รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการคุ้มครองสิทธิเด็ก กรณีการเข้าถึงบริการสุขภาพของทารกที่คลอดก่อนกำหนด
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 January 2024 21:02
- Hits: 1814
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการคุ้มครองสิทธิเด็ก กรณีการเข้าถึงบริการสุขภาพของทารกที่คลอดก่อนกำหนด
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการคุ้มครองสิทธิเด็ก กรณีการเข้าถึงบริการสุขภาพของทารกที่คลอดก่อนกำหนด ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
สาระสำคัญ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับระบบการส่งต่อทารกที่คลอดก่อนกำหนดส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็กในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในการอยู่รอดและการพัฒนารวมถึงสิทธิในการเข้าถึงการบริการสุขภาพ จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองเด็กและสิทธิด้านสุขภาพเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอรายงานสรุปผลการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อข้อเสนอแนะดังกล่าว สรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ |
สรุปผลการพิจารณา |
|
1. ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทารกคลอดก่อนกำหนดให้สามารถเบิกได้และสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพื่อโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ต้องส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลของรัฐที่ดูแลทารกดังกล่าวไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ไม่สามารถเบิกได้ |
● สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ระหว่างการรวบรวมและพิจารณาข้อเท็จจริงของปัญหาการดูแลรักษาทารกที่คลอดก่อนกำหนด และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพิจารณาทางเลือกวิธีการและอัตราจ่าย และจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป |
|
2. ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาบุตรของแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น |
● กระทรวงสาธารณสุขได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2562 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ซึ่งมีการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพให้แก่แรงงานต่างด้าว พร้อมผู้ติดตามทุกรายไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย |
|
3. ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรอุปกรณ์/เครื่องมือเฉพาะที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดให้เพียงพอ และพิจารณาเพิ่มอัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลของรัฐให้สอดคล้องกับจำนวนทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่รับไว้ดูแล |
● กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ และบุคลากรรวมถึงเครือข่ายระบบส่งต่อแล้ว พบว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนเตียงทารกแรกเกิดวิกฤตต่อเครื่องมือ/อุปกรณ์ต่างๆ มีความเพียงพอมากขึ้น ส่วนด้านอัตรากำลังของบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการดูแลทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลของรัฐยังขาดแคลน และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญทารกแรกเกิดยังมีจำนวนน้อย เนื่องจากปัญหาการฝึกอบรมใช้เวลานานกว่า 4 เดือน และต้องใช้ครูพยาบาลจำนวนมากจึงควรสนับสนุนทั้งในด้านการผลิตบุคลากรเพิ่ม และการให้ความก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขอยู่ ระหว่างวางแผนเพิ่มศักยภาพการฝึกอบรมทั้งกุมารแพทย์อยู่ระหว่างวางแผนเพิ่มศักยภาพการฝึกอบรมทั้งกุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและพยาบาลผู้เชี่ยวชาญทารกแรกเกิด |
|
4. ให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบูรณาการระบบการส่งต่อทารกที่คลอดก่อนกำหนดระหว่างโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนให้มีขีดความสามารถในการดูแลรักษาทารกกลุ่มนี้โดยเร็วและอาจพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ขยายระยะเวลาการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่อยู่ในภาวะวิกฤติให้ได้รับการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ |
1. กระทรวงสาธารณสุขได้สร้างระบบเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยทารกแรกเกิดไว้ทั้งในและนอกเขตสุขภาพแล้ว ส่วนการบูรณาการกับโรงพยาบาลเอกชนอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพร้อมที่จะเป็นศูนย์ประสานการส่งต่อ และจัดระบบการส่งต่อทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล พร้อมทั้งได้จัดเตรียมสถานพยาบาลที่สำรองเตียงสำหรับการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนดไว้แล้ว |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 มกราคม 2567
1020