ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT - GT)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 January 2024 20:30
- Hits: 1876
ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT - GT)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย หรือแผนงาน IMT - GT1 (Joint Statement of the 29th IMT - GT Ministerial Meeting) (การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT - GT)
2. เห็นชอบการมอบหมายภารกิจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยตามแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป และมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งข้อสังเกตของกระทรวงการคลังไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำแผนงาน MT - GT และคณะ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT - GT เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ณ เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียว สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ร่วมกับผู้แทนจากประเทศสมาชิก IMT - GT ผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลการหารือและผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT - GT
ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ร่วมฯ แผนงาน IMT - GT โดยมิได้มีการปรับปรุงสาระสำคัญเพิ่มเติมจากร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้ (26 กันยายน 2566) อย่างไรก็ดี มีการแก้ไขรายละเอียดบางประการของแถลงการณ์ร่วมฯ แผนงาน IMT - GT ดังนี้
1.1 ปรับแก้ถ้อยคำกล่าวแสดงความขอบคุณธนาคารพัฒนาเอเชียสำหรับความช่วยเหลือด้านเทคนิคและคำแนะนำในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อขยายเส้นทางการค้า ปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการเติบโตอย่างครอบคลุมในพื้นที่ชายแดน พร้อมทั้งขอบคุณความพยายามในการส่งเสริมการฟื้นฟูสีเขียวผ่านโครงการต่างๆ อาทิ เมืองอัจฉริยะและการขนส่งที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ขอให้ธนาคารพัฒนาเอเชียสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้แผนงาน IMT - GT อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการเร่งดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี 2565 - 2569
1.2 ปรับแก้ไขถ้อยคำกล่าวแสดงความขอบคุณสำนักเลขาธิการอาเซียนสำหรับการสนับสนุนการดำเนินงานของแผนงาน IMT - GT อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการต่างๆ ตามกรอบและความคิดริเริ่มของอาเซียนเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับภูมิภาค
2. ผลการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคีบหน้าการขับเคลื่อนความร่วมมือเเผนงาน IMT - GT ในช่วงที่ผ่านมาในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT - GT และการประชุมเวทีหารือระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ( Chief Ministers and Governors Forum: CMGF) ครั้งที่ 20 แผนงาน IMT - GT โดยมีผลการหารือและข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม สรุปได้ดังนี้
ประเด็นสำคัญ |
รายละเอียด |
|
ภาพรวม |
● แสดงความมุ่งมั่นในการกำหนดทิศทางความร่วมมือเพื่อสนับสนุนหลักการความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เศรษฐกิจดิจิทัล และการสร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อบรรสุวิสัยทัศน์ พ.ศ. 2579 ของแผนงาน IMT - GT ● เน้นย้ำถึงความสำคัญของความคิดริเริ่มจากล่างขึ้นบน (Bottom-Up Initiatives) และโครงการที่มุ่งพัฒนาในทุกมิติ (Cross-Cutting Projects) โดยสนับสนุนการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ การขยายโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และโครงการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค IMT - GT |
|
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในมิติต่างๆ |
● เร่งรัดการศึกษา พัฒนา บูรณาการความร่วมมือระหว่างระเบียงเศรษฐกิจและเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการเติบโตที่ยืดหยุ่น ยั่งยืน และครอบคลุม ผ่านการวิเคราะห์ประเด็นและกลยุทธ์ที่สำคัญ พร้อมทั้งระบุแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง ● เสริมสภาพคล่องและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการผลิตสินค้าและการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าสินค้าภายในอนุภูมิภาค ● พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน โดยเน้นย้ำความสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code ● การแสวงหาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจโดยตระหนักถึงความจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างฟื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์อย่างครอบคลุมในระดับรัฐและจังหวัด พร้อมทั้งได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือในโครงการริเริ่มเศรษฐกิจสีน้ำงินและโครงการเกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจภายในอนุภูมิภาค IMT- GT |
|
ความร่วมมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม |
● สนับสนุนให้แผนงาน IMT - GT สำรวจความร่วมมือเพิ่มเติมในโครงการริเริ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสีน้ำเงิน2 เสรษฐกิจสีเขียว3 และเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อาทิ ยุทธศาสตร์ความเป็นกลางคาร์บอนของอาเซียน (ASEAN Carbon Neutrality Strategy) ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีน้ำเงินของอาเซียน (ASEAN Blue Economy Strategy) และข้อตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ● สนับสนุนการดำเนินงานในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน ซึ่งประเทศสมาชิกควรร่วมกันกำหนดแนวนโยบายระดับอนุภูมิภาคให้ชัดเจนและสอดคล้องกับข้อตกลงและมาตรฐานสากล ● พิจารณาการใช้พันธบัตรสีเขียวและพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในโครงการสีเขียวและโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ● โครงการริเริ่มด้านการขนส่งสีเขียว อาทิ การพัฒนาเรือหางยาวไฟฟ้าในจังหวัดกระบี่ของประเทศไทยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ● ส่งเสริมให้ CMGF ดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการเมืองสีเขียวและแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ หุ้นส่วนการพัฒนา และสถาบันการศึกษา เพื่อที่จะขยายเครือข่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อนำการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและในประเทศสู่อนุภูมิภาค IMT - GT ● ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ซึ่งควรครอบคลุมการประเมินทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทุกมิติ การจัดทำร่างแผนพื้นที่ทางทะเลของอนุภูมิภาคซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้พื้นที่ทางทะเลในรูปแบบต่างๆ อย่างยั่งยืน การปรับข้อบังคับระดับชาติทางทะเลให้สอดคล้องกัน ตลอดจนการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยอำนวยความสะดวกของการเชื่อมโยงและการเข้าถึงทรัพยากรทางทะเล |
|
การส่งเสริมประสิทธิภาพของรัฐบาลท้องถิ่น (Local governments) |
● ส่งเสริมการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารในระดับท้องถิ่นและตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น ● เพิ่มการมีส่วนร่วมเชิงรุกกับผู้มีส่วนได้เสีย ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหุ้นส่วนการพัฒนาอื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในท้องถิ่น ● เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นในความร่วมมือระดับภูมิภาคและการสร้างผลประโยชน์ให้กับชุมชน โดยสนับสนุนให้รัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการและการบูรณาการของภูมิภาคอาเซียน อาทิ โครงการริเริ่มการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Sustainable Urbanisation Initiatives) และโครงการริเริ่มการลงทุนเมืองอัจฉริยะของอาเซียน (ASEAN Smart Cities Investment Initiatives) |
|
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาค |
● เร่งรัดการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งและด่านพรมแดน โดยเฉพาะโครงการพัฒนาถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดา - บูกิตกะยูฮิตัม ● พื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคภายหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด - 19 โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานร่วมกับโครงการปีแห่งการท่องเที่ยว IMT - GT พ.ศ. 2566 - 2568 |
|
ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง |
● กระชับความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนหารพัฒนา ● มุ่งพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน |
3. แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงาน IMT - GT โดยมีตัวอย่างแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปตามประเด็นๆ ได้ ดังนี้
ประเด็น |
แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป อาทิ |
หน่วยงานดำเนินงาน อาทิ |
||
การฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว |
- ดำเนินกิจกรรมสำคัญภายใต้แคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT - GT พ.ศ. 2566 - 2568 ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันของทั้ง 3 ประเทศ ร่วมกับภาคีการพัฒนา เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยว ภายในอนุภูมิภาคภายหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 - เร่งสร้างรายได้การท่องเที่ยวใน IMT - GT โดยดำเนินโครงการส่งเสริมการตลาดร่วม และการเสริมสร้าง ความชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ยุทธศาสตร์ในอนุภูมิภาคต่อไป |
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) - กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) - กระทรวงคมนาคม (คค.) - กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) |
||
การผลักดันความร่วมมือของประเทศสมาชิก IMT - GT ในสาขาต่างๆ |
- เร่งผลักดันการเชื่อมโยงด้านการขนส่งภายในอนุภูมิภาค อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก - ลก - รันเตาปันยัง) - สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อาทิ อุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และฮาลาลเพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน - เร่งรัดการร่วมลงนามในกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิก IMT - GT ด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมืองและการกักกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคลตามแผนงาน IMT - GT - ผลักดันการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านทาง QR Code ให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อยในระดับท้องถิ่นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการชำระเงินเพื่อการซื้อขายสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยว |
- กระทรวงการคลัง (กค.) - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - คค. - กระทรวงพาณิชย์ - กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) - กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) - กระทรวงมหาดไทย (มท.) - สศช. |
||
การประชุมครั้งต่อไป |
สหพันธรัฐมาเลเซียมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 30 แผนงาน IMT - GT และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ รัฐยะโฮร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย ในช่วงเดือนกันยายน 2567 |
|
____________________
1 Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle
2 เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) คือ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน เป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
3 เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 มกราคม 2567
1012