ขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 09 January 2024 23:23
- Hits: 3743
ขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 รวม 4 ฉบับ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2567 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
ทั้งนี้ ดศ. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 25621 มาตรา 8 (1) และ (4) บัญญัติให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 10 คน ซึ่งสรรหาและแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านสังคมศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านสุขภาพ ด้านการเงิน หรือด้านอื่น ทั้งนี้ ต้องเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับมาตรา 10 วรรคสองและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้คณะกรรมการสรรหาแจ้งรายชื่อประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้นายกรัฐมนตรีประกาศรายชื่อประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 และวันที่ 11 มกราคม 2565 อนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวม 10 คน และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 มกราคม 2565
2. พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 22 วรรคสอง กำหนดว่ากฎหมายที่มิใช่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือยังมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชน ให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ แต่ในกรณีที่บทบัญญัติในเรื่องนั้นให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับได้โดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ระยะเวลาสองปีดังกล่าวคณะรัฐมนตรีจะมีมติขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งปี และต้องมีมติก่อนที่จะครบกำหนดเวลาสองปีดังกล่าว
3. ดศ. ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 รวมทั้งสิ้น จำนวน 22 ฉบับ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 16 ฉบับ อยู่ระหว่างการดำเนินการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำนวน 2 ฉบับ และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรอง จำนวน 4 ฉบับ ดังนี้
3.1 ร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ส่งหรือโอนไปยังต่างประเทศ
3.2 ร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 29 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อการส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศและอยู่ในเครือกิจการหรือเครือธุรกิจเดียวกันเพื่อการประกอบกิจการ หรือธุรกิจร่วมกัน
3.3 ร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 24 (1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับ การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์หรือจดหมายเหตุเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยหรือสถิติซึ่งได้จัดให้มีมาตรการปกป้องที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และตามมาตรา 26 (5) (ง) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการจำเป็นในการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือสถิติ หรือประโยชน์สาธารณะอื่น
3.4 ร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับประวัติอาชญากรรมที่มิได้กระทำภายใต้การควบคุมของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
4. สำหรับบทบัญญัติตามมาตรา 19 วรรคสาม มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มาตรา 30 วรรคห้า มาตรา 31 วรรคสอง มาตรา 33 วรรคห้า มาตรา 34 วรรคสาม มาตรา 38 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 41 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจในการออกกฎหมายลำดับรองโดยให้เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจออกกฎหมายลำดับรองที่จะพิจารณาออกกฎหมายลำดับรองต่อเมื่อเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดเป็นการเพิ่มเติมเท่านั้น ประกอบกับบทบัญญัติเหล่านี้มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลและให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ กรณีตามมาตรา 38 (1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ไม่ใช่บทบัญญัติที่ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชน จึงไม่เข้าข่ายที่จะต้องมีการออกกฎภายในระยะเวลาตามมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แต่เพื่อมิให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดินหรือสิทธิของประชาชน ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้หารือประเด็นดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยแล้ว ดังนั้น จึงเห็นควรขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายสำดับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2567
5. ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า ได้เคยวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาที่หน่วยงานของรัฐต้องออกกฎตามมาตรา 22 ประกอบกับมาตรา 39 (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 (เรื่องเสร็จที่ 1202/2564) ที่บัญญัติให้ต้องออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายได้ภายใน 2 ปี นับแต่ “วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ” นั้น หมายความรวมถึง กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายบางส่วนมีผลใช้บังคับก่อนหรือภายหลังวันที่กฎหมายทั้งฉบับมีผลใช้บังคับ หรือบทบัญญัติบางส่วนจะใช้บังคับเมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น หรือมีผู้มีอำนาจออกกฎขึ้นภายหลังที่กฎหมายฉบับนั้นมีผลใช้บังคับด้วย ซึ่งจะต้องนับระยะเวลาตามมาตรา 22 วรรคสอง แยกต่างหากจากระยะเวลาในการออกกฎตามบทบัญญัติส่วนอื่นของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว โดยหากยังไม่มีผู้มีอำนาจในการออกกฎตามบทบัญญัติของกฎหมายในส่วนใดแล้ว กรณีจึงไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาที่ต้องออกกฎตามบทบัญญัติของกฎหมายในส่วนนั้นได้ ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 การนับระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จะครบกำหนดการดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองดังกล่าว (ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ในวันที่ 11 มกราคม 2567
6. ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นไปอย่างรอบคอบ ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ตลอดจนการพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง หรือออกกฎเพิ่มเติมให้เหมาะสมตามช่วงเวลาและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลสามารถรับรู้หน้าที่ และมาตรฐานที่พึงปฏิบัติตามกฎหมาย คศ. จึงไม่สามารถออกกฎหมายลำดับรองได้ทันภายในระยะเวลาตามที่กำหนด จึงมีความจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2567
_______________
1พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ยกเว้นบทบัญญัติในหมวด 2 หมวด 3 หมวด 5 หมวด 6 และหมวด 7 มีผลบังคับใช้วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 การนับระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรองจะต้องนับแยกจากกัน ซึ่งการออกกฎหมายลำดับรอง ตามมาตรา 24 มาตรา 26 มาตรา 28 และมาตรา 29 เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 แห่งพระราชบัญญัติฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 จะครบกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 มกราคม 2567
1191