ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมเซ้าท์ซัมมิท ครั้งที่ 3
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 January 2024 20:19
- Hits: 6713
ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมเซ้าท์ซัมมิท ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
2. ให้ผู้แทนไทยที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมการประชุมเซ้าท์ซัมมิท ครั้งที่ 3 ร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ได้
*ที่ประชุมเซ้าท์ซัมมิท ครั้งที่ 3 กำหนดจะให้การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ในวันที่ 22 มกราคม 2567
สาระสำคัญ
1. การประชุมเซ้าท์ซัมมิท เป็นกลไกการประชุมระดับสูงที่สุดของกลุ่ม 77 และ จีน (Group of 77 and China) ซึ่งเป็นการรวมตัวของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในการผลักดันท่าทีร่วมในเวทีสหประชาชาติ โดยเฉพาะในประเด็นเศรษฐกิจ การพัฒนา และสิ่งแวดล้อม และเพื่อส่งเสริมความมือร่วมมือใต้-ใต้ (South- South Cooperation) จึงเป็นเวทีสำคัญในการติดตามความคืบหน้าและกำหนดทิศทางความร่วมมือของ กลุ่ม 77 และจีน โดยไม่มีวาระการจัดที่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ การประชุมเซ้าท์ซัมมิท ครั้งแรก มีขึ้นเมื่อปี 2543 ที่กรุงฮาวานา สาธารณรัฐคิวบา และครั้งที่ 2 มีขึ้นเมื่อปี 2548 ที่กรุงโดฮา รัฐกาตาร์
2. ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของกลุ่ม 77 และจีนที่จะร่วมมือกันผลักดันประเด็นในเวทีสหประชาชาติและเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ และขยายความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า สถาปัตยกรรมการเงินระหว่างประเทศ การระดมทุนเพื่อการพัฒนา การบริหารจัดการหนี้ สิ่งแวดล้อม การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ การศึกษา การพัฒนาผู้ประกอบการ และการส่งเสริมบทบาทของสตรี
ประโยชน์และผลกระทบ
ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยโดยเฉพาะในสาขาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสนับสนุนการผลักดันประเด็นนโยบายที่ประเทศไทยให้ความสำคัญในเวทีสหประชาชาติ อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างสถาปัตยกรรมการเงินระหว่างประเทศ และการส่งเสริมการระดมทุนเพื่อการพัฒนา นอกจากนี้ การร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จะเป็นการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับกลุ่ม 77 และจีน ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเพิ่มอำนาจการต่อรองของประเทศไทยในการเจรจาในกรอบสหประชาชาติในประเด็นเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรี) 16 มกราคม 2567
1379