การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารสุดท้าย (Draft Final Document) ของการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM Summit) ครั้งที่ 19
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 January 2024 20:15
- Hits: 6565
การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารสุดท้าย (Draft Final Document) ของการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM Summit) ครั้งที่ 19
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารสุดท้ายของการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non - Aligned Movement: NAM) (NAM Summit)1 ครั้งที่ 19 (ร่างเอกสารสุดท้ายฯ) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของร่างเอกสารสุดท้ายฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ก่อนการรับรองขอให้ กต. สามารถใช้ดุลยพินิจดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในการเจรจาและดำเนินการแก้ไข
2. ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของนายกรัฐมนตรีร่วมรับรองเอกสารดังกล่าว
3. หากปรากฏว่า เนื้อหาหรือถ้อยคำของร่างเอกสารสุดท้ายฯ ไม่สอดคล้องกับนโยบายผลประโยชน์ และท่าทีประเทศไทยในสาระสำคัญ แสดงท่าทีเชิงลบหรือมีถ้อยคำรุนแรงประณามประเทศอื่นใด ขออนุมัติให้ กต. มีหนังสือแจ้งข้อสงวน (reservation) หรือแสดงท่าทีที่อธิบายอย่างระมัดระวังถึงเหตุผลของประเทศไทยซึ่งทำให้ไม่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาหรือถ้อยคำดังกล่าวได้ ทั้งนี้ การแจ้งข้อสงวนเป็นแนวทางที่ประเทศไทยปฏิบัติมาโดยตลอด
4. หากอาเซียนเห็นพ้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนร่วมลงนามในหนังสือแจ้งข้อสงวน (reservation) ต่อเอกสารสุดท้ายของการประชุม NAM Summit ครั้งที่ 18 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน (อาเซอร์ไบจาน) เมื่อปี 2562 หรือหนังสืออื่นๆ ที่เป็นการแจ้งท่าทีของอาเซียนต่อถ้อยคำในเอกสารสุดท้ายดังกล่าว ตามแนวปฏิบัติที่ผ่านมาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน ขออนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงนามในหนังสือแจ้งข้อสงวนดังกล่าวเช่นเดียวกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอื่นๆ
(จะมีการรับรองร่างเอกสารสุดท้ายฯ ในการประชุม NAM Summit ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 19 - 20 มกราคม 2567 ณ กรุงกัมปาลา สาธารณรัฐยูกันดา)
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
ร่างเอกสารสุดท้ายฯ ที่ กต. เสนอมาในครั้งนี้ มีสาระส่วนใหญ่เป็นไปตามเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม CoB - NAM ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบแล้ว โดยมีการปรับถ้อยคำเพื่อให้สะท้อนกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเด็นต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 บท ได้แก่ บทที่ 1 ประเด็นระหว่างประเทศ บทที่ 2 ประเด็นการเมืองภูมิภาคและอนุภูมิภาค และบทที่ 3 ประเด็นด้านการพัฒนา สังคม และสิทธิมนุษยชน
ร่างเอกสารสุดท้ายฯ สะท้อนประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญร่วมกัน จึงเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับประเด็นสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย กต. แจ้งว่า ร่างเอกสารสุดท้ายฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
__________________
1 กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2493 - 2503 ขณะที่โลกอยู่ในยุคสงครามเย็นและหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกายังคงเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ การประชุม NAM ครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา เมื่อปี 2497 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศในขณะนั้นซึ่งต่อมามีประเทศได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้นจนนำไปสู่การจัดการประชุม NAM Summit ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2504 ที่กรุงเบลเกรด ยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันคือเซอร์เบีย) ปัจจุบัน NAM มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 120 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มประเทศพัฒนาน้อย กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศเอเชียใต้ และกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไทยเข้าเป็นสมาชิก NAM เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2536
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรี) 16 มกราคม 2567
1377