การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิก
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 09 January 2024 22:37
- Hits: 3568
การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) (บันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยขออนุมัติให้ กต. พิจารณาและดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
2. ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ
(ไม่กำหนดวันลงนาม)
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเฮลเลนิกประจำประเทศไทยมีหนังสือถึง กต. เสนอให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศไทยกับกรีซ1 โดยปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกันแล้ว มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
กลไกการหารือ |
คู่ภาคีจะจัดตั้งกลไกการหารือภาคีเพื่อทบทวน ขยาย และเสริมสร้างความร่วมมือ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน |
|
ความร่วมมือ/การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ |
- ประเด็นทวิภาคีที่อาจรวมถึงประเด็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และประเด็นทวิภาคีอื่นๆ ที่เป็นข้อกังวลร่วมกัน - ประเด็นภูมิภาคและประเด็นพหุภาคี รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิก - ประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล |
|
กลไกการหารือ |
- ไทยและกรีซจะสลับกันจัดการหารือขึ้นอย่างสม่ำเสมอ หรือจะหารือกันในระหว่างการประชุมขององค์การระหว่างประเทศ การกำหนดวัน สถานที่ และระเบียบวาระการหารือจะถูกกำหนดโดยความเห็นชอบร่วมกันของคู่ภาคีผ่านช่องทางการทูต - ระดับผู้แทนที่เข้าร่วมการหารือจะเป็นระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับคู่ภาคีเห็นชอบร่วมกัน - คู่ภาคีจะสนับสนุนให้คณะผู้แทนการทูต รวมถึงคณะผู้แทนถาวร และผู้แทนในองค์การระหว่างประเทศโดยเฉพาะคณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ รักษาความร่วมมือที่ใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นในประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน |
|
การรักษาความลับ |
ผลลัพธ์ของการหารือจะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ เว้นแต่คู่ภาคีจะตกลงร่วมกันเป็นอย่างอื่น |
|
การแก้ไข |
แก้ไขด้วยความยินยอมร่วมกันของคู่ภาคีเป็นลายลักษณ์อักษร |
|
การระงับข้อพิพาท |
ข้อแตกต่างใดๆ ที่เกี่ยวกับการตีความหรือการบังคับใช้บันทึกความเข้าใจฯ จะได้รับการแก้ไขอย่างฉันมิตรด้วยการหารือระหว่างคู่ภาคีผ่านช่องทางการทูต |
|
ผลบังคับใช้ |
- มีผลใช้บังคับในวันที่ลงนามและจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลาห้าปี เว้นแต่คู่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งยกเลิกไปยังภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยหกเดือนผ่านช่องทางการทูต - บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่มีเจตนาในการก่อให้เกิดสิทธิและข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ |
2. ประโยชน์ที่จะได้รับ : บันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศไทยกับกรีซฉบับแรก ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
3. กต. แจ้งว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และการลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว มิได้ทำให้เกิดผลทางกฎหมาย โดยเป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศเท่านั้น จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
____________________
1 หมายเหตุ: 1 บันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่เป็นรูปธรรมระหว่าง กต. ไทยกับ กต. กรีซ ฉบับแรก
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 มกราคม 2567
1181