สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 January 2024 21:48
- Hits: 1879
สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมผลการวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น
2. มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน
สาระสำคัญของเรื่อง
สปน. รายงานว่า ได้จัดทำสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนที่มีมาถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมผลการวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
1.1 สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชน ที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 11111 รวมทั้งสิ้น 57,399 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ จำนวน 51,204 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 89.21 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 6,195 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 10.79
1.2 หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น มากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้
(1) ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (5,198 เรื่อง)กระทรวงการคลัง (1,665 เรื่อง) กระทรวงคมนาคม (1,409 เรื่อง) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (1,035 เรื่อง) และกระทรวงสาธารณสุข (954 เรื่อง)
(2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (777 เรื่อง) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (700 เรื่อง) การไฟฟ้านครหลวง (454 เรื่อง) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (426 เรื่อง) และการประปาส่วนภูมิภาค (345 เรื่อง)
(3) จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (2,911 เรื่อง) จังหวัดนนทบุรี (818 เรื่อง) ปทุมธานี (721 เรื่อง) สมุทรปราการ (699 เรื่อง) และชลบุรี (624 เรื่อง)
2. การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สรุปได้ ดังนี้
2.1 สถิติจำนวนเรื่องร้องทุกข์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีเรื่องร้องทุกข์ จํานวน 57,399 เรื่อง น้อยกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 10,520 เรื่อง (มีเรื่องราวร้องทุกข์ จำนวน 67,919 เรื่อง)
2.2 ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่
(1) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น การแสดงดนตรีสด การเปิดเพลงเสียงดังของร้านอาหารและสถานบันเทิง การรวมกลุ่มมั่วสุมดื่มสุรา สังสรรค์ช่วงเทศกาล รวม 5,785 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 5,607 เรื่อง (ร้อยละ 96.92)
(2) ไฟฟ้า เช่น ขอให้ขยายเขตการให้บริการไฟฟ้า ขอให้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง ขอให้ลดอัตราค่าไฟฟ้า ขอให้ตรวจสอบการคิดอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติ ขอผันผ่อนการชำระค่าไฟฟ้า รวม 3,575 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 3,309 เรื่อง (ร้อยละ 92.56)
(3) การเมือง เช่น การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งรัฐบาล นโยบายของพรรคการเมือง รวม 2,355 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 2,328 เรื่อง (ร้อยละ 98.85)
(4) โทรศัพท์ เช่น การให้บริการทางโทรศัพท์ของหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรอสายนาน มีการต่อสายไปยังหน่วยงานย่อยภายในหลายครั้ง และคู่สายเต็ม รวม 2,271 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 2,083 เรื่อง (ร้อยละ 91.72)
(5) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนผ่านทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ หลอกลวงให้โอนเงินซื้อสินค้า ให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจ รวม 2,007 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,545 เรื่อง (ร้อยละ 76.98)
(6) น้ำประปา เช่น ขอให้แก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหลหรือไหลอ่อน ขอให้ขยายเขตการให้บริการน้ำประปา ระบบท่อน้ำประปาแตกชำรุด น้ำประปาขุ่นและมีตะกอน รวม 1,716 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,637 เรื่อง (ร้อยละ 95.40)
(7) ถนน เช่น ขอให้ปรับปรุงซ่อมแซมถนนชำรุด ทรุดตัว ซึ่งมีสาเหตุมาจากถนนมีอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน ถนนมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อและมีน้ำท่วมขัง ขอให้ปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์หรือถนนคอนกรีต รวม 1,622 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,409 เรื่อง (ร้อยละ 86.87)
(8) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เสรีภาพ เช่น การขอความช่วยเหลือกรณีการถูกข่มขู่คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกหมิ่นประมาท รวม 1,432 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,294 เรื่อง (ร้อยละ 90.36)
(9) ยาเสพติด เช่น การแจ้งเบาะแสแหล่งจำหน่ายยาเสพติด และแหล่งการเสพยาเสพติด ประเภทยาบ้าและยาไอซ์ รวม 1,334 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,246 เรื่อง (ร้อยละ 93.40)
(10) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น ขอให้นำช้างไทยกลับจาก สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ไม่ควรนำหมีแพนด้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาในประเทศไทย รวม 1,231 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 803 เรื่อง (ร้อยละ 65.23)
3. ข้อจำกัด ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ ดังนี้
3.1 การยื่นเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ประชาชนเลือกใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางไลน์สร้างสุข (@PSC1111) ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกมากที่สุด ประชาชนจึงมีความคาดหวังต่อการแก้ไขปัญหา และการได้รับแจ้งผลความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง จากการประมวลผลข้อมูลพบว่า การแก้ไขปัญหาจากบางหน่วยงานยังมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด บางหน่วยงานไม่แจ้งผลความคืบหน้าการดำเนินการให้ผู้ร้องทราบเป็นระยะ ส่งผลให้ประชาชนยื่นเรื่องร้องทุกข์ไปยังหลายหน่วยงาน
3.2 ปัจจุบันหน่วยงานส่วนใหญ่มีระบบสารสนเทศที่ใช้ในการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ที่ใช้เป็นการเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ส่งผลให้ข้อมูลเรื่องร้องทุกข์มีความซ้ำซ้อน กระจัดกระจาย มีรูปแบบการรายงานผลที่แตกต่างกัน ขาดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเรื่องร้องทุกข์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนยังไม่มีประสิทธิภาพและไม่สะท้อนภาพรวมของประเทศอย่างแท้จริง
3.3 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประเด็นปัญหาที่มีประชาชนร้องเรียน/ร้องทุกข์มากที่สุด คือ ปัญหาเสียงดังรบกวน จำนวน 5,785 เรื่อง ซึ่งเกิดจากสาเหตุ เช่น เสียงดังจากสถานบันเทิง ร้านอาหาร สถานประกอบการ การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ซึ่งเป็นมลพิษทางเสียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต การเรียนรู้ และการทำงานของประชาชน จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า เมื่อประชาชนได้แจ้งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่สามารถไปตรวจสอบที่เกิดเหตุได้ในทันที หรือเมื่อไปถึงสถานที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังขาดอุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจวัดระดับความดังของเสียง จำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ และมีบทลงโทษผู้กระทำผิดไม่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการขาดความตระหนักถึงผลกระทบของการอยู่ร่วมกันในสังคม จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหายังคงเกิดขึ้นซ้ำบ่อยครั้ง อีกทั้งปัญหาดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยขยายระยะเวลาการเปิดให้บริการของสถานบันเทิงใน 4 พื้นที่ท่องเที่ยว นำร่องถึงเวลา 04.00 น. ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาเสียงดังจากสถานบันเทิงจำนวนมาก จึงอาจส่งผลให้มีการร้องเรียน/ร้องทุกข์ในปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย
4. ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน
4.1 กรณีการแก้ไขปัญหาของประชาชนมีความล่าช้า ควรกำหนดให้หน่วยงานระดับกระทรวงเชื่อมโยงฐานข้อมูลเรื่องร้องทุกข์กับศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ให้ครบถ้วนภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ เพื่อประกาศเป็นข้อตกลงระดับการให้บริการ (Service Level Agreement: SLA) ให้ประชาชนทราบ
4.2 กรณีเรื่องร้องเรียนที่เป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ควรมีการดำเนินการเป็นเฉพาะเรื่อง และใช้กลไกของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาร่วมแก้ไขปัญหา แยกเป็นรายประเด็น
4.3 กรณีเสียงดังรบกวนจากสถานบันเทิง เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดรูปแบบ/แนวทาง/ กระบวนงาน/ขั้นตอนในการระงับเหตุ หรือการแก้ไขปัญหาเสียงดังรบกวนของสถานบันเทิง ใน 4 พื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง และขอความร่วมมือให้รายงานสรุปผลการดำเนินการให้ สปน. ทราบทุกไตรมาส เพื่อจะได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป
____________________
1 ได้แก่ (1) สายด่วนของรัฐบาล 1111 (2) ตู้ ปณ. 1111/ไปรษณีย์/โทรสาร (3) ไลน์สร้างสุข (@PSC1111) (4) โมบายแอปพลิเคชัน PSC 1111 (5) จุดบริการประชาชน 1111 และ (6) เว็บไซต์ (www.1111.go.th)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 มกราคม 2567
1023