ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 09 January 2024 23:07
- Hits: 3646
ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า
1. เนื่องจากจากอดีตจนถึงปัจจุบันประชาชน มีการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทาน และไม่ใช่น้ำบาดาลได้อย่างอิสระ ไม่มีการควบคุมจากหน่วยงานรัฐและไม่ต้องจ่ายค่าใช้น้ำ ทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างไม่รู้คุณค่า ส่งผลกระทบต่อปริมาณ และคุณภาพน้ำ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ ประชาชนขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคและเกิดมลภาวะแก่ทรัพยากรน้ำสาธารณะ และผู้ใช้น้ำส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการในการดำเนินกิจการด้านการผลิต การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะที่มิใช่ทางน้ำชลประทานและมิใช่น้ำบาดาล ใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องราคา ทำให้ใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะโดยไม่มีคำนึงว่าน้ำเป็นต้นทุนในการผลิตแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมาการจัดสรรทรัพยากรน้ำและการอนุญาตและควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะได้มีการดำเนินการเฉพาะการใช้น้ำในทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวงและการใช้น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล สำหรับการใช้น้ำอื่นใดที่นอกเหนือจากกฎหมายเฉพาะดังกล่าว ยังไม่มีการดำเนินการขออนุญาตใช้น้ำเนื่องจากยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับที่ชัดเจน
2. พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำสาธารณะ ซึ่งมาตรา 41 ได้แบ่งประเภทของการใช้น้ำออกเป็น 3 ประเภท (1) การใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ (2) การใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ (3) การใช้น้ำประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง ประกอบมาตรา 42 มาตรา 43 และมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฯ บัญญัติให้การใช้น้ำประเกทที่ 1 ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ สำหรับการใช้น้ำในประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 นั้นต้องได้รับใบอนุญาตการใช้น้ำจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และมาตรา 50 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานและไม่ใช่น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล และให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเรียกเก็บค่าใช้น้ำดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 49 ดังนั้น เพื่อให้ผู้ใช้น้ำซึ่งได้รับใบอนุญาตการใช้น้ำตามพระราชบัญญัตินี้ต้องชำระค่าใช้น้ำเพื่อให้ตระหนักรู้คุณค่าของทรัพยากรน้ำ ซึ่งถือเป็นมาตรการกลไกที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาวะโดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำสาธารณะอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการประหยัดน้ำจากกระบวนการใช้น้ำหรือมีการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ในระบบทำให้มีทรัพยากรน้ำสำหรับการจัดสรรน้ำให้ประชาชนได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ทส. จึงมีความจำเป็นต้องยกร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. .... เพื่อกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 และในคราวประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ทส. ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
3. การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ตามร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ทส. ได้นำหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ พ.ศ. .... ซึ่งออกตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ยกร่างและอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ประกอบกับได้พิจารณากรณีตัวอย่างของต่างประเทศ ได้แก่ ข้อบัญญัติของสหภาพยุโรป ประเทศอังกฤษ และประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง ได้แก่ สิงคโปร์และเกาหลีใต้ การกำหนดราคาค่าใช้น้ำของต่างประเทศต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และต้องมีผลให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีหลักการกำหนดอัตราค่าใช้น้ำที่เหมือนกัน ได้แก่ (ก) การคำนวณอยู่บนฐานต้นทุนการก่อสร้างและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม และหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (ข) อัตราค่าใช้น้ำสามารถแตกต่างกันได้ตามประเภทผู้ใช้น้ำ และ (ค) คำนึงถึงความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำและฐานะทางเศรษฐกิจ โดยในการใช้น้ำจะมีทั้งกิจการที่มีการคิดค่าธรรมเนียมการใช้น้ำและที่ได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ อาจมีปัจจัย อื่นๆ ที่นำมาคำนวณประกอบการคิดอัตราค่าน้ำ เช่น ปริมาณแหล่งน้ำ ฤดูกาล และการสูญเสียน้ำ ซึ่งสามารถนำแนวคิดดังกล่าวมากำหนดอัตราค่าใช้น้ำในประเทศไทย
4. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 และแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 แล้ว โดยได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนจำนวน 6 ครั้ง รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 365 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2. กำหนดคำนิยามคำว่า “อัตราค่าใช้น้ำ” หมายความว่า อัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามที่ไม่ใช่จากทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยชลประทาน และไม่ใช่น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาลซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 49 (1) แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561”
3. กำหนดให้ค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 มีอัตรา 0.373 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
4. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่ 2 ชำระค่าใช้น้ำ ดังนี้
4.1 ในกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำไม่เกิน 5,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ให้ชำระตามอัตราค่าใช้น้ำ
4.2 ในกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกินกว่า 5,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนที่เกินให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ของอัตราค่าใช้น้ำ
5. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่ 3 ชำระค่าใช้น้ำ ดังนี้
5.1 ในกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำไม่เกิน 5,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ให้ชำระตามอัตราค่าใช้น้ำ
5.2 ในกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกินกว่า 5,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีแต่ไม่เกิน 10,800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนที่เกินให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ของอัตราค่าใช้น้ำ
5.3 กรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกิน 10,800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนที่เกินให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ของอัตราค่าใช้น้ำ
6. กำหนดให้การคิดค่าใช้น้ำให้คำนวณจากปริมาณน้ำที่มีการใช้จริงที่วัดได้จากเครื่องมือวัดที่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำได้ดำเนินการติดตั้ง หรือในกรณีที่ลักษณะของกิจกรรมการใช้น้ำนั้นไม่สามารถติดตั้งเครื่องมือวัดได้หรือสามารติดตั้งเครื่องมือวัดได้แต่ปริมาณน้ำที่วัดได้ไม่สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีการใช้ประโยชน์จริงในกิจกรรมนั้น ให้คำนวณจากการประเมินปริมาณน้ำที่ใช้ในกิจกรรมนั้นรายปี
7. กำหนดให้กรมทรัพยากรน้ำดำนินการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าใช้น้ำ ทุก 5 ปี และเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาและรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติทราบ และให้มีการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการลุ่มน้ำและผู้เกี่ยวข้องในแต่ละลุ่มน้ำประกอบการพิจารณาด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 มกราคม 2567
1187