพิ่มเติมข้อตกลงฯ |
หากภาคีคู่สัญญาใดมีความประสงค์ที่จะแก้ไขหรือเพิ่มเติมต่อความตกลงนี้ให้แจ้งภาคีคู่สัญญาอื่นทราบเป็นลายลักษณ์อักษร |
|
การมีผลบังคับใช้/การบอกเลิกความตกลง |
(1) ความตกลงนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขการให้สัตยาบันหรือให้การยอมรับของรัฐบาลแห่งภาคีคู่สัญญาโดยเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการภายในประเทศ เมื่อภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายเสร็จสิ้นขั้นตอนกระบวนการภายในประเทศเพื่อการให้สัตยาบันการอนุมัติ หรือการให้การยอมรับความตกลงนี้ ให้ส่งมอบสัตยาบันสารดังกล่าวต่อสำนักเลขาธิการ BIMSTEC (2) ความตกลงนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ภาคีคู่สัญญาอย่างน้อย 4 ฝ่าย ให้สัตยาบันหรือให้การยอมรับความตกลงนี้ โดยความตกลงจะมีผลใช้บังคับเฉพาะระหว่างภาคีคู่สัญญาที่ได้ให้สัตยาบันหรือให้การยอมรับความตกลงนี้เท่านั้น (คค. แจ้งว่าทุกประเทศสมาชิกไม่ขัดข้องต่อร่างความตกลงฯ) (3) ความตกลงนี้จะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี และอาจมีการทบทวนความตกลงเมื่อครบรอบปีที่ 4 มิฉะนั้นจะมีการขยายระยะเวลาออกไป 5 ปี โดยอัตโนมัติ |
2. ประโยชน์และผลกระทบ มีดังนี้
2.1 ร่างความตกลงฯ จะเป็นการสร้างกรอบความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิกที่อยู่ในภูมิภาคอ่าวเบงกอล อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุน อันจะนำไปสู่การยกระดับการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
2.2 ส่งเสริมบทบาทของราชอาณาจักรไทยในสาขาความเชื่อมโยงทางทะเลในเวทีระหว่างประเทศภายใต้บริบทด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปและส่งเสริมสถานะความเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงหลากหลายรูปแบบทั้งทางบกและทางทะเลของราชอาณาจักรไทยที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการกำหนดเป้าหมายและท่าทีด้านความเชื่อมโยงทางทะเลที่ราชอาณาจักรไทยต้องการผลักดันในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในฐานะประเทศผู้นำ (Lead country) ด้านความเชื่อมโยงของกรอบความร่วมมือ BIMSTEC
3. ในการประชุมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือและสรุปร่างความตกลงว่าด้วยการเดินเรือชายฝั่ง ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างความตกลงฯ แล้ว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรี) 16 มกราคม 2567
1381