ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 December 2023 01:56
- Hits: 3213
ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้ รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานอัยการสูงสุดไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
1. ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวง (กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เกินปริมาณที่กำหนดไว้ตามมาตรา 8 (5) พ.ศ. 2551 กฎกระทรวงการอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่ง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. 2563 กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. 2561 และกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2560) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 แต่โดยที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 แล้ว และให้บรรดากฎกระทรวงยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวงมาใช้บังคับ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เช่น มอร์ฟีน โคคาอีน ฝิ่นยา และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เช่น คีตามีน (ยาในกลุ่มยาสลบ) ซูโดอีเฟดรีน (ยาในกลุ่มยาแก้คัดจมูก) ประเภท 3 เช่น อะโมบาร์บิทาล (ยาในกลุ่มยานอนหลับ) เพนตาโซซีน (ยาในกลุ่มยาแก้ปวด) หรือประเภท 4 เช่น ไดอะซีแพม (ยาในกลุ่มยานอนหลับ) ลอราซีแพม (ยาในกลุ่มยาช่วยคลายกังวล) โดยในการขออนุญาตให้มีไว้ในครอบครองตามร่างกฎกระทรวงได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 (มีลักษณะเป็นตำรับยา) เพื่อการบำบัดรักษาหรือป้องกันโรคให้แก่ผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยในทางการแพทย์ เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรม เพื่อใช้ประจำในการปฐมพยาบาลหรือกรณีเกิด เหตุฉุกเฉินในเรือหรือเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร และเพื่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้น ผู้ขออนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 จึงมีทั้งหน่วยงานของรัฐ สภากาชาดไทย สถานพยาบาลและภาคเอกชนที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์ มีโครงการศึกษาวิจัย หรือการอุตสาหกรรม โดยร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ได้ปรับปรุงเนื้อหาจากกฎหมายปัจจุบัน เช่น กำหนดให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน โดยจะขยายระยะเวลาพิจารณาไม่ได้ (จากเดิมสามารถขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน) กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต โดยแยกคุณสมบัติออกตามวัตถุประสงค์ของการอนุญาตครอบครองเพื่อให้เกิดความชัดเจน กำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่สองนับจากปีที่ได้รับอนุญาต (จากเดิมกำหนดให้มีอายุถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ได้รับอนุญาต) เป็นต้น เพื่อให้การขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลและป้องกันการนำยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดได้เห็นชอบด้วยแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการ
2. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการออกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีผลใช้บังคับ (เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564) ภายหลังพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมาย ยาเสพติด ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 ธันวาคม 2566
12858