ข้อเสนอนโยบายการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในประเทศอันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ (Offset)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 January 2024 20:13
- Hits: 6648
ข้อเสนอนโยบายการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในประเทศอันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ (Offset)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการข้อเสนอนโยบายการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในประเทศอันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ (Offset) (ข้อเสนอนโยบาย Offset1)
2. มอบหมายให้ อว. และกระทรวงการคลัง (กค.) ร่วมกันจัดทำกฎกระทรวงหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติตามข้อเสนอนโยบายดังกล่าว
[ไทยจะมีการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ Free Trade Agreement (FTA) “European Union-Thailand Free Trade Agreement: EU-THAILAND FTA” ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม 2567 ณ กรุงเทพมหานคร]
สาระสำคัญของเรื่อง
อว. รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับ EU (14 กุมภาพันธ์ 2566) ผู้แทนจากไทยและ EU ได้มีการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ FTA “EU-THAILAND FTA” ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18-22 กันยายน 2566 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งได้หารือเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดย EU เน้นย้ำให้ไทยต้องเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐบนพื้นฐานของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement Agreement: GPA)2 ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ตามมาตราที่ X.7 หลักการทั่วไป ข้อ 8 เกี่ยวกับประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ โดยห้ามไทยกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการชดเชยให้มีการตอบแทน (Offset) ในทุกขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เช่น การกำหนดเงื่อนไขให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ การให้สิทธิพิเศษกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SME) เฉพาะที่มีสัญชาติไทย การอนุญาตให้ใช้สิทธิทางเทคโนโลยี การลงทุน การแลกเปลี่ยนในทางการค้า และการกระทำหรือการตั้งเงื่อนไขอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
2. ไทยมีกำหนดการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ FTA “EU-THAILAND FTA” ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นการเจรจาข้อตกลงการค้าเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีข้อกำหนดห้ามมีมาตรการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการชดเชยให้มีการตอบแทน (Offset) เว้นแต่ไทยมีนโยบาย Offset ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมก่อนการเจรจาความตกลงดังกล่าวจึงจะสามารถทำข้อสงวนเพื่อขอระยะเวลาในการปรับตัว ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องมีข้อเสนอนโยบาย Offset ก่อนการเจรจาข้อตกลงในวันดังกล่าว
3. ข้อเสนอนโยบาย Offset เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐให้ต้องมีความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานโลกผ่านโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการใช้งบประมาณภาครัฐอย่างคุ้มค่า มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดซื้อจัดจ้างให้มีการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยในระยะยาว
______________________
1 Offset หมายถึง เงื่อนไขหรือการดำเนินการใดๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาดุลการชำระเงินของประเทศ (ดุลการชำระเงิน หมายถึง ผลสรุปของการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ที่มีถิ่นฐานในไทยกับต่างประเทศในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ประกอบด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุน) เช่น การกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ การให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การอนุญาตให้ใช้สิทธิทางเทคโนโลยี การลงทุน การแลกเปลี่ยนในทางการค้า
2 ความตกลง GPA จัดทำขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1994 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1996 ซึ่งเป็นความตกลงหลายฝ่าย โดยประเทศสมาชิก WTO สามารถเลือกที่จะเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายขอบเขตการค้าระหว่างประเทศให้กว้างขวางขึ้นสร้างความเป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ มาตราที่ X.7 หลักการทั่วไป ข้อ 8 มาตรการชดเชย กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อประโยชน์ทางราชการโดยภาคี รวมทั้งหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องไม่แสวงหา พิจารณากำหนด หรือบังคับใช้มาตรการชดเชยใดๆ ในขั้นตอนใดของการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจากการประสานข้อมูลเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 อว. แจ้งว่า มาตราดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง GPA ที่ไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก โดยการดำเนินการครั้งนี้จะเป็นมาตรการหนึ่งที่รองรับการเจรจาเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรี) 16 มกราคม 2567
1376