ผลการสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2567 (ของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 December 2023 01:13
- Hits: 2560
ผลการสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2567 (ของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล)
คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากผลการสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2567 (ของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล) (ผลการสำรวจฯ) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ดศ. โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้ดำเนินการสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2567 เกี่ยวกับของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล เพื่อสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนที่จะให้รัฐบาลดำเนินการ และข้อเสนอแนะของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลเพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข สามารถนำไปใช้วางแผนและกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ วิธีดำเนินการสำรวจความต้องการของประชาชน มีรายละเอียด ดังนี้
หัวข้อ |
วิธีดำเนินการ |
กลุ่มเป้าหมาย |
ประชาชนทั่วไป อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ครัวเรือนละ 1 ราย |
จำนวนตัวอย่าง |
6,970 ราย |
วิธีการเก็บข้อมูล |
(1) Stratified Three-stage Sampling1 (2) สัมภาษณ์ |
พื้นที่สำรวจ |
ทั่วประเทศ |
ระยะเวลาที่สำรวจ |
3 - 8 พฤศจิกายน 2566 |
2. ผลการสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2567 (ของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล) สามารถสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
ร้อยละ |
(1) เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในปี พ.ศ. 2567 5 อันดับแรก |
|
(1.1) ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค |
84.1 |
(1.2) ลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา |
64.0 |
(1.3) แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ |
39.8 |
(1.4) แก้ไขปัญหาน้ำมัน/แก๊สราคาแพง |
37.5 |
(1.5) เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ/เงินเดือน |
36.5 |
(2) ความพึงพอใจของประชาชนต่อผลงานของรัฐบาลภายหลังบริหารงานครบ 1 เดือน 5 อันดับแรก |
|
(2.1) การช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล |
61.0 |
(2.2) ลดค่าไฟฟ้า |
60.8 |
(2.3) ลดค่าน้ำมัน |
55.6 |
(2.4) การพักหนี้เกษตรกร 3 ปี |
52.6 |
(2.5) ลดราคาสินค้าอุปโภค - บริโภค |
52.1 |
(3) ระดับความเชื่อมั่นของประชาชนในการบริหารงานของรัฐบาล |
|
(3.1) มากที่สุด |
11.5 |
(3.2) มาก |
43.9 |
(3.3) ปานกลาง |
35.4 |
(3.4) น้อย |
7.2 |
(3.5) น้อยสุด |
1.4 |
(3.6) ไม่เชื่อมั่น |
0.6 |
3. จากผลการสำรวจข้างต้น สสช. จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้จากผลการสำรวจข้างต้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
3.1 ควรเพิ่มมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำและเร่งรัดการใช้จ่าย/การลงทุนในหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
3.2 ควรขยายระยะเวลา/จัดทำโครงการ/มาตรการที่ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน แก๊สที่มีราคาแพง และจำหน่ายสินค้าอุปโภค - บริโภคราคาถูก (ธงฟ้า) เป็นต้น
3.3 ควรเร่งรัดการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาปุ๋ย/สารเคมี/ยาฆ่าแมลงมีราคาแพง และจัดหาตลาดรองรับผลผลิต เป็นต้น
3.4 ควรผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อสร้างความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนในทุกพื้นที่ เช่น การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด และการนำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดอย่างทันท่วงที เป็นต้น
3.5 ควรเพิ่มช่องทาง/บริการในระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและ เท่าเทียม ครอบคลุมทุกพื้นที่ เช่น การใช้บัตรประชาชน 1 ใบรักษาได้ทุกพื้นที่ ทุกโรงพยาบาล เป็นต้น
4. ดศ. (สสช.) เห็นว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว (ตามข้อ 2.) ทำให้ภาครัฐได้รับประโยชน์ ดังนี้
4.1 สามารถประเมินความคิดเห็น ความพึงพอใจของประชาชนต่อผลงานของรัฐบาลหลังบริหารงานครบ 1 เดือน และความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาล
4.2 เพื่อเป็นข้อมูลให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวางแผนกำหนดนโยบาย ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน
____________________
1 วิธีการสุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ นิยมใช้เพื่อสำรวจกลุ่มตัวอย่างประเภทครัวเรือน เนื่องจากช่วยลดขั้นตอนและบริหารจัดการได้ง่าย มีวิธีการกำหนดพื้นที่เป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ออกเป็นพื้นที่ย่อยๆ จำนวน 3 กรอบ คือ 1) กรอบพื้นที่ เช่น ภาค จังหวัด เขตการปกครอง ฯลฯ 2) กรอบครัวเรือน 3) กรอบรายชื่อสมาชิกในครัวเรือน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 ธันวาคม 2566
12847