ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 09 January 2024 23:20
- Hits: 3498
ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2. กำหนดคำนิยามต่างๆ ได้แก่ การใช้น้ำประเภทที่ 2 การใช้น้ำประเภทที่ 3 ใบอนุญาต คำขอ อธิบดี และหน่วยงาน ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
3. กำหนดให้ใบรับคำขอ ใบอนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต คำขอโอนใบอนุญาต และคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด
4. กำหนดให้การยื่นคำขอ การออกใบรับคำขอ การออกใบอนุญาต การต่ออายุ ใบอนุญาต การโอนใบอนุญาตและการออกใบแทนอนุญาต ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในระหว่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ยื่นคำขอ ฯ ที่ทำการของหน่วยงานหรือสถานที่อื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หรือโดยวิธีการทางไปรษณีย์ตอบรับ
5. กำหนดให้กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รับผิดชอบควบคุมดูแลทรัพยากรน้ำสาธารณะระหว่างกรมชลประทานกับกรมทรัพยากรน้ำ ให้ใบอนุญาตที่ได้ออกให้แก่ผู้รับใบอนุญาตในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นรวมถึงข้อมูลและเอกสารหลักฐานตามใบอนุญาตดังกล่าวโอนไปอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าว และให้หน่วยงานนั้นออกใบอนุญาตฉบับใหม่ให้แก่ผู้รับใบอนุญาต
6. กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 และคำขออื่นๆ ได้แก่ คำขอรับใบอนุญาตและแผนการบริหารจัดการน้ำที่ยื่นมาพร้อมกับคำขอมีรายการ รายละเอียด และสาระสำคัญถูกต้องครบถ้วน ความสอดคล้องกับแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ ความสอดคล้องกับแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ แต่ละลุ่มน้ำ และความสอดคล้องกับแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม แต่ละลุ่มน้ำ ความสอดคล้องกับลำดับความสำคัญของการใช้น้ำในแต่ละลุ่มน้ำ ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนด และปัจจัยอื่นที่จำเป็นต้องคำนึงถึงเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม การบำรุงรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสาธารณะ
7. กำหนดกระบวนการพิจารณาขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต
7.1 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมกับแผนการบริหารจัดการน้ำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือต่อเจ้าหน้าที่ประจำท้องที่ในเขตลุ่มน้ำ ตามแบบคำขอและแผนการบริหารจัดการน้ำที่อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณี โดยระบุวัตถุประสงค์ในการขอรับใบอนุญาตตามลักษณะ หรือรายละเอียดการใช้น้ำให้ชัดเจน พร้อมด้วยข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ
7.2 เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอตรวจสอบคำขอ รวมทั้งข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐาน ถ้าครบถ้วน ให้ออกใบรับคำขอรับใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตไว้เป็นหลักฐาน แต่หากคำขอไม่ครบถ้วนหรือยังขาดข้อมูล ให้แจ้งผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ และในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาต ไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาต หรือไม่จัดส่งข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วน ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไป และให้เจ้าหน้าที่จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
7.3 เมื่อข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐานเพียงพอแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เสนอคำขอรับใบอนุญาตข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐาน พร้อมด้วยความเห็นต่ออธิบดีเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ออกใบรับคำขอรับใบอนุญาต และเมื่ออธิบดีพิจารณาแล้วจะส่งคำขอรับใบอนุญาต ข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐาน ข้อมูลปริมาณน้ำที่อาจอนุญาตได้โดยไม่กระทบต่อสมดุลน้ำพร้อมทำความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่ทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้นตั้งอยู่หรือ กนช. เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ระยะเวลาในการพิจารณาของอธิบดีรวมกับระยะเวลาในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่แล้วต้องไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่ออกใบรับคำขอรับใบอนุญาต
7.4 เมื่อคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือ กนช. ได้รับเรื่องจากอธิบดีแล้ว ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากอธิบดี และให้แจ้งผลให้อธิบดีทราบภายใน 7 วันนับวันที่พิจารณาแล้วเสร็จ เพื่อให้อธิบดีมีคำสั่งอนุญาตและแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบและชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว และให้อธิบดีออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับชำระค่าธรรมเนียม หากผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ประสงค์จะรับใบอนุญาตและให้อธิบดีจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
8. กำหนดอายุใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
8.1 กรณีการใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน ให้มีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 5 ปี
8.2 กรณีการใช้น้ำที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทานภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน และไม่ใช่น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล ให้มีอายุใบอนุญาตตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
ก) กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 ให้มีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 5 ปี
ข) กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำ ประเภทที่ 3 ให้มีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 10 ปี
8.3 กรณีการใช้น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล ให้มีอายุใบอนุญาตตามกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้
ก) กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 ให้มีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 5 ปี
ข) กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 3 ให้มีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 10 ปี
9. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือต่อเจ้าหน้าที่ประจำท้องที่ในเขตลุ่มน้ำ พร้อมด้วยข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ ทั้งนี้ ในการต่ออายุใบอนุญาต ผู้ยื่นคำขอต้องมิได้อยู่ในระหว่างถูกสั่งหยุดการใช้น้ำตามใบอนุญาตไว้เป็นการชั่วคราวหรืออยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต และต้องไม่มีหนี้ค่าใช้น้ำค้างชำระ
10. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขอโอนใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ให้ยื่นคำขอโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือต่อเจ้าหน้าที่ประจำท้องที่ในเขตลุ่มน้ำ โดยระบุวัตถุประสงค์ในการโอนใบอนุญาตให้ชัดเจน พร้อมด้วยข้อมูลและเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ทั้งนี้ ผู้ขอโอนใบอนุญาตจะต้องไม่มีหนี้ค่าใช้น้ำค้างชำระ
11. กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้น้ำ การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต การกำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาต หรือการแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขในใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ โดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงให้ชัดเจน และเมื่อได้รับคำอุทธรณ์แล้ว ให้อธิบดีส่งคำอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป และให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ถือเป็นที่สุด ทั้งนี้ ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ การพิจารณาอุทธรณ์และระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
12. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตและแจ้งข้อมูลโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือต่อเจ้าหน้าที่ประจำท้องที่ในเขตลุ่มน้ำ ตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการชำรุดในสาระสำคัญ สูญหาย หรือถูกทำลาย หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้
13. กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกมิให้นำระยะเวลาในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ และอธิบดีตามที่กำหนดไว้ และระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือ กนช. ตามที่กำหนดไว้มาใช้บังคับ โดยระยะเวลาดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 มกราคม 2567
1190