รายงานสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 และการออกหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอดคล้องกับหลัก
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 January 2024 21:10
- Hits: 1935
รายงานสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 และการออกหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 และการออกหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอและแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. กสม. ได้รับข้อเสนอแนะจากผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 และเรื่องร้องเรียนกรณีขอให้มีการพัฒนากระบวนการคัดกรองบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทยเพื่อมิให้ถูกจับกุมและกักตัวโดยละเมิดสิทธิมนุษยชน
2. กสม. ได้ประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวและประกาศคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ลงวันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขหลายประการ (เช่น คนต่างด้าวที่มีมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะจะเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ) ที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน (ใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม) จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว และการออกหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี
3. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ว่า เมื่อได้รับข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว ให้รายงานรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิจารณาสั่งการให้มีหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของ กสม. ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้รายงานสรุปผลการพิจารณาในภาพรวมต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ ตช. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ ตช. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้ สลค. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ตช. รายงานว่า ได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของ กสม. (ตามข้อ 3) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กต. มท. ยธ. รง. สมช. สคก. และ อส. แล้ว เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ซึ่งมีผลการพิจารณาสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ลงวันที่ 14 มีนาคม 2566 ข้อ 2 และข้อ 51 โดยไม่นำคุณสมบัติเกี่ยวกับการเป็นคนต่างด้าวที่ มท. มีมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ และการเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ หรือที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดเพิ่มเติมมาตัดสิทธิในการยื่นคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง และคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง แต่จะต้องพิจารณาจากเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหารเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อมิให้ขัดต่อหลักการห้ามผลักดันส่งกลับไปสู่อันตราย |
เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการฯ ข้อ 2 และข้อ 5 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ข้อ 5 ข้อ 17 และข้อ 18 เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้เริ่มดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ โดยเห็นควรดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้มีการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ประกาศและข้อกำหนดคณะกรรมการฯ นั้นไปสักระยะเวลาหนึ่งก่อน เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรค 2. ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตช. ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ มีหน้าที่และอำนาจรวบรวม ศึกษา วิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนา ปัญหาและอุปสรรคที่มีต่อการดำเนินงานตามระเบียบนี้ ตลอดจนจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขและป้องกันปัญหาเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ข้อ 14 (3) และให้รับข้อเสนอแนะของ กสม. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป |
|
2. ให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนฺตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 ข้อ 17 ให้สามารถอุทธรณ์ผลการพิจารณาคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองต่อคณะกรรมการฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาเนื่องจากคนต่างด้าวอาจมีข้อจำกัดในการยื่นอุทธรณ์ เช่น ข้อจำกัดด้านภาษา กฎหมาย หรือการจัดเตรียมเอกสารประกอบ การอุทธรณ์การกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ 15 วัน อาจไม่เพียงพอ โดยอาศัยเทียบเคียงกับระยะเวลาการอุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลปกครองตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครองและเป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 21/2564 ที่เห็นว่า การกำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไว้เพียง 15 วัน เป็นการให้น้ำหนักแก่หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะของคำสั่งทางปกครองมากกว่าหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ถูกกระทบจากคำสั่งทางปกครอง และเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปอาจทำให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเสียสิทธิอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครอง และส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิทางศาล หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 44 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 (เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประจำปี พ.ศ. 2564) มอบหมายให้ สคก. ศึกษาเกี่ยวกับระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ตามข้อเสนอแนะของศาสรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว |
||
3. ให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ข้อ 18 โดยกำหนดให้มีข้อยกเว้นกรณีคนต่างด้าวมีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่ได้ยื่นคำขอเป็นผู้ใด้รับการคุ้มครองต่อคณะกรรมการๆ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เนื่องจากการพิจารณาให้ความคุ้มครองแก่คนต่างด้าวจะต้องพิจารณาจากเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหารเป็นสำคัญ |
||
4. ให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ข้อ 5 องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ โดยกำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 6 คน จากภาคประชาสังคมและนักวิชาการ อย่างละ 3 คน เพื่อให้มีสัดส่วนสมดุลกับกรรมการโดยตำแหน่ง สำหรับตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการฯ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างรอบด้าน |
__________________
1 อาศัยอำนาจตามความในข้อ 9 (1) และข้อ 20 วรรคหนึ่งของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 มกราคม 2567
1021